xs
xsm
sm
md
lg

จตช.ชี้แจงยิบ ตั้ง กก.สอบวินัย-สั่งสำรองราชการ “วิระชัย” ทำตามขั้นตอน ไม่มีกลั่นแกล้ง

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - จตช.แถลงชี้แจงยิบ คำสั่งตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรง-สำรองราชการ วิระชัย เป็นไปตามขั้นตอน มีกรอบเวลาชัดเจน ย้ำไม่มีการกลั่นแกล้ง หากสุดท้ายสอบสวนแล้วไม่มีความผิดก็กลับมารับราชการในตำแหน่งเดิมได้

วันนี้ (10 ส.ค.) เวลา 13.30 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ชนสิษฎ์ วัฒนวรางกูร จเรตำรวจแห่งชาติ (จตช.) พร้อมด้วย พล.ต.ท.สมชาย พัชรอินโต ผบช.กมค. พล.ต.ท.นิทัศน์ ลิ้มศิริพันธ์ ผบช.ก.ตร. พล.ต.ต.อนุชา รมยะนันท์ รอง ผบช.สกพ. และ พล.ต.ต.นพพร ศุภพัฒน์ ผู้บังคับการกองวินัย แถลงชี้แจงถึงกระบวนการขั้นตอนการดำเนินการทางวินัยและอาญา กรณีเผยแพร่คลิปเสียงการสนทนาระหว่าง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. กับ พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา สำรองราชการ ตร.

พล.ต.อ.ชนสิษฎ์เปิดเผยว่า ตนเองได้รับมอบหมายจาก พล.ต.อ.จักรทิพย์ มาสรุปขั้นตอนการดำเนินการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เกี่ยวกับ พล.ต.อ.วิระชัย สืบเนื่องจาก 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมาการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยต่อ พล.ต.อ.วิระชัย ที่มีความคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ตนและคณะจึงขอสรุปรายละเอียดการดำเนินการทางวินัยต่อ พล.ต.อ.วิระชัย ตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน

พล.ต.อ.ชนสิษฏ์กล่าวต่อไปว่า สืบเนื่องจากวันที่ 6 ม.ค. 2563 เวลาประมาณ 20.00 น. มีเหตุยิงรถยนต์ของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ในท้องที่บางรัก หลังจากนั้นวันที่ 9 ม.ค. 2563 เวลาประมาณ 08.00 น.มีการเผยแพร่คลิปเสียงผ่านสื่อมวลชนเกี่ยวกับการสนทนาทางโทรศัพท์ของ ผบ.ตร.กับ พล.ต.อ.วิระชัย ที่เป็นข้อสั่งการเกี่ยวกับการสอบสวนการดำเนินคดีอาญา ซึ่งถือเป็นความลับของทางราชการ อันเป็นการใช้อำนาจของ ผบ.ตร.ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนทั่วราชอาณาจักร แล้วมีการนำไปเผยแพร่ตามสื่อมวลชนหลายแขนง ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และการปฏิบัติหน้าที่ของ ผบ.ตร.จนเป็นเหตุให้ราชการเสียหาย จากนั้นก็มีสื่ออื่นๆ เผยแพร่ต่อเนื่องโดยตลอดมา

“วันที่ 21 ม.ค. 2563 สืบเนื่องจากความเสียหายดังกล่าวข้างต้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้นมาคณะหนึ่งโดยมีผมเป็นประธานกรรมการ และกรรมการส่วนใหญ่เป็นหัวหน้าส่วนราชการระดับผู้บัญชาการซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบดังกล่าว ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รายงานข้อเท็จจริงการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้นายกรัฐมนตรีทราบ และให้เหตุผลในการรายงานโดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้ เพื่อให้การตรวจสอบข้อเท็จจริงและการดำเนินการเป็นไปอย่างโปร่งใสและมีความน่าเชื่อถือเพียงพอ จึงเสนอให้พิจารณาสั่งการให้ พล.ต.อ.วิระชัย ไปปฏิบัติราชการนอกสังกัด ตร. เพื่อประโยชน์แก่การตรวจสอบดังกล่าว ต่อมาวันที่ 23 ม.ค. 2563 มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีให้ พล.ต.อ.วิระชัย ไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี ตามเสนอของ ตร.

พล.ต.อ.ชนสิษฏ์กล่าวว่า หลังจากที่มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงถึงวันที่ 10 ก.ค. 2563 เป็นเวลา 6 เดือน คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อ ผบ.ตร. ผ่านกองวินัย การรายงานได้รวบรวมพยานหลักฐานโดยให้ทุกฝ่ายชี้แจงข้อเท็จจริงอย่างเต็มที่แล้ว มีมติคณะกรรมการทั้งหมดมีมติเป็นเอกฉันท์สรุปได้ว่า แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ การดำเนินการทางวินัย และการดำเนินการทางอาญา ส่วนการดำเนินการทางวินัยตามวินัยมีมูลเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่า พล.ต.อ.วิระชัย กระทำความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ส่วนการดำเนินการทางอาญา มีมูลรับฟังได้ว่าเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 74 และประกาศ คปค.ฉบับที่ 21 เรื่องการห้ามดักฟังทางโทรศัพท์และเครื่องมือสื่อสารอื่นใด และในความเห็นนั้นเสนอให้กองวินัย และสำนักงานกฎหมายและคดีดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

“การดำเนินการทางวินัย วันที่ 14 ก.ค. 2563 หลังจากได้รับรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบ ในวันที่ 18 ก.ค. 2563 กองวินัยรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และมีความเห็นว่าเป็นกรณีมีมูลเพียงพอที่จะแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง ตามเสนอของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและมีหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรี เพื่อโปรดทราบผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นกรณีเร่งด่วน ผบ.ตร.ได้พิจารณาเห็นชอบและสั่งการให้หน่วยเกี่ยวข้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยต่อไป ต่อมาวันที่ 15 ก.ค. 2563 ได้รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อนายกรัฐมนตรี โดย ผบ.ตร.รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า พล.ต.อ.ชนสิษฎ์ วัฒนวรางกูร จตช. ประธานกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงเสร็จสิ้นแล้ว เห็นว่ามีมูลเพียงพอรับฟังได้ว่ากระทำความผิดวินัยร้ายแรง”

พล.ต.อ.ชนสิษฎ์กล่าวว่า ในส่วนการดำเนินคดีอาญา ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 สำนักงานกฎหมายและคดี รายงานผลการดำเนินการจัดทำคำกล่าวโทษและส่งให้ ผบช.ก.ดำเนินการไปตามกฎหมายตามอำนาจและหน้าที่เนื่องจาก บก.ป.เป็นหน่วยงานสอบสวนในสังกัด บช.ก.มีอำนาจสอบสวนทั่วราชอาณาจักรแล้ว ขณะที่วันที่ 21 กรกฎาคม 2563 สกพ. เสนอ ผบ.ตร.ว่ากรณีการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้เสร็จสิ้นแล้ว ตามที่ ตร.ได้รายงานผลให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ เห็นควรกราบเรียนนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาสั่งการให้ พล.ต.อ.วิระชัย กลับมาปฏิบัติราชการที่ ตร. เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องและเพื่อประโยชน์ในการบังคับบัญชากำกับดูแลการปฏิบัติราชการตามกฎหมายระเบียบและคำสั่งที่เกี่ยวข้อง

ต่อมา วันที่ 22 ก.ค. 2563 ผบ.ตร.เสนอนายกรัฐมนตรีว่า การตรวจสอบข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่เสนอให้ไปปฏิบัติราชการเสร็จสิ้นแล้ว เห็นควรสั่งให้ พล.ต.อ.วิระชัย กลับมาปฏิบัติราชการที่ ตร. ก่อนที่วันที่ 23 ก.ค.ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 219/2563 ให้ พล.ต.อ.วิระชัย กลับไปดำรงตำแหน่งรอง ผบ.ตร. จากนั้นวันที่ 24 ก.ค. ผบ.ตร.ได้ลงนามในคำสั่ง ตร.ที่ 383/2563 ตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง กับ พล.ต.อ.วิระชัย ตามที่กองวินัยเสนอ ซึ่ง พล.ต.อ.วิระชัยถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงสองประเด็นตามความเห็นที่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเสนอไว้

ขณะที่ในวันที่ 29 ก.ค. 2563 ผบ.ตร.จะมีคำสั่งสำรองราชการที่ 387/2563 เรื่องให้ข้าราชการตำรวจสำรองราชการ เนื่องจาก ตร. มีคำสั่งตั้งกรรมการวินัยร้ายแรง พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา และ บก.ป.ได้รับคำร้องทุกข์กรณีกล่าวโทษว่ามีการกระทำอันเป็นความผิดต่อรัฐมีมูลเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ม. 74 และตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 21 อันเป็นเหตุให้สำรองราชการได้ตามข้อ 3 (1) แห่งกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการตำรวจประจำ ตร. หรือส่วนราชการใดหรือสำรองในส่วนราชการใด พ.ศ. 2548 กรณีนี้เป็นการเสนอของ สกพ. เพื่อให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ใช้ดุลพินิจสั่งการตามอำนาจหน้าที่เพื่อประโยชน์แห่งความเป็นธรรมในการดำเนินการทางวินัยและอาญา เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการในภาพรวมของ ตร.

พล.ต.อ.ชนสิษฏ์กล่าวว่า การดำเนินการทั้งหมดข้างต้นเป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของ ผบ.ตร.ในฐานะผู้บังคับบัญชา ซึ่งตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 หมวด 5 วินัยและการรักษาวินัยได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาไว้ให้ผู้บังคับบัญชามีหน้าที่เสริมสร้างและพัฒนาให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชามีวินัย ป้องกันมิให้ผู้ใต้บังคับบัญชากระทำผิดวินัย และดำเนินการทางวินัยแก่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ซึ่งมีกรณีอันมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมิได้อยู่ในฐานะคู่กรณีตามบทบัญญัติของกฎหมายตามที่คนทั่วไปเข้าใจ

เมื่อ ผบ.ตร.ได้รับรายงานจากผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีมูลเพียงพอรับฟังได้ว่าเป็นกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงและกองวินัยได้ให้ความเห็นพ้องด้วยกับคณะกรรมการตรวจสอบประกอบกับในส่วนคดีอาญา พนักงานสอบสวน ได้รับคำร้องทุกข์ไว้แล้วในกรณีการกล่าวโทษว่ามีการกระทำอันเป็นความผิดต่อรัฐ ผบ.ตร.ซึ่งมีหน้าที่ตามกฎหมายจึงต้องดำเนินการตามขั้นตอน บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว และไม่สามารถดำเนินการโดยใช้ดุลพินิจเป็นอย่างอื่น นอกเหนือจากที่กฎหมายบัญญัติไว้ได้

จะเห็นได้ว่าการดำเนินการและการสั่งการของ ผบ.ตร. เป็นการกระทำในหน้าที่ของผู้บังคับบัญชา ซึ่งได้ดำเนินการไปตามลำดับขั้นตอน โดยมีความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรองรับการพิจารณาสั่งการด้วยเสมอ รวมระยะเวลานับตั้งแต่ที่คณะกรรมการรายงาน ผบ.ตร. ตั้งแต่ 10 ก.ค. 2563 จนถึงการออกคำสั่งสำรองราชการ 29 ก.ค. 2563 รวมทั้งสิ้น 20 วัน เป็นระยะเวลาในการดำเนินเนินงานทางธุรการตามปกติไม่ได้เป็นการเร่งรัดหรือตระเตรียมการไว้ แต่อย่างใด” จตช.ระบุ

พล.ต.อ.ชนสิษฏ์กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายจาก ผบ.ตร.ให้มาชี้แจงเกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินการทั้งหมดที่ผ่านมา ทั้งทางวินัยและอาญา เกี่ยวกับ พล.ต.อ.วิระชัย สำรองราชการ ตร. โดยยืนยันว่าทำตามขั้นตอน ไม่ได้เร่งรัดดำเนินการ ตั้งแต่ตนทำเรื่องเสนอ ผบ.ตร. จนจบกระบวนการสำรองราชการ ใช้เวลาประมาณ 20 วัน ไม่ใช่เพิ่งทำ ยืนยันว่าหากไม่พบความผิด พล.ต.อ.วิระชัย สามารถกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ดังเดิม แต่ส่วนตัวปฏิเสธจะให้ความเห็นว่าพล.ต.อ.วิระชัย ยังมีสิทธิ ได้รับการเสนอชื่อเป็นผบ.ตร.คนใหม่ ได้อีกหรือไม่

สำหรับกรอบระยะเวลาการสอบสวนวินัยร้ายแรง พล.ต.ต.นพพรกล่าวว่า เป็นไปตามกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา พ.ศ. 2547 ต้องเรียกผู้ถูกกล่าวหามาแจ้งอธิบายให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบภายใน 15 วัน จากนั้นรวบรวมพยานหลักฐานในเรื่องที่กล่าวหา และประชุมพยานหลักฐานสนับสนุนข้อกล่าวหา และสรุป ใช้เวลา 60 วัน หลังสรุปแล้วหากมีมูลความผิดจะเรียกผู้ถูกกล่าวหามาแจ้งข้อกล่าวหา ภายใน 15 วัน หลังแจ้งข้อกล่าวหาก็ถามความความประสงค์ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจง อธิบายข้อกล่าวหา และทำเรื่องมาให้ถ้อยคำเพิ่มเติมภายใน 60 วัน หลังจากนั้นคณะกรรมการรวบรวมพพยานหลักฐานภายใน 30 วัน สรุปสำนวนเสนอผู้สั่งตั้งคณะกรรมการ

ด้าน พล.ต.ท.นิทัศน์กล่าวถึงกรณีที่ พล.ต.อ.วิระชัย ร้องขอความเป็นธรรม คือ คำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง ได้มีการร้องทุกข์และคัดค้านคำสั่งตั้งกรรมการสอบสวน และร้องทุกข์และอุทธรณ์คำสั่งของ ผบ.ตร.ที่สั่งให้สำรองราชการ ทั้งสองส่วนเรื่องถูกส่งไปที่สำนักงาน ก.ตร.ในฐานะเป็นเลขานุการ ก.ตร. ซึ่งสำนักงาน ก.ตร.ต้องส่งเรื่องให้ประธานคณะอนุกรรมการ ก.ตร.เกี่ยวกับการร้องทุกข์ซึ่งมี พล.ต.อ.สุชาติ ธีระสวัสดิ์ รอง ผบ.ตร.เป็นประธาน นำเข้าสู่การพิจารณากับคณะอนุกรรมการ เมื่อพิจารณาเสร็จสิ้นแล้วเรื่องจะเข้าสู่ ก.ตร.อีกครั้ง




กำลังโหลดความคิดเห็น