xs
xsm
sm
md
lg

“อ.ชลิตา” ฟ้อง “ผู้กองปูเค็ม” หมิ่นประมาท กล่าวหายุยงปลุกปั่น แบ่งแยกดินแดน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - “อาจารย์ชลิตา” นักวิชาการคนดังอ้างถูกดูหมิ่นเกลียดชัง จากการที่ “ผู้กองปูเค็ม” กล่าวหายุยงปลุกปั่น มีแนวคิดแบ่งแยกดินแดน หลังอภิปรายแนะแก้ รธน.มาตรา 1 พาทนายยื่นฟ้องต่อศาลข้อหาหมิ่นประมาท

ที่ศาลอาญา เมื่อเวลา 09.00 น. วันนี้ (1 พ.ย.) น.ส.ชลิตา บัณฑุวงศ์ รองหัวหน้าภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ร.อ.ทรงกลด ชื่นชูผล หรือผู้กองปูเค็ม เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328

นายพิสุทธิ์สรุปรายละเอียดในคำฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดต่อโจทก์ 4 กรรม ครั้งที่ 1 วันที่ 2 ต.ค. 62 จำเลยโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “ผู้กองปูเค็ม” เชิญชวนให้คนไปที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในวันที่ 3 ต.ค. 62 เวลา 10.00 น. เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนโจทก์ต่ออธิการบดี กล่าวหาว่าโจทก์กระทำการปลุกปั่น แบ่งแยกดินแดน ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 1 ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 62 จำเลยเฟซบุ๊กไลฟ์ที่มหาวิทยาลัยเกษตร กล่าวหาว่าโจทก์มีแนวคิดเป็นกบฏ ครั้งที่ 3 วันที่ 3 ต.ค. 62 หนังสือร้องเรียนของจำเลย กล่าวหาโจทก์ว่ามีแนวคิดกบฏ แบ่งแยกรัฐ แบ่งแยกดินแดน และครั้งที่ 4 วันที่ 31 ต.ค. 62 จำเลยโพสต์ข้อความว่า “การแอบอ้างเสรีทางวิชาการเพื่อแบ่งแยกแผ่นดินนั้น ควรถูกตัดหัวเสียบประจานจริงไหมชลิตา” การกระทำของจำเลยทั้ง 4 ครั้ง ทำให้โจทก์ได้รับการดูหมิ่นเกลียดชัง เสื่อมเสียชื่อเสียง เพราะโจทก์ไม่มีแนวคิดตามที่จำเลยกล่าวอ้าง ขอให้ศาลรับคำฟ้องไว้เพื่อมีคำพิพากษาต่อไป โดยศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องวันที่ 20 ม.ค. 63 เวลา 13.30 น.

นายพิสุทธิ์กล่าวว่า สำหรับการไต่สวนมูลฟ้องจะใช้ภาพการโพสต์ข้อความของผู้กองปูเค็มเป็นพยานหลักฐานให้ศาลพิจารณา พร้อมนำ น.ส.ชลิตาขึ้นเบิกความในฐานะพยานในการไต่สวนมูลฟ้องด้วย การฟ้องครั้งนี้เป็นเพราะการกระทำของผู้กองปูเค็ม ส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของ น.ส.ชลิตา ที่เป็นอาจารย์มีลูกศิษย์มากมาย ต้องถูกใส่ความทำให้เสียหาย ทำให้ผู้คนทั่วไปหลงเชื่อ ดูหมิ่นเกลียดชัง มีผลต่อความเจริญก้าวหน้าในราชการ และต้องการให้จำเลยได้รับโทษตามกฎหมาย

ด้าน น.ส.ชลิตากล่าวว่า เจตนาของการอภิปรายในวันที่ 28 ก.ย. 62 ที่ผ่านมา เป็นการพูดในเรื่องการแก้ปัญหาชายแดนใต้กับรัฐธรรมนูญ เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง อัตลักษณ์ของคนในพื้นที่ การเมืองที่เกี่ยวข้องอย่างไร ต้องปรับอย่างไร แต่ไม่มีข้อเสนอหรือบทสรุปว่าต้องเป็นแบบไหน ปัญหาชายแดนใต้เป็นปัญหาของประเทศ การแก้ไขรัฐธรรมนูญควรเปิดโอกาสให้มีการอภิปรายเพื่อรับฟังความเห็นของประชาชน แต่การนำคำพูดของตนไปตีความในลักษณะการเป็นกบฏ เป็นการตีความจนเลยเถิด สร้างความเกลียดชัง จึงฟ้องเพื่อปกป้องสิทธิ


กำลังโหลดความคิดเห็น