MGR Online - รมว.ยธ.ยกโมเดล “ยุติธรรมปันสุข” เสนอใช้กำไลอีเอ็ม เตียง 2 ชั้น แก้ปัญหาเรือนจำแออัด พร้อมให้ “สรยุทธ” มาจัดรายการเรื่องเล่าชาวเรือนจำ สร้างองค์ความรู้ผู้ต้องขังป้องกันถูกปลุกปั่นและให้ข้อมูลโควิด-19 ที่ถูกต้อง
วันนี้ (5 เม.ย.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (รมว.ยธ.) เปิดเผยว่า ได้แบ่งงานภายในกระทรวงออกเป็น 3 ส่วน คือ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต โดยยึดโมเดลของ “ยุติธรรมปันสุข” คือ การเข้าถึงสิทธิมนุษยธรรม การเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยอดีตปัญหาที่ยาวนาน คือ กรมราชทัณฑ์มีผู้ต้องขังมากถึง 380,000 คน แต่เรือนจำทั่วประเทศรองรับผู้ต้องขังได้เพียง 220,000 คน ดังนั้นมีปริมาณที่เกินอยู่ถึง 160,000 คน การเป็นอยู่ในเรือนจำนั้นจึงแออัดซึ่งต้องหาแนวทางแก้ไข ส่วนปัจจุบันแนวทางการทำงานคืบหน้าในหลายด้านมีการบูรณาการ ผลักดันจนเกิดความคืบหน้าในเรื่องของกำไลอิเล็กทรอนิกส์ (อีเอ็ม) ที่จะสามารถปล่อยผู้ต้องขังด้วยการพักโทษได้ถึง 30,000 คน รวมถึงการสร้างเรือนนอนให้เป็น 2 ชั้น ลดความแออัดตามเรือนจำต่างๆ ได้อีก 50,000 คน หากนับเป็นรายหัวของความแออัดจะลดได้ถึง 80,000 คน ดังนั้น ส่วนที่ยังเกินในเรือนจำจะเหลือเพียง 80,000 คน และเราจะหาหนทางต่อไปซึ่งอาจจะต้องการปรับแก้กฎหมายเข้ามาลดผู้ต้องขังตรงส่วนนี้
“ผมต้องขอบคุณทีมงานกระทรวงยุติธรรม โดยมีนายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงฯ ที่ต้องบูรณาการใช้เงิน เกลี่ยงบประมาณ เตียง 2 ชั้น นิติวิทยาศาสตร์ กำไลอีเอ็ม อีกทั้งพัฒนากฎหมายต่างๆ เพื่อควบคุมดูแลผู้ต้องขัง ด้าน พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้นำงบประมาณ 193 ล้านบาท มาทำห้องกักโรค รวมถึงเตียงนอน 2 ชั้น โดยทั้งสองเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญในการแก้ปัญหางานที่กระทรวงยุติธรรมรับผิดชอบ” รมว.ยุติธรรมกล่าว
นายสมศักดิ์กล่าวอีกว่า ส่วนนโยบายการทำงานเรื่องของการสร้างภูมิคุ้มกันในเรือนจำ ลดความเครียด ให้ความรู้ผู้ต้องขังในเรื่องของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งทางอธิบดีกรมราชทัณฑ์ได้ตั้งศูนย์ขึ้นมา โดยมีนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา อดีตผู้ประกาศข่าวชื่อดัง มาเป็นพิธีกรจัดรายการเรื่องเล่าชาวเรือนจำ ให้ความรู้ผู้ต้องขัง 143 แห่งทั่วประเทศ ขณะนี้ นายสรยุทธได้ทำรายการแล้ว ทั้งยังมีการทำคลิปวิดีโอเพลงไม่ต้องห่วงฉัน ออกมาเผยแพร่ให้ญาติพี่น้องของผู้ต้องขัง รวมถึงสังคมสบายใจ ทุกเทปที่ทำเป็นการให้ความรู้ข้อเท็จจริงโควิด-19 ในเรือนจำ อีกทั้งบอกเล่าในมาตรการต่างๆ ที่กรมราชทัณฑ์ทำให้ผู้ต้องขังทั่วประเทศจะได้ไม่เข้าใจผิดจนเกิดการปลุกปั่นจนเผาเรือนจำแบบจังหวัดบุรีรัมย์ สำหรับนักโทษคดีร้ายแรงมักมีความคิดแหกคุก พยายามปลุกปั่นหากรับมือได้ การปลุกปั่นจะไม่สามารถหลอกผู้อื่น แต่อาจจะหยุดการปลุกปั่นทั้งหมดไม่ได้ เราเพียงทำให้ดีขึ้น และการมีศูนย์ดังกล่าวจึงถือเป็นหนึ่งในการดูแลความมั่นคงในเรือนจำที่ต้องป้องกันไม่ให้เกิดจลาจล
นายสมศักดิ์กล่าวต่อว่า ส่วนงานในอนาคต พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์จะพัฒนา แล็บของสำนักงานให้เป็นแล็บที่ 29 ของประเทศไทยที่สามารถตรวจเชื้อโควิด-19 ได้ โดยจะสามารถตรวจผู้ต้องสงสัยหรือในกลุ่มเสี่ยงได้ง่ายเพราะผู้ต้องขังที่มีจำนวนมาก หากพบสามารถส่งตรวจรู้ผลใน 24 ชั่วโมง เราต้องสกัดให้ไวเพราะเวลานี้เรือนจำยังมีความแออัด งบประมาณในเรื่องของน้ำยาและอุปกรณ์ต่างๆ จะอยู่ที่ 2,200 บาทต่อเคส ซึ่งจะเริ่มดำเนินการได้ในวันที่ 13 เม.ย.นี้