xs
xsm
sm
md
lg

ขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล แต่เรียก “ค่าเสียหายมากเกินจริง” อย่างเห็นได้ชัด !

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

“ศาลปกครอง” จัดตั้งขึ้นโดยมุ่งหมายให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางปกครองได้โดยสะดวก เรียบง่าย และเสียค่าใช้จ่ายน้อย การฟ้องคดีปกครองจึงไม่บังคับให้ต้องมีทนายความ และโดยหลักก็ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลอีกด้วยนะคะ

อย่างไรก็ตาม... มีคดีปกครองบางประเภทที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 กำหนดให้ผู้ฟ้องคดีต้องชำระค่าธรรมเนียมศาล ซึ่งก็คือในคดีที่มีคำขอให้ศาลสั่งให้คู่กรณีชดใช้ค่าเสียหาย หรือขอปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เช่น คดีฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่หน่วยงานของรัฐกระทำละเมิดจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือฟ้องเรียกร้องให้รับผิดตามสัญญาทางปกครอง

เมื่อพูดถึงค่าเสียหาย... แน่นอนว่าใคร ๆ ก็อยากจะได้รับการชดใช้มาก ๆ ใช่ไหมละคะ ! ด้วยเหตุนี้ คดีปกครองจึงมีการคิดค่าธรรมเนียมศาล เพื่อให้ผู้ฟ้องคดีใช้สิทธิเรียกค่าเสียหายอย่างสมเหตุสมผลและป้องกันการแกล้งฟ้องโดยที่ไม่มีเหตุอันสมควร เพราะถ้าเรียกค่าเสียหายมากผู้ฟ้องคดีก็ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมศาลที่มากขึ้นด้วยนั่นเองค่ะ

โดยค่าธรรมเนียมศาลที่เรียกเก็บดังกล่าว ศาลจะคืนให้ทั้งหมดในกรณีที่ผู้ฟ้องคดีชนะคดี คือศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายเต็มจำนวนที่ผู้ฟ้องคดีขอมาในคำฟ้อง หรือคืนบางส่วนตามส่วนของการชนะคดี หากศาลพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายไม่เต็มจำนวนตามที่ผู้ฟ้องคดีร้องขอมาใน
คำฟ้อง ค่าธรรมเนียมศาลจึงมีลักษณะคล้ายเงินประกันที่กำหนดให้ผู้ฟ้องคดีหรือคู่กรณีมาวางต่อศาล ซึ่งหากแพ้คดีก็จะไม่ได้รับค่าธรรมเนียมศาลคืน ฉะนั้น ในการเรียกค่าเสียหาย ผู้ฟ้องคดีจึงควรเรียกอย่างสมเหตุสมผลตามความเป็นจริงค่ะ

สำหรับอัตราค่าธรรมเนียมศาลในคดีปกครองที่กล่าวมานั้น จะคิดตามบัญชีท้ายประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งปัจจุบันคืออัตราร้อยละ 2 ของทุนทรัพย์ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท สาหรับคดีที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 50 ล้านบาท ทุนทรัพย์ส่วนที่เกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป จะคิดในอัตราร้อยละ 0.1

นอกจากนี้... ในกรณีที่มีการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น ผู้อุทธรณ์จะต้องชำระค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ตามหลักเกณฑ์เดียวกันกับการฟ้องคดีในศาลปกครองชั้นต้นด้วย

แต่ไม่ต้องตกใจไปนะคะ... สำหรับผู้ที่ไม่มีเงินหรือทรัพย์สินเพียงพอที่จะชำระค่าเนียมศาลได้หรือหากชำระค่าธรรมเนียมศาลจะได้รับความเดือดร้อนเกินสมควร ก็สามารถมีคำขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล โดยทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลพร้อมกับคำฟ้องหรือคำอุทธรณ์ หรือยื่นในภายหลังก็ได้ ที่สำคัญคือต้องแสดงข้อเท็จจริงให้ศาลเห็นว่าตนไม่มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะชำระค่าธรรมเนียมศาล หรือหากไม่ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล จะได้รับความเดือดร้อนเกินสมควร ซึ่งศาลจะทำการไต่สวนและหากเห็นว่ามีเหตุตามที่ขอจริง ศาลก็จะมีคำสั่งยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลให้ทั้งหมดหรือเฉพาะบางส่วนก็ได้ค่ะ

ในกรณีที่ศาลยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลให้ทั้งหมดถือเป็นที่สุด แต่หากศาลปกครองชั้นต้นยกเว้นให้เฉพาะบางส่วนหรือมีคำสั่งยกคำขอ ผู้ยื่นคำขอสามารถยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคำขอนั้นใหม่เพื่ออนุญาตให้ตนนำพยานหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติม หรือจะยื่นอุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อศาลปกครองสูงสุดก็ได้ อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งนี้ตามมาตรา 45/1 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ประกอบข้อ 41/1 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543

วันนี้... ผู้เขียนมีคดีที่ผู้ฟ้องคดีขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมด จากค่าเสียหายที่เรียกเป็นจำนวนมาก คือเป็นหลักพันล้านเลยทีเดียว ซึ่งผลจะออกมาเป็นอย่างไร มาดูกันค่ะ !

ผู้ฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายจากการที่ตนได้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ สาขาการแพทย์แผนไทย โดยได้ส่งผลงานและประสบการณ์ด้านการแพทย์พื้นบ้านไทยไปยังสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ซึ่งมีหน้าที่ในการเสนอชื่อบุคคลผู้มีประสบการณ์ด้านดังกล่าวไปยังกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เพื่อทำการตรวจสอบและดำเนินการตามขั้นตอนในการออกใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542

ต่อมา... สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้มีหนังสือแจ้งหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเข้าร่วมประเมินเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะให้ผู้ฟ้องคดีทราบ ผู้ฟ้องคดีจึงนำเอกสารเพิ่มเติมไปยื่นต่อสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด

เวลาผ่านไป 2 ปียังก็ไม่มีความคืบหน้า ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร เป็นเหตุให้ตำรับยาสมุนไพรที่ผู้ฟ้องคดีค้นพบไม่ได้รับการรับรองเสียที และไม่สามารถนำไปจดทะเบียนลิขสิทธิ์นำยาออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ ผู้ฟ้องคดีต้องสูญเสียรายได้ในการส่งออกยาสมุนไพรไปยังต่างประเทศเป็นจำนวนหลายร้อยหลายพันล้านบาท

ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นฟ้องกระทรวงสาธารณสุข (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ต่อศาลปกครองชั้นต้น เพื่อขอให้ดำเนินการรับรองสูตรตำรับยาสมุนไพรไทยแก่ผู้ฟ้องคดี รวมทั้งชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 5 พันล้านบาท !! ด้วย

พร้อมกันนี้... ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำขอดำเนินคดีโดยขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล เนื่องจากไม่มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะเสียค่าธรรมเนียมศาล หรือโดยสถานะของผู้ฟ้องคดีถ้าไม่ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล
จะได้รับความเดือดร้อนเกินสมควร

ศาลปกครองชั้นต้นได้ไต่สวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ฟ้องคดีแล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายเป็นทุนทรัพย์ 5 พันล้านบาท ซึ่งต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล เป็นเงินจำนวน 5,150,000 บาท จากการไต่สวนผู้ฟ้องคดีมีรายจ่ายมากกว่ารายได้และมีหนี้สินจากการทำสัญญาขายฝากที่ดินและกู้ยืม ส่วนที่ดินของผู้ฟ้องคดีซึ่งติดสัญญาขายฝาก ผู้ฟ้องคดีคาดว่าจะขายที่ดินในราคาประมาณ 40 – 50 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการเสนอขาย ขณะนี้จึงยังไม่มีรายได้ และแม้ผู้ฟ้องคดีจะมีเงินรายได้จากการขายที่ดินซึ่งหลังหักภาระหนี้สินและค่าใช้จ่ายของผู้ฟ้องคดีแล้วเพียงพอที่จะชำระค่าธรรมเนียมศาลก็ตาม แต่หากให้ผู้ฟ้องคดีชำระค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดอาจทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเกินสมควร จึงมีเหตุเพียงพอที่ศาลจะอนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินคดีโดยยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลได้เฉพาะบางส่วน จึงมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินคดีโดยยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลจำนวนกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินค่าธรรมเนียมศาลที่ต้องชำระ

ผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุดว่า ผู้ฟ้องคดีได้พยายามหาคนมาซื้อที่ดินแต่ก็ยังไม่แน่นอนว่าจะขายได้ตามที่ได้ให้ถ้อยคำไว้ต่อศาลหรือไม่ เพราะราคาที่ผู้ฟ้องคดีกำหนดไว้สูงเกินไป ประกอบกับแม้ผู้ฟ้องคดีจะขายที่ดินแปลงดังกล่าวได้ก็ยังไม่ทราบว่าจะได้ราคาเท่าใด

อีกทั้งหากขายได้ก็ไม่แน่ว่าผู้ฟ้องคดีจะมีเงินเหลือพอที่จะใช้จ่ายได้เพราะมีหนี้สินที่กู้ยืมมาจำนวนมาก และไม่สามารถมีเงินเหลือที่จะนำมาวางต่อศาลในคดีนี้ได้ ขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินคดีโดยได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมด

มาดูกันนะคะว่า บทสรุปสุดท้ายในเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร น่าสนใจมากค่ะ !

ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในการไต่สวนคำขอดำเนินคดีโดยยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลของศาลปกครอง คู่กรณีฝ่ายผู้ขอนอกจากจะต้องแสดงให้ศาลเชื่อได้ว่าตนไม่มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะเสียค่าธรรมเนียมศาล หรือโดยสถานะของผู้ขอถ้าไม่ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลจะได้รับความเดือดร้อนเกินสมควรแล้ว ผู้ขอยังจะต้องแสดงให้เป็นที่พอใจต่อศาลด้วยว่าคดีของผู้ขอมีข้ออ้างหรือข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะศาลจะรับคำฟ้องไว้พิจารณาได้ด้วย กล่าวคือ ตามคำฟ้องจะต้องไม่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากความเสียหายที่ไม่มีอยู่จริง และไม่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายที่มากเกินส่วนความเสียหายที่เป็นจริงอย่างเห็นได้ชัด หากเข้าลักษณะดังกล่าวนี้ ศาลอาจมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ผู้ขอดำเนินคดีโดยยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมด หรือยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลเฉพาะบางส่วน แล้วแต่กรณี แม้ผู้ขอจะไม่มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะเสียค่าธรรมเนียมศาล หรือโดยสถานะของผู้ขอถ้าไม่ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียม
ศาลจะได้รับความเดือดร้อนเกินสมควรจริงก็ตาม

คดีนี้แม้ข้อเท็จจริงจะเป็นไปตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างในคำร้องอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น แต่ข้ออ้างและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับตามที่กล่าวอ้างในคำฟ้องกับจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ฟ้องคดีขอให้ชดใช้ซึ่งมีจำนวนมากถึง 5 พันล้านบาท น่าจะเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายที่ไม่สมเหตุสมผล ศาลปกครองจึงย่อมมีดุลพินิจที่จะมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินคดีโดยยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลเฉพาะบางส่วนได้ โดยไม่จำต้องอนุญาตเต็มจำนวนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดแต่อย่างใด ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องในผลตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินคดีนี้โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลจำนวนกึ่งหนึ่งของจำนวนค่าธรรมเนียมศาลที่ต้องชำระ จึงมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองชั้นต้น (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ คร. 194/2561)

คดีนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้วางหลักในการพิจารณาคำขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลที่น่าสนใจทีเดียว เพราะแม้ว่าผู้ขอจะแสดงให้ศาลเห็นว่าตนไม่มีเงินหรือทรัพย์เพียงพอที่จะชำระหรือหากไม่ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลจะได้รับความเดือดร้อนเกินสมควร ซึ่งศาลได้พิจารณาและเห็นจริงตามที่แสดงมา
ก็ตาม แต่ศาลอาจใช้ดุลพินิจไม่ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลให้เต็มจำนวนตามที่ขอก็ได้ หากการเรียกค่าเสียหายนั้นเป็นความเสียหายที่ไม่มีอยู่จริง หรือมากเกินจริงอย่างเห็นได้ชัดเจนเช่นในคดีอุทาหรณ์ที่ได้นำเสนอนี้ ซึ่งมีลักษณะเป็นการเรียกค่าเสียหายที่ไม่สมเหตุสมผล ฉะนั้น ในการเรียกค่าเสียหายของผู้ฟ้องคดีจึงควรเป็นไปตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง หรือคิดคำนวณอย่างสมเหตุสมผล จะปลอดภัยที่สุดค่ะ !!

(ปรึกษาคดีปกครองได้ที่สายด่วนศาลปกครอง 1355 และสามารถศึกษาอุทาหรณ์เรื่องอื่น ๆเพิ่มเติมได้ที่ www.admincourt.go.th)

ป. ธรรมศลีญ์


กำลังโหลดความคิดเห็น