MGR online - ดีเอสไอ พัฒนาศักยภาพการพิสูจน์หลักฐานดิจิทัล นำระบบคิวอาร์โค้ด - เทคโนโลยี AI ช่วยอำนวยความสะดวก พร้อมวิเคราะห์พฤติกรรมคนร้าย อย่างกรณี “คดีแชร์ลูกโซ่-คดีฟอกเงิน”
กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มีภารกิจป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมที่มีลักษณะเข้าข่ายเป็นคดีพิเศษ ตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 คือ คดีอาญาที่มีความซับซ้อน ยุ่งยาก และร้ายแรง มีลักษณะแตกต่างจากอาชญากรรมพื้นฐานโดยทั่วไป ซึ่งต้องอาศัยการตรวจหรือการเก็บหลักฐานพิสูจน์ วิเคราะห์ เพื่อประมวลเข้าด้วยกัน เช่น อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (White Collar Crime) องค์กรอาชญากรรม (Organization Crime) อาชญากรรมข้ามชาติ (Transnational Crime) ซึ่งปัจจุบันพบว่าการกระทำความผิดได้พัฒนารูปแบบทางเทคโนโลยีจนบางครั้งไม่คาดคิด มีสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและประเทศชาติอย่างมหาศาล
ในช่วง 2 -3 เดือนที่ผ่านมา หลายคนเคยได้ยินข่าวคดีการฉ้อโกงประชาชนหรือแชร์ลูกโซ่มีผู้เสียหายหลายพันคน มูลค่าความเสียหายกว่าหลายพันล้านบาท เช่น คดีแชร์แม่มณี ซึ่งชักชวนให้ประชาชนร่วมออมเงินผ่านโซเชียลมีเดีย หรือ คดีแชร์ FOREX-3D ที่ให้ร่วมลงทุนซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ หรือ ธุรกิจไนซ์รีวิว เป็นการชักชวนให้กดถูกใจ แบ่งปัน และแสดงความคิดเห็นเชิงบวกแก่งานโฆษณาบนเฟซบุ๊ก โดยสิ่งที่คล้ายกันของแชร์ลูกโซ่ 3 ราย นี้ คือ การใช้เทคโนโลยีเป็นตัวกลางแพร่กระจายข่าวสาร แค่คลิ๊กเพียงครั้งเดียวก็ทำให้การฉ้อโกงประชาชนในรูปแบบแชร์ลูกโซ่เกิดขยายวงกว้างไปทั่วประเทศในเวลาอันรวดเร็ว แม้ผู้เสียหายกับผู้กระทำความผิดจะไม่เคยรู้จักมักคุ้มหรือเห็นหน้าค่าตากันมาก่อนแต่ผู้เสียหายก็ถูกโน้มน้าวให้ร่วมลงทุน ซึ่งในแต่ละวันมีผู้เสียหายเข้ามาร้องทุกข์กับดีเอสไอเป็นจำนวนมาก แต่การรับเป็นคดีพิเศษ ประเภทคดีการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนจะต้องมีผู้เสียหาย 300 คนขึ้นไป หรือมีความเสียหายตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป อย่างใดอย่างหนึ่ง
นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ รองอธิบดีดีเอสไอ เปิดเผยว่า ในฐานะที่เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กรณี FOREX-3D พบว่ายังมีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีจำนวนผู้เสียหายกว่าหนึ่งหมื่นคนที่จะต้องดำเนินการสอบปากคำทั้งหมด แล้วส่งสำนวนให้สำนักงานอัยการมีความเห็น ซึ่งการสอบปากคำแบบเรียกสอบรายบุคคลไม่สอดคล้องกับกรณีที่มีผู้เสียหายจำนวนมาก ดีเอสไอจึงนำระบบคิวอาร์โค้ด (QR Code) มาลงทะเบียนผู้เสียหายผ่านระบบออนไลน์จากทั่วประเทศ เมื่อผู้เสียหายลงทะเบียนแล้ว ก็จะนัดหมายมาให้ถ้อยคำวันละประมาณ 200 ปากทั่วประเทศ
“โดยระบบคิวอาร์โค้ด กำหนดประเด็นให้ผู้เสียหายตอบคำถามเพื่อความสะดวก รวดเร็วในการสอบปากคำ รวมไปถึงการสรุปสำนวนให้อัยการ ซึ่งระบบคิวอาร์โค้ดจะมีการพัฒนาต่อยอดในทุกคดีเพื่ออำนวยความยุติธรรมแก่ผู้เสียหาย รวมไปถึงการนำเทคโนโลยี AI มาคิดวิเคราะห์รูปแบบพฤติกรรมของผู้กระทำผิด เมื่อพบผู้ต้องสงสัยมีพฤติกรรมการกระทำผิดที่ซ้ำกับการกระทำในอดีต เทคโนโลยี AI จะบ่งบอกได้ว่า มีลักษณะเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ หรือเข้าข่ายคดีความผิดประเภทอื่นใด”
นายไตรยฤทธิ์ เผยอีกว่า เทคโนโลยี AI ในต่างประเทศได้พัฒนาล้ำหน้าไปมากแล้ว แต่ประเทศไทยต้องพัฒนาอีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญในการติดตามร่องรอยผู้กระทำความผิดไม่ว่าจะเป็นการดำเนินคดีอาญา การใช้มาตรการด้านภาษี หรือมาตรการยึดทรัพย์ ล้วนอาศัยการติดตามภาพใบหน้าบุคคลทั้งสิ้น และสิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องมีความแม่นยำ และความถูกต้อง ยกตัวอย่างเช่น การทำหนังสือเดินทาง E - passport รุ่นใหม่ ซึ่งตนเคยเป็นกรรมการกำหนดคุณสมบัติฯ นับเป็นการพัฒนาที่มีคุณภาพ ซึ่งจะเก็บข้อมูลส่วนบุคคล จำนวน 3 ส่วน ได้แก่ ม่านตา ภาพใบหน้า และลายพิมพ์นิ้วมือ ในบุคคลคนหนึ่งจะต้องมีข้อมูลทั้ง 3 ส่วน สอดคล้องกัน
นายไตรยฤทธิ์ เผยต่อว่า โลกในทุกวันนี้พัฒนารุดหน้าไปมาก การทำธุรกรรมใดๆ ผ่านระบบออนไลน์ช่วยประหยัดเวลา และทำให้เรื่องยากกลายเป็นเรื่องง่าย แต่การทำธุรกรรมบนโลกออนไลน์จะต้องมีระบบรักษาความปลอดภัยในการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล กลุ่มมิจฉาชีพจึงใช้กลอุบายเพื่อเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลและโจรกรรมข้อมูลได้อย่างแนบเนียน แต่อาชญากรมักทิ้งร่องรอยไว้เสมอ เช่น DNA ซึ่งสามารถยืนยันตัวบุคคลได้อย่างน่าเชื่อถือ หรือการติดตามภาพ รวมทั้งรูปพรรณสัณฐานของบุคคล ด้วยระบบไบโอเมทริกซ์ (Biometrics) ที่สามารถจดจำเอกลักษณ์ของแต่ละบุคคล เช่น ลักษณะบนใบหน้า ดวงตา ที่สามารถแยกแยะได้ว่า ผู้ต้องสงสัยนั้นเป็นใคร
นายไตรยฤทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การทำธุรกรรมทางการเงินบนโลกออนไลน์ เป็นเรื่องที่น่าห่วงใย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เงินดิจิทัล ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ใช้ในการฟอกเงินได้เป็นอย่างดี คาดการณ์ว่าในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี เงินดิจิทัลจะเข้ามาแทนที่เงินตราปกติ โดยปัจจุบันนี้ มีคนไทยใช้เงินดิจิทัลประมาณหนึ่งล้านคน ฟังดูแล้วอาจจะดูเหมือนว่าเป็นตัวเลขที่ไม่มากนัก แต่หากพิจารณาการเติบโตจะพบว่า มีการแพร่หลายอย่างรวดเร็วมาก เงินดิจิทัลที่มีถิ่นฐานในต่างประเทศก็สามารถซื้อขายในประเทศไทยได้ ทั้งสินค้าที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย แต่เงินเหล่านี้ไม่ได้ไหลเข้าประเทศถือเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจประเภทหนึ่งที่จะต้องขุดคุ้ยให้เจอ แต่วิธีที่ดีที่สุด คือ การป้องกันไม่ให้เกิดอาชญากรรม กล่าวคือ ต้องสร้างการตระหนักรู้ การป้องกันไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อ โดยดีเอสไอมีความยินดีที่จะเป็นเครือข่ายที่สำคัญในการป้องกันและปราบปรามการก่ออาชญากรรมของประเทศ
นอกจากนี้ ทิศทางและนโยบายของเทคโนโลยีดิจิทัล สำหรับการพิสูจน์หลักฐานดิจิทัลของดีเอสไอ มียุทธศาสตร์ โดยยึดหลักการ 5 S ดังนี้ 1.Standard System คือ การพัฒนาระบบการสืบสวนสอบสวนที่มีประสิทธิภาพ โดยการใช้พยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ในการสืบสวนสอบสวน เร่งรัด ติดตามจับกุมผู้กระทําความผิดในคดีพิเศษ คือ การสืบสวนสอบสวนที่มีมาตรฐานสามารถนำไปเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดในชั้นศาลได้ อันส่งผลโดยตรงต่อการดำเนินคดีพิเศษที่มีคุณภาพและมีผลสัมฤทธิ์สูง
2.Smart Agent คือ การพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีความเป็นมืออาชีพ มีคุณธรรม จริยธรรม และมีความผาสุก โดยมีสถาบันการสอบสวนคดีพิเศษเป็นสถานฝึกอบรมบ่มเพาะ พัฒนาบุคลากรที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีเอสไอให้ความสำคัญ เพราะหากองค์การใดมีระบบการบริหารจัดการที่ดี แต่ขาดบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถในการทำงาน ย่อมไม่สามารถนำพาองค์การไปสู่จุดหมายที่วางไว้ได้
3.Super Technology คือ การสร้างเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย มีการติดตามและบันทึกผลการดำเนินคดีพิเศษ มีฐานข้อมูลคดีพิเศษที่ครบถ้วนและสมบูรณ์ มีเครื่องมือ อุปกรณ์พิเศษที่ทันสมัย ตลอดจนมีระบบการเชื่อมโยงกับคลังข้อมูลกลางขนาดใหญ่ (Big Data) และการศึกษา วิจัย พัฒนาอุปกรณ์ เครื่องมืออุปกรณ์พิเศษที่เหมาะสมกับการสืบสวนสอบสวน ที่เราเรียกว่า Special Investigation Technology ซึ่งการขับเคลื่อนเทคโนโลยีการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมคอมพิวเตอร์เพื่อติดตามค้นหาร่องรอยที่อาชญากรทิ้งไว้ เป็นงานที่ยาก แต่มิใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ แม้ว่าต้องเดินก้าวตามอาชญากรรมที่เดินนำหน้าเราเสมอ แต่หากสามารถปรับกลยุทธ์ พัฒนาตนเองให้รู้เท่าทันอาชญากรหรือโต้ตอบกลับได้ทันควันหรือพัฒนาล้ำหน้าไปไกลกว่าอาชญากร เช่น ฐานข้อมูลทางการเงิน ฐานข้อมูลความมั่นคง ฐานข้อมูลส่วนบุคคล
ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นเรื่องการสนับสนุนการใช้เครื่องมือสืบสวนสอบสวน ซึ่งในปีนี้ได้รับการจัดสรรงบประมาณในการจัดหาเครื่องมือสืบสวนสอบสวนให้สามารถรองรับเทคโนโลยีในปัจจุบันได้ จำเป็นต้องเปลี่ยนรูปแบบและเปลี่ยนระบบรองรับการปฏิบัติการ เพื่อก้าวให้ทันเทคโนโลยีและสามารถป้องกันอาชญากรรม นอกจากความสามารถในด้านสืบสวน สอบสวนแล้ว บุคลากรของดีเอสไอหลายคนยังเป็นนักพัฒนาเทคโนโลยี โปรแกรมเมอร์ หรือเป็นนักวิจัย ซึ่งดีเอสไอขอรับการจัดสรรงบประมาณในการวิจัยเป็นโครงการขนาดใหญ่ในภาพรวม เพื่อจัดทำระบบที่เชื่อมโยงกัน ไม่ว่าจะเป็นการติดตาม ป้องกัน ข่าวเท็จ (fake news) การวิเคราะห์พฤติกรรมการกระทำความผิด ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานวิจัยต่างๆ
4. บูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน (Strong Collaboration) คือ การแสวงหาและสร้างเครือข่ายความร่วมมือ โดยมีการพัฒนาศักยภาพเครือข่าย การประสานงานและบูรณาการการทำงานกับเครือข่าย การสร้างช่องทางการสื่อสารและพัฒนาความสัมพันธ์ด้วยการจัดกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง และ 5. การบริหารจัดการองค์การเพื่อความยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาล (Sustainable Administration) คือ การพัฒนาองค์การตามหลักเกณฑ์การบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) ให้สอดคล้องกับการบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาล (Good Governance : GG) การปฏิรูปองค์การ การบริหารยุทธศาสตร์การพัฒนาองค์การตามเกณฑ์การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment : ITA) การปรับปรุงและพัฒนากฎหมายการพัฒนาระบบราชการ เป็นต้น