xs
xsm
sm
md
lg

ออกบัตรประชาชนแก่ผู้แอบอ้างโดยไม่ตรวจสอบข้อพิรุธ ผิดวินัยร้ายแรง !

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

“มีบัตร มีสิทธิ” วลีคุ้นหู...ใช่แล้วค่ะ... วันนี้เราจะคุยกันเกี่ยวกับบัตรประจำตัวประชาชน เอกสารราชการที่ออกให้สำหรับคนไทยที่มีชื่อในทะเบียนบ้านเท่านั้น โดยบัตรประชาชนถือเป็นหลักฐานที่แสดงและยืนยันตัวบุคคล ไม่ว่าจะในการทำนิติกรรมหรือดำเนินการใด ๆ รวมทั้งใช้ในการรับสิทธิต่าง ๆ ของทางราชการด้วย ทำให้ผู้ที่ไม่มีคุณสมบัติที่จะมีบัตรประชาชนพยายามหาช่องทางที่จะให้ได้มาซึ่งบัตรดังกล่าว และบางครั้ง... เจ้าหน้าที่ของรัฐเองก็อาจมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำที่ไม่ชอบในการออกบัตรด้วย เช่นคดีที่จะเล่าต่อไปนี้ค่ะ

โดยเรื่องมีอยู่ว่า... เมื่อครั้งผู้ฟ้องคดีรับราชการเป็นเจ้าหน้าที่ปกครอง 3 ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยร้ายแรงเกี่ยวกับการทำบัตรประจำตัวประชาชน เปลี่ยนชื่อ และย้ายที่อยู่ให้แก่ผู้แอบอ้างสวมตัวเป็นบุคคลอื่นโดยมิชอบ จังหวัดจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนและมีมติว่า ผู้ฟ้องคดีกระทำผิดวินัยไม่ร้ายแรง เห็นควรให้ลงโทษลดขั้นเงินเดือน 1 ขั้น แต่ อ.ก.พ. กระทรวงมหาดไทย กลับเห็นว่าพฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ! จึงมีมติให้ลงโทษไล่ออกจากราชการ

อธิบดีกรมการปกครองจึงมีคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่ง
แต่นายกรัฐมนตรียกอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าตนมีหน้าที่เพียงรับคำร้องขอมีบัตรประจำตัวประชาชน
พิมพ์ลายนิ้วมือและถ่ายรูปเท่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่อนุมัติให้ออกบัตรประจำตัวประชาชน อีกทั้งการสอบสวนทางวินัยก็มีความล่าช้าไม่เป็นไปตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ จึงขอให้ศาลปกครองเพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการและคำสั่งยกอุทธรณ์ดังกล่าว

คดีมีประเด็นที่น่าสนใจอยู่ 2 ประเด็น คือ

1. การดำเนินการสอบสวนทางวินัยล่าช้า ไม่แล้วเสร็จภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยมีเหตุให้ต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนชุดใหม่ ความล่าช้าดังกล่าวจะส่งผลให้คำสั่งลงโทษทางวินัยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ?

2. พฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ในการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่บุคคลผู้ไม่มีสิทธิ ทั้งที่พบข้อพิรุธ แต่กลับไม่ตรวจสอบเอกสารหลักฐานให้ชัดเจน เป็นความผิดวินัยร้ายแรงหรือไม่ ?

จากพยานหลักฐานทั้งหมด ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาว่า ตามที่จังหวัดได้มีหนังสือถึงกรมการปกครองแจ้งผลการสอบสวน และกรมการปกครองได้มีหนังสือแจ้งกลับว่ากระบวนการสอบสวนไม่ถูกต้องตามกฎ ก.พ. ฉบับที่ 18 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา (ใช้บังคับขณะเกิดข้อพิพาท) จึงให้คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการให้ถูกต้อง และขอให้ทำการตรวจสอบเพิ่มเติมตามประเด็นที่กำหนดด้วย

จังหวัดจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนชุดใหม่เพื่อดำเนินการแก้ไขสำนวนการสอบสวนเดิมและสอบสวนเพิ่มเติม เพราะคณะกรรมการสอบสวนชุดเดิมได้ย้ายไปรับราชการที่อื่นบ้าง เสียชีวิตบ้าง และออกจากราชการไปแล้วก็มี ต่อมา คณะกรรมการสอบสวนชุดใหม่ก็ได้ดำเนินการแก้ไขสำนวนการสอบสวนให้ถูกต้องครบถ้วน โดยใช้ระยะเวลาในการสอบสวนทั้งหมดเกือบ 2 ปี

ศาลเห็นว่า...การที่คณะกรรมการสอบสวนมิได้ทำการสอบสวนภายในระยะเวลาตามกฎ ก.พ. ฉบับดังกล่าวกำหนดไว้ ซึ่งข้อ 12 ของกฎ ก.พ.ฯ ดังกล่าว กำหนดเพียงว่า หากการสอบสวนในเรื่องใดคณะกรรมการสอบสวนดำเนินการไม่แล้วเสร็จภายใน 270 วัน ให้ประธานกรรมการรายงานให้ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนรายงานเหตุให้ อ.ก.พ. กระทรวง ทราบ เพื่อติดตามเร่งรัดการสอบสวนต่อไป เท่านั้น อันเป็นการแสดงให้เห็นว่า หากคณะกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนไม่ทันภายในกรอบระยะเวลาตามที่กำหนด คณะกรรมการก็ต้องมีหน้าที่รายงานให้ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทราบเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

เจตนารมณ์ของบทบัญญัติดังกล่าว ได้กำหนดไว้เพื่อให้คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการสอบสวนตามกรอบระยะเวลาที่วางไว้ อันเป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกกล่าวหาไม่ให้เกิดการประวิงเวลาการดำเนินการสอบสวน แต่การที่มิได้ดำเนินการตามกรอบระยะเวลาที่วางไว้ ก็หามีข้อกำหนดให้การสอบสวนที่ล่าช้าเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันจะส่งผลให้การสอบสวนนั้นเสียไปทั้งหมดไม่
คงบัญญัติไว้ในข้อ 12 วรรคสาม ของ กฎ ก.พ. ฉบับดังกล่าวแต่เพียงว่า ซึ่งเป็นกรณีที่คณะกรรมการต้องรับผิดชอบต่อผู้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเท่านั้น จึงมิได้ทำให้การสอบสวนที่ล่าช้าเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

กรณีจึงมีปัญหาที่จะต้องพิจารณาตามอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีต่อไปเพียงว่า ผู้ฟ้องคดี
มีพฤติการณ์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ ?

เห็นว่า ในประเด็นปัญหานี้ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์โต้แย้งว่า ตนไม่มีอำนาจหน้าที่ในการอนุมัติให้จัดทำบัตรประจำตัวประชาชน มีหน้าที่เป็นเพียงผู้รับคำร้อง และนำผู้ขอมีบัตรให้ไปพบพนักงานสอบสวนซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบหรือให้ผู้ปฏิบัติราชการแทนเป็นผู้พิจารณาอนุมัติเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามคำสั่งอำเภอว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ช่วยเหลือนายณรงค์ ซึ่งมีตำแหน่งผู้ช่วย
นายทะเบียนอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครอง 5) ในงานบัตรประจำตัวประชาชน

แม้ผู้ฟ้องคดีจะมิได้มีหน้าที่ตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างดังกล่าว แต่ผู้ฟ้องคดีก็ดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ปกครอง 3 ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ช่วยเหลืองานบัตรประจำตัวประชาชนโดยตรง ซึ่งจะต้องทราบและถือปฏิบัติตามระเบียบหรือแนวทางปฏิบัติโดยเคร่งครัด ก่อนจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่บุคคลซึ่งได้สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ เจ้าหน้าที่ต้องเรียกดูหนังสือสำคัญการแปลงสัญชาติเป็นไทย และต้องตรวจสอบรวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ ด้วยความละเอียดรอบคอบ ในกรณีสงสัยว่า ผู้ยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนมีสิทธิมีบัตรดังกล่าวหรือไม่ เจ้าหน้าที่ต้องเรียกหลักฐานเพิ่มเติมตามควรแก่กรณีก่อนนำเสนอผู้มีอำนาจพิจารณาอนุมัติ

การที่ผู้ฟ้องคดีได้ดำเนินการเพื่อออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่ผู้ที่ไม่มีสิทธิ ทั้ง ๆ ที่บุคคลดังกล่าวมีเพียงสำเนาภาพถ่ายใบสำคัญถิ่นที่อยู่มาแสดงเป็นหลักฐาน ซึ่งเป็นข้อพิรุธที่ไม่น่าเชื่อถือ และไม่ปรากฏหลักฐานว่าผู้ฟ้องคดีจัดให้มีการรับรองบุคคลดังกล่าวโดยกำนันผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นผู้ปกครองท้องที่ หรือตรวจสอบรวบรวมพยานหลักฐานอื่นประกอบตามระเบียบหรือแนวทางปฏิบัติที่กำหนดไว้

อีกทั้งผู้ฟ้องคดีได้จัดทำคำร้องขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการต่าง ๆ ในทะเบียนบ้านในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ รวมถึงคำขอแบบ ช. 1 และใบสำคัญทะเบียนชื่อตัว ชื่อรอง (แบบ ช. 3) โดยผู้ฟ้องคดีลงลายมือชื่อเป็นผู้เขียนในเอกสารดังกล่าว รวมถึงในใบแจ้งการย้ายที่อยู่ด้วย ซึ่งลักษณะงานที่ผู้ฟ้องคดีเกี่ยวข้องนี้เป็นการทำบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่บุคคลซึ่งได้สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ อันเป็นงานที่ต้องตรวจสอบหลักฐานโดยละเอียดและรอบคอบ แต่ผู้ฟ้องคดีก็หากระทำไม่ ทั้งในภายหลังที่ผู้มีสิทธิทำบัตรประจำตัวประชาชน (ตัวจริง) ซึ่งได้สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติมายื่นคำขอทำบัตรประจำตัวประชาชนก็ปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีได้บ่ายเบี่ยงไม่ดำเนินการให้

จากพฤติการณ์ดังกล่าว แม้ผู้ฟ้องคดีจะอ้างว่าตนไม่มีอำนาจหน้าที่ ก็มิอาจปฏิเสธความรับผิดที่ตนได้กระทำไปในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยเหลืองานบัตรประจำตัวประชาชนตามที่ได้รับมอบหมาย อุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีในประเด็นนี้ฟังไม่ขึ้น เมื่อผู้ฟ้องคดีมิได้อุทธรณ์โต้แย้งว่า ผู้ฟ้องคดีมิได้มีพฤติการณ์การกระทำตามที่ถูกกล่าวหา กรณีจึงต้องฟังว่าผู้ฟ้องคดียอมรับตามคำวินิจฉัยของศาลปกครองชั้นต้นว่า ผู้ฟ้องคดีมีพฤติการณ์การกระทำที่เข้าข่ายการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรง และฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจอาจพิจารณาสั่งลงโทษปลดหรือไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการได้ตามความร้ายแรงแก่กรณี

ฉะนั้น คำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ และคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 1119/2561)

คดีดังกล่าว...ได้วางแนวทางการปฏิบัติราชการที่ดี ดังนี้

1. ในการปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับออกเอกสารราชการที่สำคัญ เช่น บัตรประจำตัวประชาชน โดยเฉพาะการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่บุคคลซึ่งได้สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ อันเป็นงานที่ต้องตรวจสอบหลักฐานโดยละเอียดและรอบคอบ การไม่ดำเนินการตรวจสอบทั้งที่พบข้อพิรุธ เช่น
มีเพียงสำเนาภาพถ่ายใบสำคัญถิ่นที่อยู่มาแสดงเป็นหลักฐาน แต่เจ้าหน้าที่ก็มิได้เรียกหลักฐานเพิ่มเติม และจัดให้มีการรับรองบุคคลดังกล่าวโดยกำนันผู้ใหญ่บ้าน ถือว่าเจ้าหน้าที่จงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการอันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง

2. การดำเนินการสอบสวนล่าช้ากว่าที่กฎหมายกำหนด มิได้ส่งผลให้คำสั่งลงโทษทางวินัยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากกฎหมายมีเจตนารมณ์ให้มีการสอบสวนตามกรอบระยะเวลาที่วางไว้ เพื่อประโยชน์ของผู้ถูกกล่าวหาไม่ให้เกิดการประวิงเวลาการดำเนินการสอบสวน อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ส่งผลต่อคำสั่งลงโทษทางวินัย แต่คณะกรรมการฯ ก็อาจต้องรับผิดชอบต่อผู้ออกคำสั่งแต่งตั้ง

การสอบสวนให้เป็นไปภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนด จึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ถ้าสามารถทำได้ ทั้งนี้ เพื่อความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย... แล้วพบกันใหม่นะคะ...

ปรึกษาคดีปกครองได้ที่สายด่วนศาลปกครอง 1355

ป. ธรรมศลีญ์
กำลังโหลดความคิดเห็น