xs
xsm
sm
md
lg

ศาลพิจารณาสำนวนคดี “ตู่” บุกบ้าน “ป๋าเปรม” แล้ว เจ้าตัวขอให้อัยการตามตัวผู้ต้องหามาฟ้องให้ครบถ้วน!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


 นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช.
ศาลพิจารณาคดีบุกบ้านพัก “ป๋าเปรม” สำนวน “ตู่-จตุพร” กับผู้ชุมนุมอีก 1 รายแล้ว แต่เจ้าตัวขอเลื่อนให้อัยการนำตัวผู้ต้องหามาฟ้องให้ครบถ้วน ศาลจึงนัดฟังคำสั่ง 9 พ.ย.นี้


วันนี้ (21 ก.ย.) ที่ห้องพิจารณา 902 ศาลนัดพร้อมคดีชุมนุมปิดล้อมบ้านสี่เสาเทเวศร์ ที่พัก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี (สำนวนที่ 2) คดีหมายเลขดำที่ อ.2799/2557 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และนายศราวุธ หลงเส็ง ผู้ชุมนุม นปช. เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ และต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง, 215, 216

กรณีเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2550 แกนนำและแนวร่วม นปช. นำขบวนผู้ชุมนุมหลายพันคนจากเวทีปราศรัยเคลื่อนที่สนามหลวง ไปยังบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ของ พล.อ.เปรม เพื่อเรียกร้องกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง สำหรับสำนวนคดีที่ 2 นี้ อัยการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2557 ภายหลังจากนายจตุพรซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย พ้นสมัยประชุมสภา โดยก่อนหน้านี้คดีสำนวนแรก หมายเลขดำที่ อ.3531/2552 พนักงานอัยการได้ฟ้องแกนนำ นปช.และผู้ชุมนุมรวม 7 ราย ศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้จำคุกนายนพรุจ หรือนพรุฒ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006, นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช., นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช., นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท และ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. คนละ 2 ปี 8 เดือน ไม่รอลงอาญา

วันนี้ นายจตุพร และนายศราวุธ จำเลยที่ 1-2 เดินทางมาศาลพร้อมทนายความ เมื่อถึงเวลานัด นายจตุพร จำเลยที่ 1 ได้แถลงต่อศาล ขอให้พนักงานอัยการนำตัวผู้ต้องหาอื่นที่มีคำสั่งฟ้องไว้แล้วมาส่งฟ้องต่อศาลด้วย สอบถามอัยการโจทก์แล้วไม่คัดค้าน ศาลจึงให้ทนายความจำเลยทำคำร้อง พร้อมเหตุผลยื่นเข้ามาภายใน 1 เดือน และเลื่อนไปนัดพร้อมเพื่อฟังคำสั่งในวันที่ 9 พ.ย.นี้ เวลา 09.30 น.

ภายหลังนายจตุพรเปิดเผยว่า คดีบุกบ้านพัก พล.อ.เปรม สำนวนคดีที่ 2 ต่อจากสำนวนคดีแรกที่พนักงานอัยการยื่นฟ้องนายวีระกานต์กับพวกรวม 7 คน ที่ศาลฎีกาพิพากษาถึงที่สุด ต่อมาอัยการฟ้องอีก 2 คน การแยกสำนวนไม่ควรเกิด จำเลยไม่ได้ขอให้แยกสำนวนมาตั้งแต่แรก และเมื่อแยกมา 2 สำนวนก็ฟ้องไม่ครบ ยังมีผู้ต้องหารายอื่นที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง เช่น นายจรัล ดิษฐาอภิชัย, นายจักรภพ เพ็ญแข (อดีตแกนนำ นปช.ซึ่งหลบหนีอยู่ต่างประเทศ) และคนอื่นที่ยังอยู่ในประเทศเพื่อให้พิจารณาคราวเดียว ไม่ต้องฟ้องเป็นสำนวนที่ 3 อีก เรื่องไม่รกศาล ตนจึงร้องขอศาลให้อัยการนำตัวผู้ต้องหาที่เหลือมาฟ้องอย่างครบถ้วน อัยการก็ต้องแสดงความพยายามในการติดตามจับกุมผู้ต้องหาเมื่อจะดำเนินคดีต่อผู้ต้องหา

นายจตุพรให้สัมภาษณ์ถึงการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมวันที่ 19-20 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น หนทางอีกยาวไกล สำหรับคนที่ผ่านทางอย่างตนมองหลากหลายปรากฏการณ์ หลังจากนี้มีอีกหลายเรื่องราวให้คิดว่าคือการเดินทาง หนทางข้างหน้าจะเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม จะยากขึ้นตามลำดับ มองเพียงแค่ปรากฏการณ์เดียวไม่ได้ ในสมรภูมิการต่อสู้เพิ่งเริ่มต้น

“ผมพยายามนำเสนอความคิดว่ารัฐเองต้องไม่ใช้หลักนิติศาสตร์นำรัฐศาสตร์ เพราะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าการที่ฝ่ายรัฐได้ใช้กลไกตำรวจขออนุมัติหมายเรียก หมายจับ แล้วก็ทยอยจับทีละคนสองคน ในกระแส 1 เดือนก่อนการชุมนุม ถ้าถามว่าใครสร้างกระแสให้เกิดการชุมนุมเป็นจำนวนมาก ก็เพราะกลไกรัฐนั่นเอง เห็นได้อย่างชัดเจนว่าการใช้มาตรการทางกฎหมายไม่สามารถแก้ไขปัญหาใดๆ ได้ ควรเอาหลักรัฐศาสตร์นำหลักข้อกฎหมาย” นายจตุพรกล่าว

นายจตุพรกล่าวว่า ส่วนสังคมจะต้องตระหนัก พูดคุยแสดงความคิดเห็นแตกต่างกันได้ แต่ต้องไม่พัฒนาสู่การแตกแยกใหม่อีกครั้ง ทั้งสองฝ่ายต้องทนเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันได้ ตนก็ได้แสดงจุดยืนเห็นด้วย 3 ข้อเรียกร้อง ที่เหลือยังเห็นต่าง ไม่ว่าจะเห็นด้วย-เห็นต่าง ทุกคนต้องได้รับการคุ้มครองให้มีชีวิตอย่างปลอดภัย เราต้องเคารพสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ยืนยันว่ารัฐควรใช้หลักเมตตาธรรมมากกว่าใช้ข้อกฎหมายดำเนินการ กฎหมายอย่างเดียวแก้ไขปัญหาไม่ได้ และพิสูจน์มาแล้วในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา

ผู้สื่อข่าวถามถึงความเห็นต่อกรณีแกนนำผู้ชุมนุมการปักหมุดคณะราษฎร 2563 ที่สนามหลวง ซึ่งถูกถอนในเวลาต่อมา นายจตุพรกล่าวว่า คนที่เอาหมุดไปติดย่อมรู้ว่าอย่างไรก็ต้องถูกดึงออก เพียงแค่นั่งลุ้นว่าจะครบหนึ่งวันหรือไม่ ถ้าใครคิดว่าหมุดจะอยู่ตลอดคงไม่มีใครกล้าคิดอย่างนั้น มันเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ กรมศิลปากร ก็แสดงตนแล้วว่าเขาเป็นคนเอาออก ไม่ต้องไปควานหา

นายจตุพรกล่าวถึงการป้องกันความรุนแรงว่า ทั้งสองฝ่ายต้องช่วยกัน นักศึกษา ประชาชน ต้องยึดแนวทางสันติวิธี รัฐต้องดูแลรักษาความปลอดภัยป้องกันโรคแทรก ต้องอำนวยความสะดวกทุกอย่างไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่ง รักษาบรรยากาศ การชุมนุมเป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย ถ้าคิดจัดการกับอีกฝ่ายก็กระทบกระทั่งเรื่องลุกลาม จบอีกแบบหนึ่ง หลักคิดการชุมนุมทุกคนต้องได้รับการคุ้มครองในชีวิตและทรัพย์สิน ในการใช้สิทธิเสรีภาพ ไม่ควรมีคนมาตายเพราะเรียกร้องประชาธิปไตยอีก แต่ละฝ่ายต้องไปทบทวน ต้องยอมรับว่าเมื่อตัดสินใจมาสู้แล้ว ชีวิตจะไม่เหมือนเดิมอีกเลย เป็นสัจธรรม หลังจากการชุมนุม อยู่ศาล อยู่เรือนจำ แต่คนตัดสินใจสู้ไม่มีความกลัวใดๆ อยู่แล้ว การตัดสินใจใดๆ ก็ตามต้องยึดหลักมีเหตุผล ได้ประโยชน์ รู้ประมาณ ถ้ายึดกันได้ การชุมนุมโดยสันติวิธีก็บังเกิดได้ เนื้อหาก็พิจารณาว่าอะไรควรไม่ควร

เมื่อถามถึงข้อเสนอเกี่ยวกับการยุบสภา นายจตุพรกล่าวว่า การยุบสภาก็เป็นทางเลือกหนึ่ง บ้านเมืองมีปัญหาก็เอาอำนาจกลับไปให้ประชาชน เพียงนายกรัฐมนตรีแสดงเจตนาว่า ส.ว.ต้องทำตามเจตนารมณ์ของประชาชน ส.ส.เลือกใครเป็นนายกฯ ส.ว.ต้องโหวตตาม เราก็ไม่ต้องวิตก ม.272 กันอีก ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจพังพินาศแล้ว ต้องคิดแล้วประเทศจะอยู่อย่างไรต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น