xs
xsm
sm
md
lg

ตร.ยานนาวา ฝากขัง 2 โจ๋ ปาก้อนหินใส่ตำรวจควบคุมฝูงชน หน้าสถานทูตเมียนมา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



ตร.ยานนาวา ฝากขัง 2 โจ๋ ขว้าง-ปาก้อนหินทำร้ายตำรวจควบคุมฝูงชน หลังรวมตัวประท้วงหม่องทำรัฐประหารหน้าสถานทูตเมียนมา

วันนี้ (2 ก.พ.) พนักงานสอบสวน สน.ยานนาวา ได้นำตัวนายปัณณพัทธ์ จันทนางกูล อายุ19 ปี และนายเกียรติศักดิ์ พันธ์เรณู อายุ 20 ปี ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมจากกรณีเกิดเหตุชุลมุนกลางถนนสาทร หลังกลุ่มการ์ดวีโว่ร่วมชุมนุมต้านการรัฐประหารในประเทศเมียนมา ที่หน้าสถานทูตเมียนมาในประเทศไทย จนมีตำรวจได้รับบาดเจ็บ 14 นาย มาฝากขังครั้งแรกต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ เป็นเวลา 12 วันตั้งแต่วันที่ 2-13 ก.พ. 2564 เนื่องจากยังต้องสอบพยานอีก 5 ปากและรอผลการตรวจสอบพิมพ์มือผู้ต้องหา โดยในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

คำร้องระบุพฤติการณ์ว่า เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา สืบเนื่องจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาได้เกิดเหตุการณ์รัฐประหาร ต่อมาเวลา 14.45 น.ของวันเดียวกัน ประชาชนชาวเมียนมาที่อยู่ในประเทศไทยเกิดความไม่พอใจจึงได้ออกมารวมตัวกันที่หน้าสถานทูตเมียนมาประจำประเทศไทย ถนนสาทรเหนือ แขวงสีลม เขตบางรัก กทม. เพื่อต่อต้านการรัฐประหาร ต่อมาได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 50-60 คนได้มาชุมนุมเรียกร้องและต่อต้านการรัฐประหารในเมียนมา ทำการปราศรัยอยู่ที่บริเวณหน้าสถานทูตเมียนมา เจ้าหน้าที่จึงต้องเข้าไปทำการดูแลความเรียบร้อยในพื้นที่ชุมนุมและบริเวณใกล้เคียง ต่อมา ผกก.สน.ยานนาวาได้ประกาศแจ้งเตือนให้นายวิชพรรษ ศรีกสิพันธ์ุ ผู้ถูกจับที่ 1 (ส่งศาลแขวงกรุงเทพใต้) นายปัณณพัทธ์ และนายเกียรติศักดิ์ รวมทั้งกลุ่มผู้ชุมนุมคนอื่นให้เลิกตามเวลาที่กำหนด ปรากฏว่าผู้ห้องหากับกลุ่มผู้ชุมนุมฝ่าฝืนไม่ยอมเลิกการชุมนุมในเวลาที่กำหนด เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนจึงได้ทำการกระชับพื้นที่ผลักดันให้กลุ่มผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม กระทั่งเวลา 17.00 น. ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังกระชับพื้นที่กลุ่มผู้ชุมนุม นายปัณณพัทธ์ และนายเกียรติศักดิ์ ได้ร่วมกันขว้างปาก้อนอิฐ ก้อนหิน ประทัดลูกบอล ควันและพลุสีเข้าใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน

หลังจากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 30 คน รวมทั้งนายปัณณพัทธ์ และนายเกียรติศักดิ์ ยังได้เข้าร่วมใช้กำลังกับตำรวจที่ทำการปฏิบัติหน้าที่ด้วยการขว้างปาขวดน้ำ กรวยยาง หิน ก้อนอิฐใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน และยังใช้ท่อนเหล็กทุบตีแผงโล่ควบคุมฝูงชนจนได้รับความเสียหาย นอกจากนั้น มีการใช้ท่อนเหล็ก ติ้ว ตีและใช้แผงเหล็กทุ่มใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนได้รับบาดเจ็บแก่กายจำนวน 14 นาย จึงทำการจับกุมผู้ต้องหาที่ 1-3 และนำตัวส่งพนักงานสอบสวน สน.ยานนาวาให้ดำเนินคดี โดยพนักงานสอบสวนได้แยกนายวิชพรรษ ศรีกสิพันธ์ุ ไปที่ศาลแขวงฯ

โดยกล่าวหาว่า “มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายในบ้านเมืองโดยผู้กระทำผิดคนใดคนหนึ่งมีอาวุธ, ร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายโดยมีหรือใช้อาวุธหรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป, ร่วมกันทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ, ร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 (2)

ท้ายคำร้องพนักงานสอบสวนระบุว่า หากมีการยื่นคำร้องขอประกันตัวผู้ต้องหาพนักงานสอบสวนขอค้านการประกันเนื่องจากผู้ต้องหามีที่อยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง หากให้ประกันตัวเชื่อว่าผู้ต้องหาน่าจะหลบหนี

ศาลได้พิจารณาคำร้องและสอบถามผู้ต้องหาไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้ฝากขังได้

กระทั่งเวลา 15.20 น. ทนายได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ขอปล่อยชั่วคราว ศาลได้พิจารณาแล้วอนุญาตปล่อยชั่วคราวระหว่างรอดำเนินคดี โดยตีราคาประกัน คนละ 50,000 บาท

วันเดียวกัน ที่ศาลอาญาแขวงพระนครใต้พนักงานสอบสวน สน.ยานนาวา ได้นำตัว นายวิชพรรษ ศรีกสิพันธุ์ อายุ 20 ปี ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุม จากกรณีเกิดเหตุชุลมุนกลางถนนสาทร หลังกลุ่มการ์ดวีโว่ร่วมชุมนุมต้านการรัฐประหารในประเทศเมียนมาร์ ที่หน้าสถานทูตเมียนมาร์ในประเทศไทย จนมีตำรวจได้รับบาดเจ็บ 14 นาย มาผัดฟ้องฝากขังครั้งแรก เนื่องจากต้องสอบพยานอีก 5 ปาก

โดยกล่าวหาว่า“ ร่วมกันฝ่าฝืนพ. ร. ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9(2) โดยร่วมกันชุมนุมทำกิจกรรมหรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย, ร่วมกันกระทำการหรือดำเนินการใด ๆ ซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคแพร่ระบาดออกไปฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ”

ในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

ศาลได้พิจารณาคำร้องและสอบถามผู้ต้องหาไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้ผัดฟ้อง ฝากขังได้

ต่อมาญาติหรือทนายของผู้ต้องหามายื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ศาลจึงอนุญาตให้ใช้วิธีสาบานตน ก่อนปล่อยตัวออกไป โดยไม่ต้องเงินหรือใช้ตำแหน่งใดๆประกัน.
กำลังโหลดความคิดเห็น