MGR Online - กองปราบปรามเตรียมขยายผลเอาผิดเครือข่ายทุจริตโครงการ“เราเที่ยวด้วยกัน” ต่อเนื่อง เผยยังมีโรงแรม-ร้านค้ากระทำผิดอีกร่วมพันแห่ง
วันนี้ (28 ม.ค.) ที่กองปราบปราม พ.ต.อ.เอนก เตาสุภาพ รอง ผบก.ป. กล่าวถึงความคืบปฏิบัติการกวาดล้างขบวนการทุจริตโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ว่า หลังจากนี้ทางตำรวจจะยังคงดำเนินการตรวจสอบขยายผลต่อไป เนื่องจากยังมีผู้กระทำผิดอีกจำนวนมากและกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ แบ่งเป็นผู้ประกอบการโรงแรมกว่า 400 แห่ง และร้านอาหาร ร้านค้ากว่า 400 แห่ง รวมทั้งประชาชนผู้ใช้สิทธิที่รู้เห็นเป็นใจซึ่งจำเป็นจะต้องดำเนินคดีทั้งหมด ทั้งนี้ สำหรับปฏิบัติการกวาดล้างเมื่อวานที่ผ่านมา นอกจากการจับกุมดำเนินคดีแล้วทางเจ้าหน้าที่ยังได้อายัดบัญชีธนาคารของผู้ประกอบการเหล่านี้ไว้อีกด้วย และเฉพาะ จ.ชัยภูมิ มีการอายัดบัญชีธนาคารไปแล้วกว่า 100 บัญชี ขณะที่ในส่วนการตรวจสอบพฤติการณ์ก่อเหตุของแต่ละรายนั้นไม่พบความเชื่อมโยงกัน ต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างใช้วิธีการของตนเองในการหาช่องว่างเพื่อแสวงหาผลประโยชน์
พ.ต.อ.เอนกกล่าวต่อว่า สำหรับการดำเนินคดีกับผู้ประกอบการเหล่านี้ เบื้องต้นทางพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกง, ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น, ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือประชาชน และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ ในประการที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศ” ทั้งนี้ ภายหลังเสร็จสิ้นขั้นตอนการสอบปากคำและแจ้งข้อกล่าวหาแล้วนั้น ผู้ต้องหาส่วนใหญ่ได้ทำเรื่องขอประกันตัวในชั้นสอบสวนโดยตีราคาประกันเป็นเงินสด 100,000 บาท กรณีหลักทรัพย์ต้องมีมูลค่า 200,000 บาท แต่ยังมีผู้ต้องหาอีก 17 คน ที่ยังคงถูกควบคุมตัวไว้ตั้งแต่เมื่อคืน เนื่องจากขั้นตอนการสอบปากคำยังไม่แล้วเสร็จ
ด้าน พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช รอง ผบช.ก. กล่าวว่า ขณะนี้มีการสั่งตั้งคณะทำงานระดับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) ดำเนินการตรวจสอบและมอบหมายภารกิจให้แต่ละส่วนไปปฎิบัติ เบื้องต้นจะมอบหมายให้โรงพักแต่ละท้องที่รับผิดชอบในการสอบปากคำและพิจารณาแจ้งข้อกล่าวหาประชาชนที่มีส่วนรู้เห็นในการทุจริตกว่า 9,000 ราย
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับพฤติกรรมการกระทำผิดของขบวนการทุจริตจะมีการซื้อบัตรประชาชนเพื่อไปสมัครรับสิทธิ์ประโยชน์ของโครงการ ไปใช้จองห้องพักโรงแรม เพื่อเพิ่มวันหรือจำนวนห้อง แต่ไม่มีการเข้าพักจริง หรือพักไม่ครบตามที่แจ้งไว้ โดยการใช้สิทธิ์ต่างๆ ไม่มีการตรวจสอบว่าได้ใช้สิทธิ์จริงหรือไม่ และยังมีวิธีการที่สามารถทำให้ผู้กระทำผิด ปรับจำนวนการจองห้องที่สูงเกินจริงได้โดยไม่มีการแจ้งเตือนไปยังหน่วยงานของรัฐทำให้เกิดความเสียหายเป็นมูลค่าสูง ทั้งนี้พบว่ากระทำผิดใน จ.ภูเก็ต เป็นการฮั้วกันระหว่างโรงแรมกับร้านค้าต่างๆ ที่ให้ลูกค้าไปเช็คอินตามร้านที่กำหนดแต่ไม่มีการใช้สิทธิ์จริงอีกด้วย อย่างไรก็ตามสำหรับเรื่องทางคดีต่อจากนี้ จะมีการเสนอให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) มาแจ้งความกับตำรวจกองปราบ เพื่อให้เป็นตัวกลางในการสอบปากคำและรวบรวมพยานหลักฐาน ก่อนส่งให้ตำรวจภูธรในแต่ละภาครับเรื่องไปทำคดีต่อไป