xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวลึกปมลับ : นับถอยหลังแบนสารพิษ 1 ธ.ค. ใครตุกติก ยื้อเวลาอีก 6 เดือน?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



รายการ “ข่าวลึก ปมลับ” ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมือง และกระบวนการยุติธรรม วันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน 2562 ตอน นับถอยหลังแบนสารพิษ 1 ธ.ค. ใครตุกติก ยื้อเวลาอีก 6 เดือน?   
 


นับถอยหลัง เส้นตาย แบนสารเคมีพิษ 3ชนิด คือ   พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดก่อนหน้านี้ ที่มีมติเมื่อ 22ตุลาคม    ให้แบนสารเคมีพิษทั้งสาม โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่1 ธ.ค.นี้

ตอนนี้พบว่า ฝ่ายที่ไม่ต้องการให้แบนสารพิษ ยังไม่ยอมยุติง่ายๆ แม้กระบวนการฟ้องคดีเพื่อระงับมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่เคลื่อนไหวผ่าน  เครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง พร้อมด้วยเครือข่ายเกษตรกร 6 จังหวัด

ที่ไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ ศาลปกครองมีคำสั่งให้ยกเลิกมติดังกล่าว แต่สุดท้าย ศาลปกครองกลางก็มีคำสั่งเมื่อ1 พ.ย.ไม่รับคำร้องไว้พิจารณา      

กลุ่มผู้ไม่ยอมให้มีการแบนสารพิษ ที่เคลื่อนไหวผ่านกลุ่มต่างๆ โดยมีกลุ่มผลประโยชน์อยู่เบื้องหลัง ก็ยังไม่ยอมยกเลิกความพยายามยามยื้อการแบนสารเคมีพิษออกไป

โดยอ้างเรื่องผลกระทบกับเกษตรกรสารพัด เช่นการไม่สามารถหาสารทดแทนได้ หรือหากจะใช้สารตัวอื่นหรือจะทำเกษตรอินทรีย์ ก็ต้องมีค่าใช้จ่าย ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และทำให้ได้ผลผลิตที่น้อยลง จะ ส่งผลให้ราคาขายสินค้าเกษตรจะแพงขึ้น  ไม่มีสินค้าส่งออกได้ จะเกิดผลกระทบทั้งระบบ

จากนั้นก็มีการยกเหตุผลต่างๆ มาประกอบอีกมากมาย เช่น กลุ่มเกษตรกร ที่ยังใช้สารเคมีไม่หมด ยังอยู่ในสต็อกของตัวเอง จะทำอย่างไร หากจะทำลาย ก็ต้องมีต้นทุนการทำลายที่สูง ครั้นจะให้รัฐ ออกเงินค่าทำลาย ก็ทำไม่ได้เพราะระเบียบ ข้อกฎหมาย ไม่เปิดช่องให้ทำได้  

รวมถึงข้ออ้างในเชิงวิชาการและการค้าโลกที่อ้างว่ากรอบเวลาที่ให้การแบนสารพิษมีผลตั้งแต่ 1ธ.ค. อาจก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามกรอบเวลาความตกลงในองค์กรการค้าโลก

ซึ่งมีระยะเวลา 60 วันในการแจ้งครอบครอง และเพื่อรองรับการคืนผลิตภัณฑ์สารเคมี ที่ไทยนำเข้าจากต่างประเทศ  รวมทั้งการจัดส่งไปยังประเทศต้นทางหรือประเทศที่สาม

สรุปคือว่า กลุ่มคัดค้านการแบนสารพิษ ไม่ยอมง่ายๆ ยังพยายามดิ้นสู้ทุกทาง เพื่อยื้อเรื่องนี้ออกไปให้นานที่สุด โดยทำผ่านการเคลื่อนไหวต่างๆ เช่นการจัดตั้งสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย  เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านต่อฝ่ายรัฐบาล รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง

และมีข่าวว่ามีการจัดตั้งม็อบเกษตรกรฯ เข้ามายื่นหนังสือประท้วงในช่วงสัปดาห์นี้ ผ่านการยื่นเงื่อนไข สถานเดียว คือ ให้ล้มมติกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อ  22ต.ค.

ก็คือ ยังคงให้ใช้สารเคมีทั้งสามชนิดได้อีกต่อไป ไม่ต้องมีการแบน โดยอ้างเหตุเป็นความต้องการที่แท้จริงของเกษตรกรทั่วประเทศ กว่า 1.5 ล้านราย ที่เห็นว่า หากมีการแบนสารเคมีทั้งสามชนิด จะเกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง เกือบ 2 ล้านล้านบาท

แต่ที่เป็นประเด็นและมีน้ำหนักมากที่สุด ในการพยายามจะยื้อการแบนสารพิษ ก็คือท่าทีของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่ง มาหางโผล่เอาตอนท้ายๆ ก่อนใกล้ถึงเส้นตายแบนสารพิษ

นั่นก็คือกรมวิชาการเกษตร ซึ่งจริงๆ จะพบว่าผู้บริหารในกรมวิชาการเกษตร ก็มีท่าทีไม่ต้องการให้มีการแบนสารพิษตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว เพราะ ทั้งสามสาร ที่ได้ใช้กันมานานหลายปี ก็มาจากการเห็นชอบ ของกรมวิชาการเกษตร ตั้งแต่ยุคอดีต

แต่ตอนหลัง คนในกรมวิชาการเกษตร ต้านทาน การเอาจริงของ มนัญญา รมช.เกษตรฯ ที่กำกับดูแล กรมวิชาการเกษตรไม่ได้ เลยต้องไหลไปตามน้ำ ตามฝ่ายการเมืองในกระทรวงเกษตรฯ และฝ่ายรัฐบาล

เมื่อ ถึงเวลาใกล้งวดเข้ามาทุกที กรมวิชาการเกษตร ก็ออกลาย พยายามจะขอยื้อเรื่องนี้
ด้วยการทำข้อเสนอเรื่องการยืดเวลาบังคับใช้ในการจัดเก็บคืนสารเคมีวัตถุอันตรายทางการเกษตร 3ชนิด ออกไปอีก180วัน หรือ 6เดือน

โดยนำเสนอต่อคณะทำงานพิจารณามาตรการเยียวยาผลกระทบเกษตรกรหลังเลิกใช้3สาร ที่มี ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน  อ้างว่ามีสตอกเหลือกว่า2.8หมื่นตัน หลังจากที่มีการประกาศแบน3สาร วันที่1ธ.ค.62

กรมวิชาการเกษตร ได้ทำเรื่องส่งถึงปลัดกระทรวงเกษตรฯ ในวันที่  22พ.ย. เสมือนเป็น ไม้สุดท้าย ในการยื้อแบนสารพิษ

ทั้งที่ก่อนหน้านั้นวันเดียวกันคือวันศุกร์ที่  22พ.ย. รมช.เกษตรและสหกรณ์ มนัญญา ไทยเศรษฐ์ ได้เรียกประชุมสารวัตรเกษตรทั่วประเทศกว่า300คน ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติในทุกขั้นตอนการจัดเก็บ3สารเคมี

โดย รมช. มนัญญา ได้ถามย้ำถึง3รอบ เพื่อขอความมั่นใจและต้องการรับฟังปัญหาจาก สารวัตเกษตรทั่วประเทศถึงขั้นตอนหลังมีการแบนสารพิษ  1  ธ.ค. โดยเฉพาะการจัดเก็บสารเคมี ที่ต้องทำทันทีในการแจ้งครอบครองสาร15วันและส่งมอบคืนใน15วัน 

วันประชุมดังกล่าว สารวัตเกษตร และผู้บริหารของกรมวิชาการเกษตร ต่างบอกไม่มีปัญหาในการดำเนินการ แต่สุดท้าย กลับมีการตลบหลัง รัฐมนตรี ด้วยการทำเรื่องขอให้ยื้อการแบนสารพิษออกไปอีกหกเดือน

ทั้งที่ก็เป็นกรมวิชาเกษตรนี้แหละที่ออก ประกาศคำสั่งกรมวิชาการเกษตรที่ 1511/2572 เรื่อง การแจ้งการครอบครองและการส่งมอบสารเคมี 3 ชนิดที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติยกเลิกใช้ ซึ่งได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาอย่างเป็นทางการ  

ให้ผู้ที่ครอบครองต้องแจ้งกรมวิชาการเกษตรภายใน 15 วันหลังจากประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 จากนั้นต้องส่งมอบภายใน 15 วันเพื่อทำลาย

 การใช้สารพัดวิธีการเพื่อยื้อการแบนสารพิษ แสดงให้เห็นถึงว่า เดิมพันเรื่องนี้ แม้ดูเหมือนทุกอย่างจะจบแล้ว แต่กลับไม่จบง่ายๆ เหมือนกับมีความพยายาม ทิ้งดาบเล่มสุดท้าย เพื่อขวางการแบนสารพิษออกไปอีก

 

จนทำให้ ที่คิดว่ากันว่า ตั้งแต่ 1 ธ.ค. สารเคมีพิษ ทั้งสามชนิด จะถูกแบนเด็ดขาดในประเทศไทย เป็นของขวัญปีใหม่ต่อสุขภาพคนไทย สุดท้าย อาจเป็นของขวัญ ที่ไม่ถูกเปิดกล่องในวันที่1 ธ.ค.นี้


กำลังโหลดความคิดเห็น