MGR Online - นายกฯ ถก ก.ตร.-ก.ต.ช.กำหนดตำแหน่งผู้ช่วย ผบ.ตร.รับโอน "ปรีชา เจริญสหายานนท์" กลับ ตร. ส่งเรื่อง "วิระชัย" ร้องทุกข์ถูกสำรองราชการไม่เป็นธรรม ให้ กก.วินิจฉัยทางปกครองชี้ขาด
วันนี้ (25 ก.ย.) เมื่อเวลา 14.00 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) จากนั้นเวลา 14.30 น. ได้เป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.)
พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.กล่าวภายหลังการประชุมว่า วาระสำคัญเป็นเรื่องการรับโอนพล.ต.ต.ปรีชา เจริญสหายานนท์ รองเลขาธิการ ปปง. ซึ่งมติของ ก.ตร.และ ก.ต.ช.รับกลับมาเป็นตำรวจ และมีการกำหนดตำแหน่งผู้ช่วย ผบ.ตร.รองรับ
ด้าน พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ในส่วนของ ก.ตร.ที่ประชุมได้รับทราบการกระทำผิดวินัย และการให้ออกราชการของข้าราชการตำรวจของอนุ ก.ตร.คณะต่างๆ โดยเห็นชอบให้มีการไล่ออกข้าราชการตำรวจที่ประพฤติผิดวินัยร้ายแรง จำนวน 38 นาย ปลดออก จำนวน 3 นาย และให้ออก จำนวน 7 นาย รวมทั้งหมด 48 นาย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการละทิ้งราชการและความผิดที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด
พล.ต.ท.ปิยะกล่าวต่อไปว่า ที่ประชุม ก.ตร.ได้มีการพิจารณาการกำหนดตำแหน่งผู้ช่วย ผบ.ตร.รับผิดชอบด้านการสืบสวนสอบสวนคดีทางเทคโนโลยี โดยมีเงื่อนไขเป็นตำแหน่งเฉพาะตัว และตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 54 วรรค 2 ระบุว่า การกำหนดตำแหน่งดังกล่าวจะต้องให้ก.ต.ช.เห็นชอบ ซึ่ง ก.ต.ช.มีมติเห็นชอบ จากนั้นจึงได้มีการพิจารณารับโอน พล.ต.ต.ปรีชา เจริญสหายานนท์ รองเลขาธิการ ปปง.ให้มาดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วย ผบ.ตร. และหาก พล.ต.ต.ปรีชาพ้นจากตำแหน่งดังกล่าว ตำแหน่งนี้จะต้องถูกยุบ
"กรณี พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา สำรองราชการ ตร. ได้ร้องทุกข์ในกรณีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรณีมีคำสั่งสำรองราชการ ซึ่งในที่ประชุม ก.ตร.ได้มีการอภิปรายเพื่อให้เกิดความรอบคอบชัดเจน และเพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้ร้องทุกข์ ก.ตร.จึงมีมติให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติทำเรื่องหารือไปยังคณะกรรมการวินิจฉัยทางการปกครอง เพื่อให้เกิดความรอบคอบชัดเจนในแนวทางการปฏิบัติ โดยจะมีการนำเสนอโดยเร็ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้รีบดำเนินการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย" โฆษก ตร.ระบุ
พล.ต.ท.ปิยะกล่าวว่า สำหรับกรณีการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับ รอง ผบก.ถึง สว.ประจำปี 2563 กรณีนี้ ก.ตร.ไม่ได้มีการพิจารณาเรื่องนี้ แต่อย่างไรก็ตามจะมีการดำเนินการไปตามกฎหมาย ซึ่งมีการระบุว่าจะต้องเสร็จสิ้นภายในเดือน พ.ย. คาดว่าเรื่องนี้ไม่มีปัญหาอะไร ส่วนอีกกรณีที่มีการพูดถึงในที่ประชุม คือ ความคืบหน้าของการปฏิรูปตำรวจ ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติชี้แจงว่ากรณีนี้ได้พ้นในขั้นตอนการดำเนินการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปแล้ว ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีไปแล้ว ขณะนี้เนื้อหาสาระของการปฏิรูปตำรวจจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภาต่อไป
"นายกรัฐมนตรีได้ย้ำว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากมีหลายประเด็นที่ผ่านคณะรัฐมนตรีไป ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดโครงสร้างรูปแบบการบริหาร โดยเน้นไปที่สถานีตำรวจ เส้นทางการเติบโตของงานสอบสวน เรื่องของการที่ต้องมีคณะกรรมการรับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องประชาชน คณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรม รวมถึงกรณีอีกหลายๆ อย่างที่จะเป็นประโยชน์ในการทำงานเพื่อพี่น้องประชาชน โดยให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเตรียมข้อมูลต่างๆ เพื่อเตรียมชี้แจงในกรณีที่จะมีการเสนอต่อรัฐสภาต่อไป ในที่ประชุมนายกรัฐมนตรียังย้ำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำชับติดตามผลการดำเนินงานต่างๆ คดีที่มีความสำคัญ หรือคดีที่อยู่ในความสนใจของพี่น้องประชาชน รวมถึงกรณีที่มีคณะกรรมการวินิจฉัยออกมา เมื่อมีประเด็นอะไรที่ต้องดำเนินการให้รีบดำเนินการโดยเร็ว และให้สร้างความรับรู้ไปยังพี่น้องประชาชน" พล.ต.ท.ปิยะกล่าว