xs
xsm
sm
md
lg

อัยการสูงสุดเผยคดี “บอส-วรยุทธ” เป็นบทเรียนสำคัญของอัยการ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



อัยการสูงสุดเผยคดี “บอส-วรยุทธ” เป็นบทเรียนสำคัญของอัยการ ยันการร้องขอความเป็นธรรมมอบให้รองอัยการสูงสุดหรือผู้ตรวจพิจารณา เพื่อให้เกิดการถ่วงดุล ส่วนคดีการเมืองพิจารณาตามหลักฐานและข้อกฎหมาย

วันนี้ (5 พ.ย.) นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด ให้สัมภาษณ์ในงานสัมมนา “มิติใหม่อัยการแผ่นดิน” ถึงกรณีองค์กรอัยการเผชิญวิกฤตศรัทธาจากประชาชนในช่วงที่ผ่านมา เช่น คดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ว่าในกระแสที่ประชาชนคิดอะไรต่างๆ สำนักงานอัยการสูงสุดเราได้แถลงให้ทราบในหลายเรื่องใช้ข้อเท็จจริงที่อยู่ในสำนวนการสอบสวน ใช้กฎหมาย กฎระเบียบ สิ่งต่างๆ ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา สำนักงานอัยการสูงสุดแก้ไขปัญหาได้ดีระดับหนึ่งซึ่งจะเป็นบทเรียนของสำนักงานอัยการสูงสุดส่วนหนึ่ง เราอาจจะต้องปรับปรุงกฎระเบียบที่รองรับ เอื้อต่อการอำนวยความยุติธรรมมากขึ้น เราจะเห็นได้ว่าสุดท้ายเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏ เป็นการใช้ดุลพินิจสั่งสำนวนของอัยการท่านหนึ่งเท่านั้นเอง เป็นเรื่องปกติของสำนักงานอัยการสูงสุด และกระบวนการยุติธรรมไทยทั่วไป

นายวงศ์สกุลกล่าวว่า การร้องขอความเป็นธรรมมีมาหลายสิบปี ตั้งแต่มีระเบียบอัยการในปี 2528 ในสมัยนั้นต้องให้รองอธิบดีเป็นผู้ใช้อำนาจนี้ จนกระทั่งปี 2537 ดร.คณิต ณ นคร เข้ารับตำแหน่งอัยการสูงสุด เปลี่ยนระเบียบการร้องขอความเป็นธรรมให้เสนออัยการสูงสุดเป็นผู้สั่ง ใช้อำนาจระเบียบนี้อยู่พักใหญ่ กระทั่งเกิดคดี ส.ป.ก.4-01 ที่ จ.ภูเก็ต ดร.คณิตท่านสั่งไม่ฟ้อง เห็นว่าเป็นเรื่องนโยบายของรัฐ อย่างไรก็ดี การใช้อำนาจสั่งของอัยการสูงสุดจะไปตัดอำนาจของผู้กลั่นกรองตาม ป.วิอาญา มาตรา 145 ซึ่งไม่ต้องส่ง ผบ.ตร.ให้ความเห็นชอบ ก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากมาย ในที่สุด ดร.คณิตก็ออกคำสั่งยกเลิกการใช้ระเบียบของท่านเอง

จนกระทั่งสมัยนายสุชาติ ไตรประสิทธิ์ เป็นอัยการสูงสุด ก็มีการปรับเปลี่ยนระเบียบร้องขอความเป็นธรรมกลับมาใหม่ โดยให้รองอัยการสูงสุดที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้พิจารณา ถ้ารองอัยการสูงสุดมีความเห็นการสั่งคดีไปอย่างไร ก็ใช้มาตรา 145 ส่งให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) หรือผู้ว่าราชการจังหวัดให้ความเห็นชอบอีกครั้งหนึ่ง ถ้าผู้ว่าฯ หรือ ผบ.ตร.เห็นแย้ง อัยการสูงสุดจึงจะใช้อำนาจหน้าที่ไปชี้ขาดความเห็นอีกครั้ง ตามมาตรา 145 การร้องขอความเป็นธรรมเป็นประโยชน์ต่อประชาชน บางครั้งผู้รวบรวมพยานหลักฐานอาจรวบรวมไม่ครบถ้วน ผู้ต้องหา ผู้เสียหาย ประชาชนอาจมาร้องอัยการว่ามีพยานหลักฐานที่ต้องรวบรวมอีก

นายวงศ์สกุลกล่าวอีกว่า การร้องขอความเป็นธรรมมีขั้นตอนอยู่ ถ้ามีพยานหลักฐานเกี่ยวข้อง บางคดีเหตุเกิดเป็นสิบปีพยานหลักฐานเพิ่งปรากฏก็มี แต่ละเรื่องแต่ละคดีมีความแตกต่างกันไป ร้องขอความเป็นธรรมได้ตลอดเวลา อยู่ในเงื่อนไขว่าพยานหลักฐานฟังได้หรือไม่

เมื่อถามถึงการทำงานของสำนักงานอัยการสูงสุดหลังปรับโครงสร้าง คดีที่ยังมีข้อคลางแคลงใจต้องเรียกมาดูหรือไม่ นายวงศ์สกุลกล่าวว่า การทำงานของสำนักงานอัยการสูงสุดตลอด 1 ปี อัยการสูงสุดจะดูแลเฉพาะสำนวนคดี ที่อัยการสูงสุดต้องสั่งเอง เช่น ในคดีความผิดนอกราชอาณาจักร, พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต และชี้ขาดความขัดแย้ง ทั้ง 3 ประเภทนี้ อัยการสูงสุดต้องสั่งจำนวน 6,000-7,000 เรื่องในแต่ละปี ส่วนการร้องขอความเป็นธรรม อัยการสูงสุดสามารถมอบหมายให้รองอัยการสูงสุดหรือผู้ตรวจราชการที่รับผิดชอบเข้าไปช่วยดำเนินการดูแล ผู้ได้รับมอบหมายจะมีอำนาจสิทธิขาดดำเนินไปในส่วนนั้นๆ ตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมายอัยการ ส่วนคดีการเมือง หลักการทำงานของอัยการสูงสุดเราก็พิจารณาตามพยานหลักฐาน ภายใต้กฎหมายระเบียบที่เกี่ยวข้อง

“พนักงานอัยการทุกคนมีอิสระในการพิจารณาสำนวนคดีเป็นของตนเอง ไม่มีใครสามารถสั่งได้ คล้ายกับผู้พิพากษาของศาลยุติธรรม อัยการสูงสุดจะไปชี้นำสั่งอย่างไรไม่ได้เลย เป็นหลักประกันพนักงานอัยการทำงานภายใต้ดุลพินิจ อัยการสูงสุดจะเข้าไปควบคุมได้ต่อเมื่อมีเหตุ เช่น พนักงานอัยการสั่งสำนวนช้าจนผู้ต้องหาหรือผู้เสียหายร้องเข้ามา เราก็จะเข้าไปดูปฏิบัติตามระเบียบขั้นตอนหรือเปล่า แต่ดุลพินิจในการสั่งคดียังเป็นของเขาเหมือนเดิม” อัยการสูงสุดระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น