xs
xsm
sm
md
lg

กก.สอบข้อเท็จจริง ชง ผบ.ตร.รื้อคดี “บอส กระทิงแดง” 2 ข้อหา ฟันวินัย-อาญา ม.157 พงส. “เพิ่มพูน ชิดชอบ” ไม่บกพร่อง

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วย ผบ.ตร.เป็นผู้แถลงข่าวชี้แจง
MGR Online - กก.สอบข้อเท็จจริงของ ตร.สรุปผลสอบเสนอ ผบ.ตร.รื้อคดีบอส กระทิงแดง 2 ข้อหา ขับรถโดยประมาท-เสพโคเคน ดำเนินการทางวินัย ฟันอาญามาตรา 157 พนักงานสอบสวนและผู้เกี่ยวข้อง 14 ราย ยัน เพิ่มพูน ชิดชอบ ไม่บกพร่องกรณีไม่เห็นแย้งอัยการ ไม่พบมีบิ๊ก ตร.สั่ง ธนสิทธิ กลับคำให้การเรื่องตรวจความเร็ว


วันนี้ (13 ส.ค.) เมื่อเวลา 11.00 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. พร้อมด้วย พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วย ผบ.ตร. พล.ต.ท.กฤษณะ ทรัพย์เดช จเรตำรวจ พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. และคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการทำสำนวนการสอบสวนคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ทายาทเครื่องดื่มชูกำลังกระทิงแดงในคดีขับรถชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิตเมื่อปี 2555 โดยใช้เวลาชี้แจงนานกว่า 1 ชั่วโมงจึงเสร็จสิ้น

พล.ต.อ.ศตวรรษกล่าวว่า วันนี้ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการเสร็จสิ้นแล้ว โดย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.ได้สั่งเพิ่มเติม 3 ประเด็น คือ มีคำสั่งให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ว่าการไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการเป็นการกระทำที่ชอบหรือไม่ 2. ให้ตั้งชุดพนักงานสอบสวนทำคดีนี้ใหม่ โดยใช้พยานหลักฐานที่รวบรวมมาได้ใหม่ และ 3. มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 11 นาย ที่เคยเป็นผู้สอบสวนและทำคดีนี้ โดยระบุว่ามีกี่คนที่โดนลงโทษแล้ว และที่ไม่ได้โดนลงโทษว่าทำอะไรบ้าง บางคนยังมีการเลื่อนตำแหน่งอยู่

ด้าน พล.ต.ท.จารุวัฒน์กล่าวว่า ในการตรวจสอบได้ไล่ไทม์ไลน์เหตุการณ์ตั้งแต่ปี 2555 จนถึงการสั่งไม่ฟ้องคดีดังกล่าว โดยแบ่งเป็น 3 ช่วง ช่วงแรกคดีที่อยู่ในอำนาจชั้นพนักงานสอบสวน ตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2555 - 4 มีนาคม 2556 ช่วงที่ 2 ชั้นพิจารณาของพนักงานอัยการ ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2556 - 20 มกราคม 2563 ในชั้นนี้ผู้ต้องหาได้ร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคมา 2556 จนทำให้อัยการอาญาใต้ฯ มีคำสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมถึง 10 ครั้ง ซึ่งพยานที่อัยการสั่งให้สอบเพิ่มเติมเป็นผู้ให้ปากคำชั้นพนักงานสอบสวน จำนวน 4 ปาก เป็นพยานเพิ่มเติมชั้นอัยการ 16 ปาก และช่วงที่ 3 การทำความเห็นแย้ง

พล.ต.ท.จารุวัฒน์กล่าวอีกว่า สำหรับผลการตรวจสอบความบกพร่องของ พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ไม่พบความบกพร่องเนื่องจากการพิจารณาคำแย้งคำสั่งพนักงานอัยการ แย้งได้เฉพาะประเด็นข้อกฎหมาย กฎระเบียบ ว่าตามที่พนักงานอัยการกล่าวอ้างมาถูกต้องหรือไม่ โดยจะนำความในคำพิพากษาศาลฎีกา หรือความเห็นทางกฎหมายจากผู้เชี่ยวชาญประกอบเหตุผลการพิจารณา และพิจารณาจากข้อเท็จจริง พยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนที่อัยการส่งมาเท่านั้น และแย้งได้เฉพาะประเด็นที่สามารถกลับความเห็นของพนักงานอัยการได้ ไม่มีอำนาจทำการสอบสวนพยานหลักฐานเพิ่มเติม หรือหยิบยกพยานหลักฐานนอกสำนวนมาพิจารณาได้เนื่องจากอำนาจการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว เมื่อส่งสำนวนให้พนักงานอัยการ ในประเด็นข้อเท็จจริงที่นำมาพิจารณาต้องประกอบด้วยพยานหลักฐานต่างๆ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญอันสามารถหักล้างความเห็นไม่ฟ้องของพนักงานอัยการได้

“ผู้ตรวจสำนวนพิจารณาในกองคดีอาญาทุกระดับ มีผู้พิจารณาก่อนเสนอ พล.ต.ท.เพิ่มพูน มี 4 ราย ซึ่งทุกคนมีอิสระในการเห็นแย้งหรือไม่แย้งคำสั่งของอัยการ โดยชั้นนี้ผู้ตรวจสำนวนทุกคนมีความเห็นไม่แย้งตรงกัน ส่วน พล.ต.ท.เพิ่มพูน ผู้มีอำนาจในการพิจารณาทำความเห็นไปตาม ป.วิอาญา มาตรา 145/1 ไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ”


ในกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง คณะกรรมการยังพบข้อบกพร่องหลายแห่ง จึงจะประมวลเรื่องเสนอผบ.ตร.พิจารณาดำเนินการ ในประเด็น ดังนี้

1. นำเรียนข้อบกพร่องทั้งหมดที่พบของตำรวจ และจะตรวจสอบว่ากรณีใดบ้างที่ ป.ป.ช.ได้พิจารณาชี้มูลไปแล้ว กรณีบกพร่องที่ยังไม่ได้มีการชี้มูลหรือลงทัณฑ์ ทางคณะกรรมการจะพิจารณามีความเห็นเสนอ ผบ.ตร. เพื่อพิจารณาสั่งการดำเนินการทางวินัยต่อไป หากพบความผิดทางอาญาจะเสนอให้ดำเนินคดีอาญาต่อไป

2. คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบข้อเท็จจริงงเพิ่มเติม เช่น รายงานการคำนวณความเร็วจากผู้เชี่ยวชาญมายืนยันความเร็ว ที่ 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และผู้เชี่ยวชาญอื่น ก็ยืนยันที่ความเร็ว 126 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญแก่คดีที่สามารถพิสูจน์การกระทำความผิดของผู้ต้องหา เพื่อให้ศาลลงโทษผู้ต้องหาตามกฎหมายได้ เห็นควรส่งพยานหลักฐานรายละเอียดข้อเท็จจริงไปยังอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาดำเนินการตาม ป.วิอาญามาตรา 147 ต่อไป

3. คณะกรรมการตรวจพบความบกพร่องในการดำเนินคดีเรื่องยาเสพติดให้โทษ ที่ยังสามารถดำเนินการต่อไปได้ โดยได้สอบถามเพิ่มเติมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สอบปากคำเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญ แล้วพบว่าสารแปลกปลอม ทั้ง 2 ชนิด ที่เกิดในร่างกาย เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงเมื่อได้รับโคเคน ร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์เท่านั้น การใช้ยาอะม็อกซิลีน ไม่ทำให้เกิดสารแปลกปลอมดังกล่าวได้ ซึ่งกรณีความผิดการเสพโคเคน มีอัตราโทษจำคุก 6 เดือน ถึง 3 ปี หรือปรับ 1 หมื่น ถึง 6 หมื่นบาท และยังมีอายุความอยู่ เห็นควรให้พนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจสอบสวนดำเนินคดีในเรื่องนี้ต่อไป อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ผบ.ตร.ได้สั่งการว่าจะเข้ามาดูแลการสั่งคดีเรื่องแย้งความเห็นของพนักงานอัยการด้วยเองทุกคดี

พล.ต.ท.จารุวัฒน์ กล่าวด้วยว่า พ.ต.อ.ธนสิทธิ แตงจั่น นักวิทยาศาสตร์ สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ได้มีการชี้แจงกับคณะกรรมการชุดนี้แล้ว โดยทางคณะกรรมการมีการพิจารณาและเชื่อคำให้การของ พ.ต.อ.ธนสิทธิ เพราะเห็นว่าเป็นพยานหลักฐานที่มีความสำคัญต่อคดี โดยทาง ผบ.ตร.จะส่งพยานหลักฐานให้อัยการไปดำเนินคดีใหม่ตาม ป.วิอาญา มาตรา 147 ทำให้มีการรื้อคดีนี้ขึ้นมาทำใหม่ 2 ข้อกล่าวหาในส่วนของคดีขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง และข้อหาเสพยาเสพติดประเภท 2 (โคเคน) มีอัตราโทษจำคุก ตั้งแต่ 6 เดือนถึง 3 ปี ส่วนเรื่องการขอถอนหมายแดงของตำรวจสากลนั้น หากมีการรื้อคดีใหม่ก็สามารถที่จะเสนอขอหมายแดงใหม่ได้

“ผมเข้าใจถึงความห่วงใยของพี่น้องประชาชน และมีความสนใจในเรื่องการทำคดีครั้งนี้ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติยืนยันว่าจะไม่ปกป้องผู้กระทำผิด ใครผิดก็ว่าไปตามผิด ส่วนการกระทำความผิดของตำรวจหากพบจะมีการลงทัณฑ์อย่างเด็ดขาด โดยขณะนี้จากการตรวจสอบพบเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีส่วนกับการกระทำความผิดตำแหน่งสูงสุดในขณะนั้น คือ ระดับรองผู้บัญชาการ แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าเป็นใคร เพราะตนเองไม่ใช่คณะกรรมการทางด้านวินัย แต่หนึ่งในนั้นมีชื่อของ พ.ต.อ.ธนสิทธิ ที่จะต้องถูกสอบวินัย และดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กับตำรวจทั้ง 14 นาย เป็นพนักงานสอบสวนชุดเก่า 11 นาย และชุดใหม่ 3 นาย ที่เกี่ยวข้อง” ผู้ช่วย ผบ.ตร.ระบุ

ส่วนกระแสข่าวที่ พ.ต.อ.ธนสิทธิ ได้รับคำสั่งจากตำรวจชั้นผู้ใหญ่ให้กลับคำให้การเรื่องความเร็วรถนั้น จากการตรวจสอบพบว่าไม่มีใครกดดัน พ.ต.อ.ธนสิทธิให้กลับคำให้การ ก่อนหน้านี้ในการเรียกมาสอบปากคำ ตนเองก็ปล่อยให้เจ้าตัวอธิบายอย่างเต็มที่ ไม่มีความกดดันแต่อย่างใด ก่อนหน้านี้ พ.ต.อ.ธนสิทธิ เคยจะไปให้การในเรื่องวิธีคำนวณความเร็วมาแล้ว แต่พนักงานสอบสวนบอกว่าคดีหมดอายุความแล้ว วันนี้ตนเองตั้งใจมาพูดในเรื่องของข้อเท็จจริงที่จับต้องได้ จะไม่มีการคาดเดา หากจะบอกว่าใครผิดหรือไม่ผิดก็จะต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงต่อไป

พล.ต.ท.จารุวัฒน์กล่าวเพิ่มว่า วันนี้จะมีการเรียกสอบผู้เชี่ยวชาญของกองพิสูจน์หลักฐานที่เป็นคนกลางในเรื่องของความเร็วรถเกี่ยวกับวิธีการคำนวณซึ่งพบว่าพนักงานสอบสวนเชื่อว่าความเร็วที่ถูกต้องของรถคือ 177 หรือกว่า 80 ตรงกับวิธีการตรวจสอบในครั้งแรก ยืนยันว่าไม่มีการฟอกขาวให้ใคร และจะตรวจสอบเฉพาะทางตำรวจ ไม่ขอก้าวล่วงไปถึงทางอัยการ














กำลังโหลดความคิดเห็น