ศาลพิพากษาจำคุกอดีตประธานสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ ฐานฟอกเงินอีกสำนวน รวม 10 กระทง เป็นเวลา 60 ปี แต่จำคุกสูงสุดตามกฎหมาย 20 ปี ส่วนจำเลยที่ 3 ผู้รับเงินโดนจำคุก 3 ปี
วันนี้ (31 ม.ค.) ที่ห้องพิจารณา 903 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีฟอกเงิน หมายเลขดำที่ ฟย.20/2560 ที่พนักงานอัยการคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ฟ้อง นายสวัสดิ์ แสงบางปลา อายุ 80 ปีเศษ อดีตประธานกรรมการบริหารสหกรณ์ออมทรัพย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, น.ส.จิรัชญา หรือไข่เจียว คุณยศยิ่ง อายุ 24 ปีเศษ และ น.ส.ภวิษย์พร หรือชมพู่ ใบเกตุ อายุ 29 ปีเศษ ทั้งสองเป็นชาว กทม. และเป็นคู่รักกัน ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 กรณีจำเลยร่วมกันฟอกเงินสหกรณ์จุฬาฯ 42 ล้านบาท จากการฉ้อโกงเงินประชาชนที่นำมาร่วมลงทุนซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยจำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
คดีนี้สืบเนื่องจากคดีฉ้อโกงประชาชน หมายเลขดำที่ อ.2438/2560 ที่พนักงานอัยการคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 2 เป็นโจทก์ฟ้องนายสวัสดิ์เป็นจำเลย กรณีเมื่อต้นเดือน ม.ค. 2559 - 9 มิ.ย. 2560 ต่อเนื่องกัน จำเลยอาศัยตำแหน่งประธานฯ สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ ชักชวนหลอกลวงประชาชนให้มาลงทุนว่าจำเลยได้รับโควตา หรือการจัดสรรคัดเลือกเป็นตัวแทนจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล เพื่อไปจำหน่ายเอากำไรต่อ โดยจะได้ค่าตอบแทนร้อยละ 1 ต่อเดือน ของจำนวนเงินที่ให้กู้ยืม หรือร้อยละ 12 ต่อปี และเดือนสุดท้ายจะได้รับผลตอบแทนคืนทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ย ทั้งที่ไม่เป็นความจริง จนมีประชาชนหลงเชื่อจำนวนมากนำเงินมาลงทุนทั้งสิ้น 183,730,000 บาท ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343 และ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน
โดยศาลมีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.2438/2560 เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2561 ให้จำคุกนายสวัสดิ์ฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเป็นบทหนักสุด ให้ลงโทษทุกกรรมๆ ละ 5 ปี จำนวน 100 กรรม รวมจำคุก 500 ปี จำเลยรับสารภาพลงโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือกรรมละ 2 ปี 6 เดือน คงลงโทษจำคุกจำเลย ทั้งหมด 200 ปี 600 เดือน (รวม 250 ปี) อย่างไรก็ตาม กฎหมายให้ลงโทษจำคุกสูงสุดไว้ 20 ปี คงจำคุกจำเลยไว้ 20 ปี และจำเลยให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เสียหาย 100 ราย พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
วันนี้ศาลเบิกตัวนายสวัสดิ์จากเรือนจำมาฟังคำพิพากษา ส่วน น.ส.จิรัชญา และ น.ส.ภวิษย์พร ซึ่งได้รับการประกันตัวเดินทางมาศาล
ในชั้นพิจารณาจำเลยที่ 2-3 นำสืบว่า จำเลยที่ 3 คบหากับจำเลยที่ 2 ในฐานะคนรักและอยู่ด้วยกัน ระหว่างนั้นเคยขอยืมเงินจากจำเลยที่ 1 มาใช้ในครอบครัวและลงทุนค้าขาย แต่ไม่ทราบว่าจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 โอนมาให้จะมีจำนวนหลายล้านบาท ขณะที่จำเลยที่ 3 อ้างติดพนันสล็อตออนไลน์ โดยไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 ทำงานที่ไหน ทำงานอะไร และไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 ได้รับโควตาสลากกินแบ่งรัฐบาล ส่วนจำเลยที่ 1 นำสืบอ้างว่า การโอนเงินผ่านบัญชีของจำเลยที่ 2 เป็นการให้จำเลยที่ 3 ยืมเงิน แต่จำไม่ได้ว่าโอนให้กี่ครั้ง และไม่น่าจะโอนถึง 829 ครั้ง
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบหักล้างกันแล้ว เห็นว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 คบหากันฉันชู้สาวมาเป็นเวลานานหลายปี ย่อมมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งจนมีความสนิทสนมและไว้วางใจซึ่งกันและกัน ระหว่างเกิดเหตุมีการโอนเงินจำนวนมากผิดปกติวิสัยซึ่งมีลักษณะการโอนเงินเช่นเดียวกับการที่จำเลยที่ 1 โอนเงินให้แก่ น.ส.เมธวัชร์ หรือพชกร คนมั่น (อายุ 33 ปีเศษ บุคลิกเป็นทอม ซึ่งศาลอาญาพิพากษาเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2560 จำคุก 8 ปี 6 เดือน หลังจากให้การรับสารภาพ) และเกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกันโดยจำเลยที่ 3 อ้างว่านำเงินที่ได้จากจำเลยที่ 1 ไปเล่นการพนัน และใช้จ่ายในครอบครัวข้ออ้างของจำเลยที่ 3 เชื่อถือไม่ได้ พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 โอนเงินที่ได้จากการฉ้อโกงประชาชนและการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ฟอกเงินฯ โดยร่วมกระทำผิดและแบ่งหน้าที่กันทำ
จำเลยที่ 1 โอนส่งต่อเงินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 3 โดยผ่านบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 ซึ่งตกลงยินยอมให้ใช้บัญชีเงินฝากรับโอนเงินดังกล่าว จึงเห็นได้ชัดว่าเป็นการร่วมกันซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของเงินหรือทรัพย์สินนั้น โดยจำเลยที่ 3 รู้ในขณะรับโอนทรัพย์สินนั้นว่าได้จากการกระทำผิดมูลฐาน การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นความผิดตามฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 2 นั้นเป็นเจ้าของบัญชี ไม่ได้รู้จักกับจำเลยที่ 1 โดยตรง และพึ่งรู้จักกับจำเลยที่ 3 ภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความสัมพันธ์ชู้สาวกัน การที่จำเลยที่ 3 ขอใช้บัญชีของจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่าบัญชีเงินฝากของตนนั้นขัดข้อง ก็น่าเชื่อว่าเป็นอุบายของจำเลยที่ 3 หลอกลวงใช้บัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 เพื่อรับโอนจากจำเลยที่ 1 พยานหลักฐานของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 นำเงินจากบัญชีที่ได้รับจากการโอนจากจำเลยที่ 1 ไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ทราบถึงการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 พยานหลักฐานของโจทก์ ที่นำสืบมาไม่อ่านรับฟังลงโทษจำเลยที่ 2 ได้
พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มาตรา 3 (3)(18), มาตรา 5 (1) (2) (3), 9 วรรคหนึ่งและวรรคสอง, มาตรา 60 มีความผิดฐานสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปกระทำผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำผิดฐานฟอกเงินแล้วนะซึ่งเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษฐานร่วมกันฟอกเงินซึ่งเป็นบทหนักที่สุด โดยให้จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 4 ปี
ส่วนจำเลยที่ 1 มีความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรม โดยจำคุกกระทงละ 4 ปี ซึ่งขณะกระทำผิดจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีอำนาจจัดการของสถาบันการเงินตาม พ.ร.บ.ฟอกเงินฯ มาตรา 10 วรรคแรก ซึ่งจะต้องระวางโทษเป็นสองเท่า ดังนั้นจึงให้จำคุกกระทงละ 8 ปี โดยคำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ในชั้นสอบสวน และทางนำสืบของจำเลยที่ 3 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง จึงให้ลดโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 1 ใน 4 โดยให้จำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 6 ปี รวม 10 กระทง จึงจำคุกเป็นเวลาทั้งสิ้น 60 ปี แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วให้จำคุกไว้ทั้งสิ้น 20 ปี ส่วนจำเลยที่ 3 ให้จำคุกมีกำหนด 3 ปี
อย่างไรก็ตาม การกระทำผิดของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้เป็นความผิดต่อเนื่องกับความผิดอาญา ซึ่งเป็นความผิดหลายกรรม โดยศาลพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1 ไว้มีกำหนด 200 ปี 600 เดือน (คดีหมายเลขดำที่ อ.2438/2560) ต้องรวมโทษทุกกระทงในคดีนี้เข้ากับคดีดังกล่าวไว้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 (2) โดยเมื่อคดีดังกล่าวศาลลงโทษแล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 คงจำคุกจำเลยที่ 1 ไว้มีกำหนด 20 ปี ดังนั้นในคดีนี้จึงไม่อาจเพิ่มโทษให้จำเลยได้อีก ส่วนที่โจทก์มีคำขอให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากคดีก่อนหน้านี้ก็ไม่อาจนับโทษต่อได้เช่นกัน จึงให้ยกคำขอในส่วนนี้ ส่วนจำเลยที่ 2 ก็ให้ยกฟ้อง