xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ส.ตรวจโครงการ ผลิตกัญชาทางการแพทย์ “รพ.พระอาจารย์ฝั้น-มทร.อีสาน” ปลื้มได้มาตรฐาน อย.

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



ป.ป.ส.ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมกระบวนการผลิตกัญชาทางการแพทย์ “รพ.พระอาจารย์ฝั้น-มทร.อีสาน สกลนคร” ระบุ รักษาอาการข้างเคียงโรคมะเร็งได้เท่านั้น มาตรการรักษาความปลอดภัยเป็นขั้นตอน ตามมาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

วันนี้ (17 ธ.ค.) เวลา 10.00 น. ณ โรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) พร้อมด้วย นายมานะ ศิริพิทยาวัฒน์ ผู้อำนวยการกองกฎหมาย ป.ป.ส. ร่วมรับฟังบรรยายสรุปหัวข้อ “กระบวนการผลิตยากัญชา การนำมาใช้ในทางการแพทย์ และ การกระจายไปยัง ร.พ.นำร่อง 25 แห่ง” และ ศึกษาดูงานคลินิกกัญชาทางการแพทย์ การคัดกรองวินิจฉัยผู้ป่วย รวมถึงการแปรรูปต้นกัญชาสู่ยารักษาโรค โดยมี พ.ญ.กัญญาภัค ศิลารักษ์ แพทย์ชำนาญการพิเศษ รักษาการในตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

พ.ญ.กัญญาภัค เปิดเผยว่า โรงพยาบาลพระอาจาร์ฝั้น อาจาโร เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 90 เตียง ดูแลประชากรทั้งสิ้นกว่า 80,000 คน มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 14 แห่ง เปิดบริการคลินิกแพทย์แผนไทยและงานผลิตยาสมุนไพรเมื่อปี 2530 มีบุคลากรประมาณ 300 คน โดยโรงพยาบาลได้รับมอบภารกิจเป็นคลินิกกัญชาทางการแพทย์ และ ผลิตตำรับยาสมุนไพรจากกัญชา

“ส่วนผู้ป่วยเชื่อว่ารักษาโรคมะเร็งได้นั้นเป็นเพียงแค่การรักษาอาการข้างเคียงของโรคดังกล่าว เช่น ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ เป็นต้น เพราะยากัญชามีส่วนผสมที่ช่วยให้ผู้ป่วยเจริญอาหารหรือทำให้นอนหลับง่ายขึ้นแต่ยังไม่สามารถรักษาโรคมะเร็งได้ โดยผู้ป่วยจะมีการประเมินผลจากการติดตามทุก 4 เดือน เพื่อนำไปใช้ในงานศึกษาวิจัย สำหรับผู้ป่วยที่คาดว่าจะใช้ยาเกินขนาดนั้น ซึ่งปริมาณยาแต่ละชนิดจะให้ตามกำหนดไม่สามารถใช้เกินขนาดได้ และจะมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบ เมื่อผู้ป่วยเดินทางมาพบแพทย์ตามนัดหมาย”

ด้าน นายนิยม กล่าวว่า วันนี้เป็นการเยี่ยมโรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่ขออนุญาตนำกัญชาจากของกลางหรือกัญชาสดที่ปลูกมาแปรรูปเป็นยารักษาโรค ซึ่งวิธีการรักษาผู้ป่วยจากยาที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมมี 3 กลุ่ม คือ 1.กระทรวงสาธารณสุข องค์กรเภสัชกร ผลิตเพื่อบำบัดรักษา 4 โรคเฉพาะ 2.โรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ผลิตยาแพทย์แผนไทย 16 ตำรับ และ 3.น้ำมันกัญชาสูตร อ.เดชา อยู่ระหว่างศึกษาวิจัย ในส่วนโรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร นั้นได้มีผู้ป่วยเข้ามารักษาประมาณ 300-400 ราย และเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มีความพึงพอใจหลังเข้ารับการรักษาอาการต่างๆ เกี่ยวกับการใช้ 16 ตำรับยาบำบัดรักษาโรค แต่ก็ต้องมีพัฒนาสร้างมาตรฐานกลางในค่า THC หรือ CBD ต่อไป

นายนิยม กล่าวอีกว่า สำหรับการตรวจเยี่ยมอาคารผลิตยาสมุนไพรนั้น พบว่า มาตรการรักษาความปลอดภัยเป็นไปตามขั้นตอน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทั้ง สถานที่มีความสะอาด การป้องกันเชื้อโรค การบรรจุภัณฑ์ การผสมยาสมุนไพรตามมาตรฐาน อีกทั้ง การขนส่งกัญชาจากแหล่งปลูกมายังโรงพยาบาลยังมีการกำหนดการปลูก การเก็บเกี่ยวและการแปรรูปตามมาตรฐาน แต่ก็ยังมีขั้นตอนที่น่าเป็นกังวลในช่วงการขนส่งวัตถุดิบก่อนนำมาแปรรูปเป็นยารักษาโรค รวมถึง ยังมีแหล่งผลิตสารสกัดจากกัญชาที่ไม่ได้มาตรฐาน หากนำไปใช้อาจเกิดอันตราย เพราะมีสิ่งปนเปื้อนจึงให้ประชาชนศึกษาข้อมูลก่อนนำไปใช้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจถูกตรวจปัสสาวะจากฝ่ายปกครองและพบค่า THC หรือ CBD นั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องประสานข้อมูลของผู้ป่วยเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาและสามารถใช้ยากัญชาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เลขาธิการ ป.ป.ส. พร้อมคณะ เข้าเยี่ยมชมอาคารผลิตกัญชาเพื่อทางการแพทย์ ดูกระบวนการขั้นตอนการผลิตตั้งแต่ การนำกัญชาสดมาส่ง ชั่งน้ำหนักตามมาตรฐาน ก่อนนำไปอบแห้ง จากนั้น เข้าเครื่องบดให้ละเอียด นำไปผสมกับยาสมุนไพรตามตำรับยาแต่ละชนิด ต่อมา เตรียมนำเข้าบรรจุภัณฑ์ซอง โดยมีการทดสอบคุณภาพก่อนนำไปใช้กับผู้ป่วย

ต่อมา เวลา 13.30 น. ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการ ป.ป.ส. พร้อมคณะ เข้ารับฟังบรรยายสรุปการปลูกกัญชา ของมหาวิทยาลัยฯที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกกัญชา รวมทั้งเข้าชมโรงเรือนปลูกกัญชาสายพันธ์หางกระรอกและสายพันธ์หางเสือ ขนาด 500 ตารางเมตร สาธิตวิธีการส่องไตรโคมต้นกัญชา ตัดช่อดอก และ ปล่อยแมลงกำจัดศัตรูพืช โดยมี รศ.ดร.โฆษิต ศรีภูธร รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตสกลนคร เป็นผู้ชี้แจง

นายนิยม กล่าวว่า หลังมีการผ่อนปรนให้ใช้กัญชาในทางการแพทย์จากองค์ความรู้เดิมจะปลูกกัญชาตามวิถีชาวบ้าน โดยทางมหาวิทยาลัยมีสถานที่ที่ปลอดภัย สามารถทำวิจัยและพัฒนาการเติบโตแต่ละช่วงเวลาเพื่อนำไปใช้ประโยชน์สูงสุด พร้อมส่งเสริมด้านเศรษฐกิจในอนาคต ทั้งนี้ รัฐบาลได้เปิดโอกาสให้หน่วยงาน อาทิ โรงพยาบาลหรือสถานศึกษาทำหน้าที่ศึกษาวิจัยก่อนเปิดกว้างเพื่อระดมความรู้ สร้างมาตรฐานและจดสิทธิบัตรเพื่อนำไปใช้ในทางการแพทย์ให้ได้ประโยชน์กับประเทศชาติ

“ส่วนมาตรฐานการดูแลมีความปลอดภัยของมหาวิยาลัยนั้น ค่อนข้างรัดกุมมีการสแกนนิ้ว คัดกรองบุคคลเข้าออก แบ่งสัดส่วนการปลูก ฯลฯ โดยในอนาคตการใช้กัญชาสำหรับทางการแพทย์จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. ใช้ภายในประเทศ โดยกระทรวงสาธารณสุขมีจำนวนสถิติผู้ป่วยและสามารถจำกัดปริมาณกัญชาไปใช้กับผู้ป่วยได้ และ 2. ใช้ทางการแพทย์เพื่อส่งออกไปต่างประเทศ ซึ่งอาจติดเงื่อนไข UN ระหว่างประเทศผู้ผลิตและผู้ขายในการอนุญาตจำหน่าย ต้องหาทางแก้ไขต่อไป”

ด้าน รศ.ดร.โฆษิต เผยว่า สำหรับมหาวิทยาลัยขออนุญาตปลูกต้นกัญชา 500 ต้น โดยการปลูกสามารถนำไปพัฒนางานด้านการวิจัย บริหารจัดการและเกิดนวัตกรรมใหม่ไม่มีสารตกค้างเหมาะแก่การทำยาสมุนไพร ซึ่งต้องดูแลทุกวันและทุกขั้นตอน รวมถึงควบคุมระบบอุณหภูมิและกำจัดศัตรูพืชด้วยวิธีธรรมชาติ และหลังจากเพาะเมล็ดประมาณ 3 เดือนจะเริ่มเก็บใบ อย่างไรก็ตาม การรวมกลุ่มรัฐวิสาหกิจในอนาคตนั้นทำไม่ยากเพราะสายพันธ์หางกระรอกและหางเสือเหมาะแก่การปลูกในท้องที่อยู่แล้วสามารถพัฒนาต่อยอดได้ โดยมองว่ากัญชาปลอดภัยจะเป็นสะพานเชื่อมไปยังยาสมุนไพรตัวอื่นๆ ที่มีคุณภาพ










กำลังโหลดความคิดเห็น