MGR Online - ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ความผิด “ไซซะนะ แก้วพิมพา” ผู้ต้องหายาเสพติดรายใหญ่ชาวลาว ร่วมกับพวกนำยาบ้า 1.2 ล้านเม็ดเข้ามาในไทย แต่ให้คงโทษจำคุกตลอดชีวิตตามศาลชั้นต้น
ที่ห้องพิจารณาคดี 905 ศาลอาญา เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 19 ธ.ค. ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ อย.1642/2560 ที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดียาเสพติด 10 เป็นโจทก์ฟ้องนายไซซะนะ แก้วพิมพา (Xaysana Keopimpha) อายุ 43 ปี นักค้ายาเสพติดรายใหญ่ชาว สปป.ลาว เป็นจำเลยในความผิดฐานสมคบกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และได้มีการกระทำเกี่ยวกับยาเสพติด, ร่วมกันนำเข้ายาบ้าซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1 เพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันมียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกซึ่งอยู่ที่ สปป.ลาว รวมกันทำหน้าที่จัดหายาเสพติด รวมทั้งรถยนต์สำหรับซุกซ่อน และรถยนต์นำทางในการขนลำเลียงยาเสพติด โดยมีพวกของจำเลยที่อัยการได้ยื่นฟ้องเป็นคดีต่อศาลอาญาไว้แล้วรวม 6 คน ร่วมกระทำผิดในการทำหน้าที่ขับรถรับยาเสพติดจาก สปป.ลาวเข้ามาในประเทศไทยเพื่อส่งต่อ พวกจำเลยได้มีการขับรถนำทางและสำรวจเส้นทางเพื่อตรวจสอบว่ามีด่านของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือไม่ ก่อนที่จะประสานติดต่อกันเพื่อส่งมอบยาให้กับเครือข่ายยาเสพติดทางภาคใต้ของไทยและประเทศมาเลเซีย
โดยเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2559 จำเลยกับพวกที่ถูกยื่นฟ้องแล้ว และอีกหลายคนที่หลบหนี ร่วมกันนำยาบ้าจำนวน 1.2 ล้านเม็ดจาก สปป.ลาว ซุกซ่อนในช่องลับใต้หลังคารถยนต์ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง จ.หนองคาย เข้ามาในไทย โดยตำรวจสามารถจับกุมเครือข่ายจำเลย พร้อมยึดยาของกลางได้ กระทั่งขยายผลการจับกุมพวกจำเลยอีกส่วนที่อัยการได้ยื่นฟ้องเป็นคดีไว้แล้ว ก่อนจะจับกุมจำเลยได้เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2560 เหตุเกิดที่ สปป.ลาว, ด่านตรวจคนเข้าเมือง จ.หนองคาย, ด่านตรวจยาเสพติดสีคิ้ว จ.นครราชสีมา, ด่านตรวจยาเสพติดบ้านพละ จ.ชุมพร และลานจอดรถโรงแรมคริสตัน จ.สงขลา ชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพ คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 20 มี.ค.61 ลงโทษบทสูงสุดฐานนำเข้ายาเสพติดเข้ามาในราชอาณาจักร ให้ประหารชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี ลดโทษ 1 ใน 3 ให้จำคุกจำเลยตลอดชีวิตโดยในวันนี้ศาลเบิกตัวนายไซซะนะ จำเลยมาจากทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง มารับฟังคำพิพากษา
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันเเล้วเห็นว่า จำเลยได้อุทธรณ์เรื่องการทำงานระหว่างประเทศไทยและประเทศลาวนั้น อาจจะมีความคลาดเคลื่อนเรื่องภาษาและความเข้าใจ โดยศาลมองว่าการทำคดีนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน พนักงานสอบสวนต้องทำงานอย่างรอบคอบอยู่แล้ว และระหว่างดำเนินคดีมีล่ามและทนายเข้าร่วมโดยตลอดตามหลักกฎหมาย หากเกิดการไม่เข้าใจ หรือสถานฑูตมีข้อสงสัยสามารถสอบถามจากทางล่ามได้
ส่วนเรื่องที่นายไซซะมะ จำเลยอุทธรณ์ว่าในระหว่างวันที่ 18-30 ก.ย. 2559 จำเลยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องการรับโอนเงินจากการค้ายาเสพติด ซึ่งโจทก์มีพยานเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเบิกความว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการจับกุมนายทรรศพล พลธี จำเลยในคดีหมายเลขดำที่ อย.5837/2559 ของศาลนี้ ขณะขนลำเลียงยาเสพติดโดยใช้รถตู้ที่นายทรรศพลเป็นผู้ขับ พร้อมพวกรวม 6 คน และจากการตรวจค้นตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนซุกซ่อนอยู่ เมื่อนายทรรศพล ลำเลียงยาเสพติดเข้ามาในราชอาณาจักรไทย เพื่อส่งมอบแก่ลูกค้าอันเป็นการการะทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน การกระทำของนายไซซะนะจำเลย จึงเป็นความผิดฐานเป็นผู้สมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ข้อต่อสู้ของจำเลยไม่มีน้ำหนักเพียงพอมาที่จะหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 8 วรรคสอง
ส่วนที่จำเลยได้อุทธรณ์ว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดนอกราชอาณาจักร แต่เห็นว่าการค้ายาเสพติดดังกล่าวมีความประสงค์ให้เกิดความผิดขึ้นในราชอาณาจักร ประกอบกับมีร่วมกระทำความผิดเป็นคนไทย จำเลยจึงต้องรับโทษในราชอาญาจักรไทย ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 5 (1) (2)
แต่สำหรับความผิดฐานร่วมกันนำเมทแอมเฟตามีนของกลางเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย และร่วมกันนำเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้น ปรากฏว่าตามคำของโจทก์มิได้บรรยายว่าจำเลยได้ร่วมกระทำความผิดดังกล่าวด้วย กรณีจึงไม่อาจพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานร่วมกันนำเมทแอมเฟตามีนของกลางเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย และร่วมกันนำเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เพราะเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยที่แม้จะไม่มีคู่ความใดอุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3
พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 5 (1) (2), มาตรา 8 วรรคสอง, พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), มาตรา 65 วรรคสอง, มาตรา 66 วรรคสาม และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ส่วนโทษนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามศาลชั้นต้น ซึ่งพิพากษาให้จำคุกนายไซซะนะ จำเลยไว้ตลอดชีวิต