xs
xsm
sm
md
lg

ยธ.แจงผู้พักโทษติดกำไล EM ครบ 3 หมื่นเครื่อง เล็งลดค่าใช้จ่ายอุปกรณ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - “สมศักดิ์” เผย มีบริษัทจ้างงานผู้พักโทษติดกำไล EM เพราะมั่นใจระบบ-ฝีมือดี ช่วยรัฐประหยัดงบ ลุยจัดระเบียบควบคุมการใช้ให้มีประสิทธิภาพ

วันนี้ (1 มี.ค.) ที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยธ. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคุมประพฤติ ครั้งที่ 1/2564 โดยมี นายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต อธิบดีกรมคุมประพฤติ ทำหน้าที่กรรมการและเลขานุการ พร้อมด้วย ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการ รมว.ยธ., นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ผู้ช่วย รมว.ยธ., นายวิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ ปลัด ยธ. และผู้บริหารของหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วม

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ในที่ประชุมได้อนุมัติในหลักการให้แต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการบริหารจัดการการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM)” ขึ้น เพื่อบริหารจัดการใช้อุปกรณ์ EM ซึ่งเป็นมาตรการทางเลือกแทนการลงโทษจำคุก เพื่อขับเคลื่อนนโยบายการลดความแออัดในเรือนจำ และสร้างความปลอดภัยให้กับสังคม และได้เปิดศูนย์ควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EMCC) เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 63 โดยกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ถูกคุมความประพฤติ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56, ผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ ตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2545, ผู้ถูกคุมความประพฤติที่เป็นผู้ได้รับการพักการลงโทษหรือลดวันต้องโทษจำคุก ซึ่งที่ผ่านมา กรมคุมประพฤติได้ดำเนินการติดอุปกรณ์ EM แล้วจำนวนทั้งสิ้น 31,000 ราย

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า สาระสำคัญอื่นๆ ในการประชุมครั้งนี้มีการอนุมัติในหลักการให้แก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.คุมประพฤติ พ.ศ. 2559 ใน 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ การกำหนดบทบาท อำนาจหน้าที่ของพนักงานคุมประพฤติในการติด EM เช่น ให้พนักงานคุมประพฤติมีอำนาจในการแก้ไขเปลี่ยนแปลง และมีอำนาจในการยกเลิกหรือผ่อนปรน เงื่อนไขในการติด EM หรือกรณีปรากฏว่าผู้กระทำผิดมีปัญหาสุขภาพ หรือมีเหตุฉุกเฉิน ให้พนักงานคุมประพฤติมีอำนาจยกเลิกการใช้อุปกรณ์ EM และกำหนดเงื่อนไขการคุมความประพฤติอื่นที่เหมาะสมแทนได้ และเรื่องที่สอง การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในการใช้อุปกรณ์ EM กับผู้กระทำผิดที่ควรมีการนำอุปกรณ์ EM มาใช้ทั้งในบริบทของการสงเคราะห์ผู้กระทำผิด ซึ่งอาจดำเนินการในรูปแบบของกองทุน และในบริบทของการให้ผู้กระทำผิดที่มีความสามารถในการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้เสียค่าใช้จ่ายเอง อันจะนำไปสู่การนำอุปกรณ์ EM อย่างเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ และลดภาระด้านงบประมาณของประเทศ

“สิ่งที่ผมอยากเรียนให้ทุกท่านได้รับทราบ วันนี้มีบริษัทห้างร้านที่ต้องการแรงงานจากเรา ซึ่งตอนนี้มีบริษัทที่ได้จ้างแรงงานแล้ว เช่น บริษัท แก๊สพนมสารคาม จ้างแรงงานแล้ว 1 ราย โรงงานซอสพริกศรีราชา จ้าง 50 ราย ให้รายได้วันละ 315 บาท คิดเป็นค่าแรงต่อเดือน 472,500 บาท นี่คือความสนใจของภาคเอกชน เดิมทีเขาไม่อยากจ้างเพราะขาดความไว้ใจ แต่เมื่อมีกำไล EM ก็มีการจ้างมีความมั่นใจมากขึ้น และผู้พักโทษมีการทำงานที่ดีจนได้รับคำชม วันนี้กำไล EM ครบ 3 หมื่นชุดแล้ว และต้องคิดว่าวันหน้าหากต้องมีการติดเพิ่มจะทำอย่างไร รวมถึงเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ด้วย ทั้งนี้ เรายังไม่คิดซื้อเพิ่ม ยังไม่คิดของบประมาณ แต่อยากทำกฎหมายและระเบียบวิธีการใช้ให้ครบถ้วนก่อน” นายสมศักดิ์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น