xs
xsm
sm
md
lg

นำร่องปลูก “พืชกระท่อม” 135 หมู่บ้าน เน้นใช้ตามวิถีชุมชน-ไม่ผิดวัตถุประสงค์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - ป.ป.ส. แจงนโยบายการปรับสถานะพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดเพื่อศึกษาวิจัย พร้อมจัดเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

วันนี้ (14 ก.ค.) นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) เปิดเผยนโยบายเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาล โดยเฉพาะกลุ่มพืชที่เน้นการใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์และการวิจัยพัฒนาเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ และแนวทางของกระทรวงยุติธรรม ผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายในการปลดพืชกระท่อมออกจากยาเสพติด ว่า ในทางกฎหมายขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ ... พ.ศ. ... (ถอดพืชกระท่อมจากยาเสพติดให้โทษ) ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 63 และอยู่ในขั้นส่งไปยังรัฐสภาเพื่อพิจารณา ในทางคู่ขนานกัน สำนักงาน ป.ป.ส. ได้มีการร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ. ... เพื่อใช้ในการกำกับดูแลพืชกระท่อม ภายหลังการถอดพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษ ขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงาน ป.ป.ส. ซึ่งเมื่อดำเนินการตามขั้นตอนครบกำหนดแล้ว สำนักงาน ป.ป.ส. จะนำข้อมูลความคิดเห็นที่ได้รับมาวิเคราะห์ผลดี ผลเสีย รวมถึงผลกระทบเพื่อเสนอ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยธ. พิจารณาก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

นายนิยม กล่าวอีกว่า การดำเนินงานในพื้นที่นำร่อง 135 หมู่บ้าน เพื่อเตรียมการรองรับการประกาศเป็นพื้นที่ได้รับอนุญาตให้เสพและครอบครองพืชกระท่อม ตามมาตรา 58/2 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ส. ได้ขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข โดยพื้นที่ดังกล่าวได้มีการดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน ตั้งแต่การเลือกพื้นที่ การจัดทำแผนเพื่อควบคุมจำนวนพืชกระท่อม การจัดเวทีประชาคมเพื่อรับรองธรรมนูญชุมชน และแผนปฏิบัติการของชุมชนในการจัดการด้วยชุมชน การสำรวจ บันทึกข้อมูลการขึ้นทะเบียนผ่านระบบสารสนเทศ โดยในแต่ละพื้นที่จะมีการจัดทำธรรมนูญที่แตกต่างกันไปตามภูมิวัฒนธรรม นั่นคือ การดูลักษณะทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ในบริบทวัฒนธรรม โดยพิจารณาองค์ประกอบความสัมพันธ์ของพื้นที่ภูมิศาสตร์ (พืชท้องถิ่น) ที่รวมเอาวัฒนธรรมและทรัพยากรธรรมชาติเข้าไว้ด้วยกัน กลายเป็นมรดกร่วมของชุมชนหรือท้องถิ่น การจัดทำธรรมนูญชุมชนอยู่ภายใต้กรอบความร่วมมือที่ทางสำนักงาน ป.ป.ส. ได้จัดทำเอาไว้ เช่น ข้อตกลงชุมชนเรื่องเครื่องมือในการควบคุมพืชกระท่อม การตรวจสุขภาพผู้ใช้งานกระท่อม ซึ่งจัดให้มีการตรวจสุขภาพผู้ใช้งาน เป็นต้น ประการสำคัญในพื้นที่นำร่องที่มีเยาวชน จะมีการเฝ้าระวังในกลุ่มเยาวชนเพิ่มขึ้น เพื่อไม่ให้มีการนำพืชกระท่อมไปใช้ในทางที่ผิด

นายนิยม กล่าวต่อว่า การคัดเลือกพื้นที่นำร่องมีหลักสำคัญคือต้องคำนึงถึงความพร้อมของชุมชนเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ต้องเป็นพื้นที่ที่มีประวัติการใช้พืชกระท่อมตามวิถีชุมชนดั้งเดิมมาอย่างยาวนาน และที่สำคัญ คนในพื้นที่ต้องมีความพร้อมในการดูแล ควบคุมเพื่อไม่ให้ใช้ผิดวัตถุประสงค์ และให้ความร่วมมือช่วยเหลือในการอำนวยความสะดวกในการสำรวจต้นกระท่อมเพื่อจัดทำฐานข้อมูล กำกับ รวมทั้งการติดตามการใช้พืชกระท่อม ดังนั้น ขั้นแรกชุมชนต้องเห็นด้วย และพร้อมที่จะเป็นกลไกในการดูแลอย่างจริงจังในระยะยาว

นายนิยม กล่าวเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่ปี 2560 สำนักงาน ป.ป.ส. ได้ดำเนินโครงการและให้ ต.น้ำพุ อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี เป็นพื้นที่ต้นแบบในการศึกษาวิจัย ซึ่งมีผลตอบรับที่ดี คือ พบการใช้ผิดวัตถุประสงค์น้อย เนื่องจากการที่ชาวบ้านช่วยกันจัดตั้งธรรมนูญชุมชนเพื่อควบคุมดูแลโดยใช้ชุมชนเป็นกลไกสำคัญ จึงเป็นต้นแบบในการเตรียมพื้นที่ 135 หมู่บ้านชุมชน เพื่อใช้ในการศึกษาและควบคุมดูแลการใช้พืชกระท่อม ซึ่งการจัดทำพื้นที่นำร่องเพื่อการศึกษาและการควบคุม มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นพื้นที่ต้นแบบในการศึกษารองรับนโยบายการปรับสถานะพืชกระท่อมออกจากยาเสพติด โดยต้องทำอย่างรัดกุมและเป็นขั้นตอน เพื่อให้เกิดปัญหาน้อยที่สุด ดังนั้น หากหมู่บ้านชุมชนใดที่มีความประสงค์จะให้พื้นที่ของตนเป็นพื้นที่ดำเนินการภายใต้หลักการที่กล่าวมา ก็สามารถประสานขอทราบรายละเอียดจากสำนักงาน ป.ป.ส. เพื่อดำเนินการได้

“เจตนารมณ์ของ รมว.ยธ. ในนโยบายการปรับสถานะพืชกระท่อมออกจากการเป็นยาเสพติด มีเพื่อ 4 ประเด็นหลักๆ คือ 1. การลดทอนความเป็นอาญาของพืชกระท่อม 2. เปิดโอกาสให้ศึกษาวิจัยและใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ 3. เปิดโอกาสให้ใช้ตามวิถีชาวบ้าน และ 4. พัฒนาพืชกระท่อมสู่เศรษฐกิจฐานชุมชน โดยทั้ง 4 ประเด็น จะต้องอยู่ในกรอบ คือ ต้องไม่ทำให้เกิดปัญหา ดังนั้น จึงต้องมีการกำกับดูแลไม่ให้มีการใช้ผิดวัตถุประสงค์ หรือการนำพืชกระท่อมไปผสมวัตถุ สารเสพติด ยาเสพติดชนิดอื่น หรือที่เรียกกันว่า “สี่คูณร้อย” ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ส. และกระทรวงยุติธรรม จะจัดการเสวนาในประเด็น “การปรับสถานะและการใช้ประโยชน์จากพืชกระท่อม” เพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็นจากภาคประชาชนและผู้เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วน โดยการจัดงานเสวนา รวมถึงนโยบายการปรับสถานะพืชกระท่อม สำนักงาน ป.ป.ส. จะแจ้งให้ทราบเมื่อมีความคืบหน้าต่อไป และหากพบการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือการนำกระท่อมไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ สายด่วน ป.ป.ส. โทร. 1386 ตลอด 24 ชม.”






กำลังโหลดความคิดเห็น