MGR online - รมว.ยธ.พร้อมคณะลงพื้นที่เปิดโครงการวิจัยพืชกระท่อม พื้นที่ควบคุม ต.น้ำพุ อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อปลดล็อคออกจากบัญชียาเสพติด เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ที่ออกฤทธิ์ได้ดีกว่ามอร์ฟีน เกือบ20เท่า
วันนี้ (20 ม.ค.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (รมว.ยธ.) พร้อมด้วย นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นายวิชัย ไชยมงคล ที่ปรึกษาการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล รองเลขาธิการ ป.ป.ส. และคณะ ลงพื้นที่โรงเรียนท่าชีวิทยาคม ต.น้ำพุ อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อเปิดโครงการศึกษาวิจัยเพื่อสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลพืชกระท่อมพื้นที่นำร่อง ต.น้ำพุ อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี โดยมีนักวิชาการ เจ้าหน้าที่และประชาชนในพื้นที่กว่า 500 ราย เข้าร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังเร่งดำเนินการแก้กฎหมาย พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษปี 2522 ปลดล็อคพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เพราะกระท่อมมีสรรพคุณบรรเทาอาการปวด ใช้แทนมอร์ฟีน แต่สามารถออกฤทธิ์ได้ดีกว่ามอร์ฟีน 13 - 17 เท่า และนำไปใช้บำบัดเลิกยาบ้า ยาไอซ์ อีกทั้งยังสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านที่เพาะปลูก ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน เนื่องจากกระท่อมสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย ทั้งยาแคปซูลแก้ปวดเมื่อย และเป็นส่วนผสมในเครื่องดื่มชูกำลัง แต่ก็ต้องขออนุญาตจากทาง อย.ก่อน ซึ่งจะมีการหารือกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อทำเอ็มโอยู (MOU) ต่อไป
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า มีรายงานสถิติผู้ถูกจับกุมคดีครอบครองพืชกระท่อมในปี 2562 มากถึง 60,000 คดี คิดเป็นความเสียหายจากคดีมากถึง 1,800 ล้านบาทต่อปี ทำให้ภาครัฐมีค่าใช้จ่ายทางคดีให้กับตำรวจ อัยการ และศาล ประมาณคดีละ 30,000 บาท หากกระท่อมไม่เป็นยาเสพติดจะประหยัดงบประมาณรัฐไปได้อย่างมหาศาล นอกจากนี้ จะเร่งดำเนินการปลดล็อคพืชกระท่อมให้แล้วเสร็จภายในกลางปีนี้ โดยผลการประชาพิจารณ์เมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา ออกมาเห็นด้วย 99 เปอร์เซ็นต์ และในวันที่ 22 ม.ค.นี้จะนำเสนอร่าง พ.ร.บ. ให้สำนักงาน ป.ป.ส. พิจารณา และคาดว่าจะเสนอเข้า ครม.ได้วันที่ 3 มี.ค.63 จากนั้นจะส่งคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ก่อนนำกลับเข้า ครม. เสนอเข้าสภาตามขั้นตอนต่อไป คาดว่าสภาจะพิจารณาแล้วเสร็จประมาณเดือนมิ.ย.63
ด้าย นายสงคราม บัวทอง กำนัน ต.น้ำพุ อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี เผยว่า ปัจจุบันเป็นพื้นที่เดียวในประเทศไทย ที่ป.ป.ส. อนุญาตให้ปลูกกระท่อมเพื่อการวิจัยตั้งแต่ปี 2559 โดยมีการควบคุมพืชกระท่อมกว่า 1,500 ต้น ปลูกอยู่ในพื้นที่ 6 หมู่บ้านของ ต.น้ำพุ ประกอบด้วย หมู่ 1 บ้านยางอุง หมู่ 2 บ้านน้ำพุ หมู่ 3 บ้านนายาว - ดอนสร้อยทอง หมู่ 4 บ้านดอนทราย หมู่ 5 บ้านหนองต้อ และหมู่ 6 บ้านควนใหม่ โดยมีการควบคุมการปลูกพืชกระท่อมอย่างเข้มงวด ติดบาร์โค้ดทำข้อมูลทุกต้น และมีการกำหนดกติกาประชาคมระดับตำบลควบคุมกันเองอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งชาวบ้านรอคอยให้การปลดล็อกพืชกระท่อมมานาน ที่ผ่านมาได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการศึกษาวิจัยพืชกระท่อม เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ หลังจากนี้จะส่งรายงานการวิจัยไปที่ ป.ป.ส. ภาค 8 และรายงานต่อ รมว.ยุติธรรม ต่อไป
จากนั้น รมว.ยุติธรรม พร้อมคณะ เดินทางไปดูต้นกระท่อมแฝดอายุกว่า 100 ปี ของนายสุจิน ชูชาติ อายุ 74 ปี ชาวบ้านวังหล้อ ตำบลนาสาร ซึ่งเป็นคนเฒ่าคนแก่ที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับต้นกระท่อมมานาน โดย นายสุจิน เล่าว่า ต้นกระท่อมแฝดนี้อยู่คู่กับชุมชนมาตั้งแต่เกิด และเคยใช้ประโยชน์ในการรักษาโรคปวดท้อง
ขณะที่ นางเพลินพิศ แซ่เขา อายุ 54 ปี บอกว่า ตนป่วยเป็นโรคเบาหวาน จึงต้มน้ำใบกระท่อมกิน ทำให้ระดับน้ำตาลดีขึ้น แต่ยังมีความห่วงใยว่าหากมีชาวบ้านถูกจับกุมคดีครอบครองใบกระท่อมระหว่างรอแก้กฎหมายจะทำอย่างไร ซึ่ง รมว.ยุติธรรมรับปากว่า จะให้ยุติธรรมจังหวัดเข้าไปช่วยดูแลเรื่องการประกันตัว ส่วนในระยะเวลา 3 - 6 เดือนข้างหน้าหากไม่สามารถทำได้ จะนำเงินมาจ่ายให้ประชาชนที่ร่วมกันปลูกและดูแลต้นกระท่อม หรือไม่ก็จะโค่นทิ้ง
รายงานข่าวแจ้งว่า ปัจจุบันมีหมู่บ้านเป้าหมายในพื้นที่ตำบลน้ำพุ จำนวน 6 หมู่บ้าน ผลการสำรวจทั้ง 6 หมู่บ้าน มีครัวเรือน จำนวน 1,920 ครัวเรือน พบครัวเรือนที่มีพืชกระท่อม จำนวน 655 ครัวเรือน พืชกระท่อม จำนวน 1,912 ต้น ได้ดำเนินการควบคุมและติดบาร์โค้ด จำนวน 1,578 ต้น ตัดฟันทำลาย จำนวน 334 ต้น ซึ่งการควบคุมพืชกระท่อมเป็นไปตามธรรมนูญตำบลที่ได้กำหนดไว้ โดยกำหนดให้ครัวเรือนสามารถครอบครองพืชกระท่อมครัวเรือนละไม่เกิน 3 ต้นต่อครัวเรือน นอกจากนี้ยังมีการกำหนดแผนเฝ้าระวังทางสุขภาพ โดยให้ผู้ใช้กระท่อมเข้ารับการตรวจสุขภาพเพื่อเก็บข้อมูลด้านสุขภาวะ จำนวน 588 ราย