xs
xsm
sm
md
lg

ระยะปลอดภัย...ระหว่างสถานีบริการเชื้อเพลิงรถ !!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ช่วงนี้ฝนตกหนักในหลายพื้นที่... จะเดินทางไปไหนมาไหนต้องใช้ความระมัดระวังกันมากขึ้นเป็นพิเศษ โดยเฉพาะหากท่านใดมีแผนจะไปท่องเที่ยวก็อาจจะต้องตรวจสอบสภาพอากาศกันให้ดี ซึ่งช่วงนี้รัฐบาลก็มีโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ “ชิมช้อปใช้” ท่านผู้อ่านที่ได้ลงทะเบียนกันไว้แล้ว
คงกำลังเตรียมตัวเดินทางกัน...

พูดถึงการเดินทางออกไปท่องเที่ยว หลาย ๆ คน มักจะต้องนึกถึงปั๊มน้ำมันหรือสถานีบริการเชื้อเพลิง ที่ระหว่างเดินทางเราต้องแวะพักหรือเติมน้ำมันหรือก๊าซเพื่อเดินทางกันต่อไป โดยปัจจุบันเราจะพบว่ามีสถานีบริการก๊าซ LPG และ ก๊าซ NGV เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก

โดย ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (Liquefied Petroleum Gas) หรือที่เราเรียกกันสั้น ๆ ว่า
ก๊าซ LPG นั้น เป็นหนึ่งในก๊าซที่มีการนำมาใช้กับยานพาหนะเพื่อทดแทนการใช้น้ำมัน โดยเมื่อช่วงราวสิบปี

ที่ผ่านมา...ก๊าซดังกล่าวเป็นที่นิยมของผู้ใช้รถเพิ่มขึ้นมาก ทำให้มีธุรกิจสถานีบริการก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม...การตั้งสถานีบริการเชื้อเพลิงต่าง ๆ นั้น จำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และกฎหมายได้กำหนดระยะห่างระหว่างการตั้งสถานีบริการเชื้อเพลิงดังกล่าวไว้ด้วย ทั้งนี้

เพื่อป้องกันมิให้เกิดการกระจายของก๊าซหรือน้ำมันเชื้อเพลิง ตลอดจนเพลิงที่เกิดจากก๊าซหรือน้ำมันเชื้อเพลิงลุกลามไปยังสถานีอีกแห่งหนึ่งในกรณีที่เกิดเพลิงไหม้ขึ้น

เรื่องเกี่ยวกับ “ระยะปลอดภัยในการตั้งสถานีบริการเชื้อเพลิง” ดังกล่าวนี้ ได้เคยเป็นประเด็นพิพาทเข้าสู่การพิจารณาของศาลปกครอง โดยมูลเหตุข้อพิพาทเกิดจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ก.ซึ่งประกอบกิจการบรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการบรรจุก๊าซจากผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ตรวจสอบการใช้ประโยชน์ที่ดินจากสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดแล้ว เห็นว่าการดำเนินการก่อสร้างสถานีบริการก๊าซ LPG ดังกล่าวไม่ขัดต่อการผังเมือง และได้รับอนุญาตจากแขวงการทางให้ดำเนินการเชื่อมทางเข้า – ออก สถานีบริการกับทางหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงอนุญาตให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. ดำเนินการก่อสร้างสถานีบริการก๊าซ LPG ดังกล่าว

ต่อมา...ปรากฏว่ามีชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง จำนวน 75 คน ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัด คัดค้านการอนุญาตให้ก่อสร้างสถานีบริการดังกล่าวเนื่องจากมีระยะห่างกับสถานีบริการน้ำมันที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยผู้ว่าราชการจังหวัดได้แจ้งรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าสถานที่ก่อสร้างสถานีบริการของห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. เป็นไปตามระเบียบกฎหมายและไม่ขัดต่อข้อกำหนดว่าด้วยเรื่อง ลักษณะและระยะปลอดภัยของสถานที่บรรจุก๊าซตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ลงวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๔

ชาวบ้านไม่เห็นด้วยจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนใบอนุญาตให้ก่อสร้างสถานีบริการที่พิพาท

มาถึงตรงนี้... ท่านผู้อ่านคงอยากทราบ “ระยะปลอดภัย” ของสถานที่บรรจุก๊าซตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๘ ลงวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ ซึ่งเป็นกฎหมายเทียบเท่าพระราชบัญญัติ และได้มีการออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดรายละเอียดตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ คือ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๒๙) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๓๑) โดยบัญญัติว่า

“สถานีบริการที่บรรจุก๊าซให้แก่ยานพาหนะทางบกต้องมีระยะห่างจากเขตสถานีบริการแห่งอื่นๆ หรือเขตสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงที่ตั้งอยู่ฝั่งถนนสาธารณะหรือทางหลวง ทางเดียวกันไม่น้อยกว่า ๕๐ เมตร และผนังถังเก็บและจ่ายก๊าซของสถานีบริการต้องห่างจากอาคารของสถานทูต โรงเรียน สถานพยาบาล โรงภาพยนตร์ หรือสนามกีฬาไม่น้อยกว่า ๖๐ เมตร”

ประเด็นที่ศาลต้องพิจารณาคือ การตีความข้อกฎหมายข้างต้นที่ว่า “ฝั่งถนนสาธารณะหรือทางหลวงสายเดียวกัน” นั้น หมายถึง พิจารณาระยะห่างระหว่างสถานีบริการที่อยู่ฝั่งถนนเดียวกันเท่านั้น หรือรวมถึงสถานีบริการที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงกันข้ามด้วย ทั้งนี้ เพราะหากพิจารณารวมถึงฝั่งตรงกันข้ามด้วย สถานีบริการที่พิพาทจะมีรัศมีระยะห่างจากสถานีบริการน้ำมันฝั่งตรงกันข้ามไม่ถึง ๕๐ เมตร ซึ่งจะขัดต่อกฎกระทรวงฯ ดังกล่าว

ข้อเท็จจริงเรื่องนี้...รับฟังยุติว่า สถานีบริการก๊าซ LPG ที่พิพาทนี้ ตั้งอยู่ฝั่งทางหลวงตรงข้ามกับสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง (ปตท.) ซึ่งห่างกันมีระยะเพียง ๓๐ เมตร แต่..ผู้ว่าราชการจังหวัดรวมทั้งเจ้าของสถานีบริการก๊าซ LPG โต้แย้งว่า กฎกระทรวงฉบับดังกล่าวใช้คำว่า “สถานีบริการที่บรรจุก๊าซ...ต้องมีระยะห่างจาก...สถานีบริการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงที่ตั้งอยู่ฝั่งถนนสาธารณะหรือทางหลวงสายเดียวกันไม่น้อยกว่า ๕๐ เมตร” โดยคำว่า “ฝั่งถนนสาธารณะหรือทางหลวงสายเดียวกัน” มีความหมายตามวัตถุประสงค์ในการยกร่างแก้ไขกฎกระทรวงใหม่ คือหมายถึงถนนฝั่งเดียวกันไม่รวมถึงถนนฝั่งตรงข้ามด้วย เพราะหากเจตนารมณ์ของกฎหมายประสงค์จะให้รวมถึงถนนฝั่งตรงข้ามแล้วก็สามารถใช้คำว่า “รัศมี” ตามถ้อยคำเดิมได้ในกฎกระทรวงฉบับก่อน โดยไม่จำเป็นต้องแก้ไขถ้อยคำดังกล่าวแต่อย่างใด

ประเด็นนี้...ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมีความมุ่งหมายให้เขตสถานีบริการก๊าซหรือเขตสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง ไม่ว่าจะตั้งอยู่ฝั่งถนนเดียวกันหรือฝั่งถนนตรงข้าม ย่อมต้องมีระยะห่างกันเพื่อความปลอดภัยไม่น้อยกว่า ๕๐ เมตร ซึ่งมิได้มุ่งหมายเพียงแต่กำหนดระยะห่างของสถานที่ตั้งระหว่างเขตสถานีบริการเชื้อเพลิงเฉพาะที่ตั้งอยู่ฝั่งถนนเดียวกันเท่านั้น

เนื่องจากก๊าซหรือน้ำมันเชื้อเพลิงตลอดจนเพลิงที่เกิดจากก๊าซหรือน้ำมันเชื้อเพลิงมิได้ลุกลามไปตามถนนเฉพาะฝั่งซ้ายหรือฝั่งขวา แต่สามารถลุกลามไปได้ทั้งสองฝั่งของถนนเป็นวงกว้าง จึงจำต้องวัดระยะปลอดภัยรวมถึงถนนฝั่งตรงข้ามด้วย เพื่อป้องกันมิให้เกิดการกระจายของก๊าซหรือน้ำมันเชื้อเพลิงตลอดจนเพลิงที่เกิดจากก๊าซหรือน้ำมันเชื้อเพลิงลุกลามไปยังสถานีบริการเชื้อเพลิงอีกแห่งหนึ่ง มิฉะนั้นแล้วหากเกิดการรั่วไหลลุกลามไปยังสถานีบริการแห่งอื่น ก็จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงสถานีบริการดังกล่าวเพิ่มขึ้นหลายเท่า

เมื่อสถานีบริการก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ที่พิพาท ตั้งอยู่ฝั่งทางหลวงตรงข้ามกับสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง (ปตท.) ซึ่งห่างกันมีระยะเพียง ๓๐ เมตร กรณีจึงถือว่า เขตสถานีบริการก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ดังกล่าว อยู่ห่างจากเขตสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง (ปตท.) โดยมีระยะห่างเพื่อความปลอดภัยน้อยกว่า ๕๐ เมตร จึงขัดกับกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๒๙) ฯ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๓๑) ดังนั้น การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งอนุญาตให้
ห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. (ผู้ร้องสอดในคดี) ก่อสร้างสถานีบริการก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) บริเวณดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย พิพากษาให้เพิกถอนใบอนุญาตที่พิพาท (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่
อส. ๕/๒๕๖๐)

คดีนี้ถือเป็นตัวอย่างคดีสิ่งแวดล้อมที่ศาลปกครองได้ตีความถ้อยคำในกฎหมายตามเจตนารมณ์ของกฎหมายประกอบกับสภาพความเป็นจริงในทางปฏิบัติ และได้วางบรรทัดฐานการปฏิบัติราชการที่ดี เพื่อประโยชน์สาธารณะสูงสุดคือ ความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ โดยสรุปได้ว่า
การพิจารณาระยะห่างของการตั้งสถานีบริการเชื้อเพลิงหรือก๊าซนั้น ต้องพิจารณาทั้งฝั่งถนนเดียวกันและฝั่งตรงกันข้ามด้วย เนื่องจากธรรมชาติของก๊าซหรือน้ำมันเชื้อเพลิงตลอดจนเพลิงที่เกิดจากก๊าซหรือน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น มิได้ลุกลามไปตามถนนเฉพาะฝั่งซ้ายหรือฝั่งขวา แต่สามารถลุกลามไปได้ทั้งสองฝั่งของถนนเป็นวงกว้าง การกำหนดระยะห่างเพื่อความปลอดภัยจึงต้องพิจารณาโดยรอบทุกด้านและทุกฝั่งนั่นเองค่ะ

แล้วพบกับสาระดีดีกันได้ใหม่ในโอกาสหน้า.... ปรึกษาคดีปกครองได้ที่ สายด่วนศาลปกครอง ๑๓๕๕
กำลังโหลดความคิดเห็น