xs
xsm
sm
md
lg

เปิดร่างหลักเกณฑ์สอบวินัยรอง อสส.สั่งคดี “บอส วรยุทธ” เกิดความเคลือบแคลง รอประกาศราชกิจจาฯ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



เปิดร่างหลักเกณฑ์สอบวินัยรองอัยการสูงสุด “เนตร นาคสุข” สั่งคดีบอส-วรยุทธเกิดความเคลือบแคลง รอประกาศราชกิจจานุเบกษา

วันนี้ (25 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการประชุมคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2563 ซึ่งได้เห็นชอบร่างระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการทางวินัยและสั่งลงโทษทางวินัยสำหรับรองอัยการสูงสุด กรณีการสั่งคดีของนายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด อันอาจทำให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัย ซึ่งการสั่งสำนวนของพนักงานอัยการจะขาดความระมัดระวังหรือไม่ อย่างไร อันเป็นเหตุสงสัยว่ากระทำความผิดทางวินัยได้นั้น อยู่ระหว่างรอประกาศราชกิจจานุเบกษา ปรากฏรายละเอียดดังนี้

ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบคณะกรรมการอัยการว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการทางวินัยและสั่งลงโทษทางวินัยสำหรับรองอัยการสูงสุด พ.ศ. ...”

ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 3 ในระเบียบนี้ “ก.อ.” หมายความว่า คณะกรรมการอัยการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ

ข้อ 4 เมื่อมีผู้เสนอเรื่องต่อ ก.อ. กล่าวหารองอัยการสูงสุดว่ากระทำผิดวินัย ให้ ก.อ. พิจารณาดำเนินการสอบสวนชั้นต้นเพื่อให้ได้ความจริงและเป็นธรรมโดยมิชักช้า

การกล่าวหาดังต่อไปนี้ ก.อ. อาจไม่ดำเนินการสอบสวนก็ได้

(1) การกล่าวหาเป็นบัตรสนเท่ห์ซึ่งไม่มีพยานหลักฐานแวดล้อมปรากฏชัดแจ้งตลอดจนไม่ชี้พยานบุคคลแน่นอนพอที่จะสอบสวนได้
(2) การกล่าวหาไม่มีข้อมูล หรือไม่มีสาระเพียงพอให้สอบสวนหาความจริงได้
(3) การกล่าวหาเรื่องการใช้ดุลพินิจในการสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่

ข้อ 5 ในกรณีที่ ก.อ. พิจารณาเห็นว่าการกล่าวหานั้นเป็นกรณีที่จะดำเนินการสอบสวนได้ ก.อ. อาจมอบหมายให้กรรมการอัยการคนหนึ่งคนใด หรือข้าราชการอัยการซึ่งมีอาวุโสไม่ต่ำกว่าผู้ถูกกล่าวหาหรือแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนชั้นต้นตามที่เห็นสมควร โดยประธานกรรมการต้องเป็นกรรมการอัยการหรือข้าราชการอัยการซึ่งมีอาวุโสไม่ต่ำกว่าผู้ถูกกล่าวหา เว้นแต่มีความจำเป็นจะแต่งตั้งกรรมการจากข้าราชการอัยการซึ่งมีอาวุโสต่ำกว่าผู้ถูกกล่าวหาก็ได้ เป็นผู้ดำเนินการสอบสวนขั้นต้นแทน และให้กรรมการคนหนึ่งเป็นเลขานุการ

การสอบสวนชั้นต้นให้ดำเนินการตามระเบียบคณะกรรมการอัยการว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนชั้นต้นกรณีข้าราชการอัยการถูกกล่าวหาหรือเป็นที่สงสัยว่ากระทำผิดวินัย และการรายงานผลการสอบสวนชั้นต้นที่ปรากฏว่ามีมูลเป็นกรณีกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง โดยอนุโลม

เมื่อ ก.อ. ได้รับรายงานผลการสอบสวนชั้นต้นแล้วเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหามิได้กระทำผิดวินัยหรือการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาไม่เป็นความผิดวินัย หรือไม่มีมูล ให้มีมติยุติเรื่อง

ในกรณีที่ ก.อ. เห็นว่ากระทำผิดวินัยไม่ร้ายแรง ให้มีมติตามมาตรา 88 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 ต่อไป

ข้อ 6 ในกรณีที่ผลการสอบสวนชั้นต้นปรากฏว่ามีมูลเป็นกรณีกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้ ก.อ. แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนอย่างน้อยสามคน ซึ่งมิใช่คณะกรรมการสอบสวนในข้อ 5 เพื่อทำการสอบสวน โดยคณะกรรมการสอบสวนต้องเป็นกรรมการอัยการหรือข้าราชการอัยการที่มีอาวุโสไม่ต่ำกว่าผู้ถูกกล่าวหา เว้นแต่มีความจำเป็นจะแต่งตั้งกรรมการจากข้าราชการอัยการซึ่งมีอาวุโสต่ำกว่าผู้ถูกกล่าวหาก็ได้ การสอบสวนให้ดำเนินการตามระเบียบคณะกรรมการอัยการว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงข้าราชการอัยการ โดยอนุโลม

ข้อ 7 ในกรณีที่ ก.อ. เห็นว่ารองอัยการสูงสุดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้มีมติลงโทษไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ แล้วแต่กรณี

ข้อ 8 ให้ ก.อ. มีอำนาจตีความและวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้

ข้อ 9 ให้ประธาน ก.อ. รักษาการตามระเบียบนี้

บรรดาระเบียบ ข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งอื่นใดซึ่งขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ ให้ใช้ระเบียบนี้แทน

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า นอกจากนี้ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 หมวด 2 การดำเนินการทางวินัยมาตรา 74 บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับมาตรา 82 เมื่อข้าราชการอัยการผู้ใดถูกกล่าวหาหรือมีกรณีเป็นที่สงสัยว่ากระทำผิดวินัย ผู้บังคับบัญชาต้องดำเนินการสอบสวนชั้นต้นโดยมิชักช้า

ผู้บังคับบัญชาระดับใดมีอำนาจดำเนินการสอบสวนชั้นต้นข้าราชการอัยการระดับใด รวมตลอดทั้งวิธีการสอบสวนชั้นต้น ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.อ.กำหนด"

ตามที่มีรายงานว่านายเนตร ได้ยื่นหนังสือลาออก ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ มาตรา 58 บัญญัติว่า "ข้าราชการอัยการผู้ใดประสงค์จะลาออกจากราชการให้ยื่นหนังสือขอลาออกต่อผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปชั้นหนึ่งเพื่อให้อัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณา เมื่ออัยการสูงสุดสั่งอนุญาตแล้วให้ถือว่าพ้นจากตำแหน่ง

ในกรณีที่ข้าราชการอัยการขอลาออกเพื่อดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเพื่อสมัครรับเลือกตั้ง หรือรับการเสนอชื่อเพื่อสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือเพื่อไปดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ให้การลาออกมีผลตั้งแต่วันที่ผู้นั้นขอลาออก

นอกจากกรณีตามวรรคสอง ถ้าอัยการสูงสุดเห็นว่าจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่ราชการจะยับยั้งการอนุญาตให้ลาออกไว้เป็นเวลาไม่เกินสามเดือนนับแต่วันขอลาออกก็ได้

ในกรณีที่อัยการสูงสุดประสงค์จะลาออกจากราชการให้ยื่นหนังสือลาออกต่อ ก.อ. เพื่อให้ ก.อ.เป็นผู้พิจารณา"


กำลังโหลดความคิดเห็น