MGR Online - ป.ป.ส. เปิดเวทีเสวนารับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ เพื่อยกเลิกพืชกระท่อมจากยาเสพติดให้โทษ
วันนี้ (15 ม.ค.) เวลา 09.00 น. ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม ชั้น 3 โรงแรม เซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่การกระทรวงยุติธรรม (รมว.ยธ.) เป็นประธานเปิดเวที่เสวนารับฟังความคิดเห็นเพื่อยกเลิกพืชกระท่อมจากยาเสพติดให้โทษ โดยมี นายนิยม เติมศสุข เลขาธิการ ป.ป.ส. ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ และภาคประชาชนกว่า 150 ราย ร่วมการเสวนาเพื่อระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติยาเสพติตให้โทษ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... (การยกเลิกพืชกระท่อมจากยาเสพติดให้โทษ) และประกอบการพิจารณาวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายให้มีความสมบูรณ์ต่อไป
สำหรับการเสวนาดังกล่าว นอกจากจะมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากทั้งภาครัฐ ภาคประชาชนและนักวิชาการแล้ว ยังมีเวทีอภิปรายแลกเปลี่ยนความเห็น ในหัวข้อ "หลักการ เหตุผลความจำเป็นในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..) พศ....." โดย นายพิทยา จินาวัฒน์ อตีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม , นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก , นายวชิระ อำพนธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา , รศ.ดร.เอกสิทธิ์ กุมารสิทธิ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ ภก.ดร.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วม
ด้าน นายนิยม กล่าวว่า การจัดเสวนาครั้งนี้สืบเนื่องจาก การลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการดำเนินการ เพื่อยกเลิกพืชกระท่อมจากยาเสพติดให้โทษระหว่างกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงสาธารณสุข เมื่อปลายเดือนธ.ค.62 ที่ผ่านมา เพื่อสร้างความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมในการดำเนินการยกเลิกพืชกระท่อมจากยาเสพติดให้โทษ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการสร้างการรับรู้นโยบายการแก้ปัญหายาเสพติดและกระทรวงยุติธรรมได้มีข้อสั่งการให้ สำนักงาน ป.ป.ส. ยกร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..)พ.ศ. ...โดยมีหลักการสำคัญ คือ การยกเลิกพืชกระท่อมจากยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 และยกเลิกบทกำหนดโทษในความผิดเกี่ยวกับพืชกระท่อม ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522
นายนิยม กล่าวอีกว่า ขั้นตอนการดำเนินการยกเลิกพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษหลังจากการยกร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... คือการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งยังคงเปิดรับฟังความคิดเห็นจนถึงวันที่ 17 ม.ค.2563 และวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายและสรุปผลการรับฟังความคิดเห็น เสนอต่อคณะกรรมกขารป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จากนั้นจะเสนอเข้าไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและตรวจร่างโดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และหากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบจะส่งต่อไปยังรัฐสภา เพื่อตั้งกรรมาธิการพิจารณาต่อไป
ส่วนทาง นายสมศักดิ์ เปิดเผยว่า สำหรับความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ 95 เปอร์เซ็นต์ อยากให้ยกเลิกพืชกระท่อมโดยเร็วที่สุดแต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย ซึ่งในอนาคตพืชกระท่อมสามารถนำไปต่อยอดพัฒนาเป็นยาแก้ปวดและลดอาการปวดได้สูงถึง 13 -17 เปอร์เซ็นต์ของการใช้มอร์ฟีน หากไปใช้ในอุตสาหกรรมยาจะได้ประโยชน์อย่างมาก แต่ทั้งนี้พืชกระท่อมยังไม่ได้ถูกถอดออกจากยาเสพติดประเภท 5 ต้องรอให้ผ่านกฎหมายเสียก่อน
นายสมศักดิ์ เผยอีกว่า สำหรับคดีที่เกี่ยวข้องกับพืชกระท่อมในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนกว่า 50,000 คดี เป็นการดำเนินคดีทั้งส่งเข้าเรือนจำและปรับเงิน โดยต้องเสียงบประมาณต่อคดีๆละ 20,000 บาท รวมทั้งสิ้นใช้งบฯไปกว่า 1,000 ล้านบาท รวมทั้ง บุคลากร ตำรวจ อัยการ ศาล ซึ่งหากยกเลิกพืชกระท่อมเป็นยาเสพติดจะลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ป.ป.ส. ได้ขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทดลองปลูกพืชกระท่อมแบบควบคุมในพื้นที่ ต.น้ำพุ อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี จำนวนหลาย 1,000 ต้น เพื่อเป็นกรณีศึกษาไว้แล้ว