MGR Online "สมศักดิ์" เผยความคืบหน้าคดีการเสียชีวิตของ "โทโมโกะ คาวาชิตะ" เผยเก็บดีเอ็นเอของพี่สาวร่วมบิดา มารดาเดียวกันกับผู้ต้องสงสัย จำนวน 2 คนและบุตรชายของผู้ต้องสงสัย 1 คน พบนัยสัมพันธ์เกี่ยวข้อง
สืบเนื่องจากคดีการเสียชีวิตของ น.ส.โทโมโกะ คาวาชิตะ นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นซึ่งเสียชีวิต เมื่อวันที่ 25 พ.ย.50 จ.สุโขทัย ซึ่งต่อมาพนักงานสอบสวน สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ขอความร่วมมือสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ให้ดำเนินการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานในคดี ตั้งแต่เดือนธ.ค.52 ถึงปัจจุบัน รวม 41 ครั้ง ประกอบด้วยวัตถุพยานจำนวน 29 รายการ บุคคลที่นำมาตรวจเปรียบเทียบ 330 คน นั้น
วันนี้ (20 พ.ย.) เวลา 11.00 น. ที่ห้องรับรองกระทรวงยุติธรรม ชั้น 2 อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (รมว.ยธ.) พร้อมด้วย นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ (สนว.ยธ.) และ พ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แถลงข่าวความคืบหน้าผลการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอคดีการเสียชีวิตของ น.ส.โทโมะโกะ คาวาชิตะ นักท่องเที่ยวญี่ปุ่น ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ จ.สุโขทัย
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากเจ้าหน้าที่ได้ข้อมูลเกี่ยวกับเบาะแสบุคคลต้องสงสัยอาจเป็นฆาตกรคดีดังกล่าวจึงลงพื้นที่เก็บดีเอ็นเอเพิ่มเติม ซึ่งผู้ต้องสงสัยมีพี่สาวในพื้นที่จึงต้องเก็บดีเอ็นเอมาเทียบเคียง โดยเจ้าหน้าที่ได้นำดีเอ็นเอพี่สาว 2 คนและบุตรชายของผู้ต้องสงสัย รวม 3 คนมาเปรียบเทียบกับขอบกางเกงของ น.ส.โทโมโกะ ว่ามีดีเอ็นเอคล้ายกันกี่คู่ ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจมีการต่อสู้กับผู้ต้องสงสัยและมีความเชื่อมโยงกัน เนื่องจากผู้ต้องสงสัยคนดังกล่าวเสียชีวิตตั้งแต่ปี 2553 ไม่มีหลักฐานใดเลย โดยปกติคนทั่วไปมีดีเอ็นเอ 23 คู่ แต่ละคู่มี 2 รหัส ทั้งนี้จากการตรวจสอบของ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ พบว่า พี่สาวคนแรกอายุ 48 ปี มีดีเอ็นเอตรงกัน 7 คู่ แต่ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากบางคู่มีแค่รหัสเดียวและ บางคู่หายไปทั้งหมด ส่วนคนสองอายุ 45 ปี ดีเอ็นเอตรงกัน 10 คู่ แต่ไม่สมบูรณ์เช่นกัน และ ลูกชาย อายุ 17 ปี ดีเอ็นเอตรงกับขอบกางเกง 7 คู่ แต่มี 1 คู่ไม่ตรง จะต้องใช้เทคนิคอื่นเพื่อหาข้อเท็จจริง
"นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการปะปนกับดีเอ็นเอของบุคคลอื่นด้วย ซึ่งอาจเป็นผู้ไม่เกี่ยวข้องใดๆ ผมเชื่อว่าต้องพิสูจน์ต่อไปและให้ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ทำงานต่อเพื่อหาข้อเท็จจริง ขอเวลาประมาณ 1 เดือน โดยกระทรวงยุติธรรมจะไม่ทิ้งคดีนี้แน่นอน และหากถึงที่สุดแล้ว ถ้าประเทศญี่ปุ่นขอดำเนินการต่อก็ยินดีแต่ต้องไม่ขัดกับกฎหมาย" นายสมศักดิ์ กล่าว
ด้าน นางชนิดาภา ศรีหนองหว้า นักนิติวิทยาศาสตร์ชำนาญการ รักษาราชการแทน ผอ.กองสารพันธุกรรม สนว.ยธ. กล่าวว่า ทางสถาบันฯ มีการตรวจดีเอ็นเอตั้งแต่ปี 2552 แต่เทคโนโลยียังไม่ทันสมัยเหมือนกับปัจจุบันที่ได้ตรวจซ้ำอีกครั้งเพื่อให้ได้สารดีเอ็นเอเพิ่มมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมามีแต่วัตถุพยานของ น.ส.โทโมะโกะ อย่างเดียวแต่ไม่มีจากทางฝ่ายผู้ต้องสงสัย และใช้น้ำยาหาดีเอ็นเอแล้วซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการตรวจพิสูจน์ต่อไป ดังนั้น สถาบันฯ จึงได้กำหนดแนวทางในการตรวจพิสูจน์เพิ่มเติมในคดีนี้ต่อด้วยวิธีการไมโทคอนเดรีย ตรวจหาความสัมพันธ์ทางมารดาของพี่สาวทั้ง 2 คนของผู้ต้องสงสัย และ วิธีตรวจหาสารพันธุกรรมบนโครโมโซมเพศชายกับบุตรชายบุคคลผู้ต้องสงสัยเพื่อเปรียบเทียบความสัมพันธ์ทางสายบิดา หากเป็นเครือญาติกันจริงจะมีดีเอ็นเอเหมือนกัน 25 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่ พ.ต.ท.วรรณพงษ์ เผยว่า สำหรับผลการตรวจทางวิทยาศาสตร์เป็นแค่ส่วนหนึ่งในความคืบหน้าของพยานหลักฐานเพิ่มเติมของบุคคลต้องสงสัยเท่านั้น แต่ต้องสืบสวนสอบสวนในทางคดีอีก และยังนำไปใช้ในทางกฎหมายไม่ได้