“อิ๋งอิ๋ง” พิธีกรรายการชื่อดังร้องกองปราบฯ ถูกแฮกบัตรเครดิตเติมเงินเกมเกมออนไลน์ “โทเรบะ” พบเบาะแสคนนำไปใช้ เป็นข้าราชการรัฐ กับลูกชาย 10 ขวบ เบื้องต้นเสียหาย 1 หมื่นบาท
วันนี้ (3 ส.ค.) ที่ กองปราบปราม เมื่อเวลา 13.00 น. นางสิทธิณี กิตติสิทโธ หรือ อิ๋งอิ๋ง พิธีกรสาวชื่อดัง เดินทางเข้าพบ พล.ต.ต.ไมตรี ฉิมเฉิด ผบก.ป. เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับคนร้ายที่ขโมยข้อมูลบัตรเครดิตซื้อไอเทมในเกมออนไลน์ “โทเรบะ” รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 10,000 บาท พร้อมนำเอกสารเป็นบันทึกรายจ่ายค่าสินค้าของธนาคารมามอบให้เป็นหลักฐาน
นางสิทธิณี กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ได้รับแจ้งจากธนาคารธนชาต ซึ่งเป็นเจ้าของบัตรเครดิตที่ตนเองใช้อยู่ ว่ามีการใช้เลขหน้าบัตร วันหมดอายุ และรหัส 3 ตัวหลังบัตรเครดิตไปใช้ซื้อไอเทมในเกมออนไลน์ ระหว่างวันที่ 23-24 มิถุนายน ที่ผ่านมา จำนวน 20 ครั้ง ครั้งละ 300-600 บาท รวมมูลค่ากว่า 10,000 บาท จึงติดต่อกับเพื่อนที่เป็นตำรวจให้ช่วยตรวจสอบการใช้บัตรเครดิตของตนเอง จนพบว่าผู้ก่อเหตุเป็นพ่อลูกคู่หนึ่ง โดยผู้เป็นพ่อเป็นข้าราชการ ส่วนลูกชายอายุเพียง 10 ขวบเท่านั้น
นางสิทธิณี กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น ทราบว่า ผู้ก่อเหตุนำเลขหน้าบัตร วันหมดอายุ และเลขรหัสลับ 3 ตัวหลังบัตรเครดิตของตนเองไปใช้ได้อย่างไร เพราะบัตรเครดิตของตนเองจะใช้ตอนซื้อตั๋วเครื่องบิน จ่ายค่าอาหารให้ร้านอาหาร และเติมน้ำมันตามปั๊มน้ำมันต่างๆ เท่านั้น อีกทั้งพ่อลูกทั้งสองคนนี้ตนเองก็ไม่เคยรู้จักมาก่อน จึงไม่ทราบว่านำข้อมูลส่วนตัวของตนเองไปใช้ได้อย่างไร
เบื้องต้น พล.ต.ต.ไมตรี สั่งการพนักงานสอบสวน กก.1 บก.ป.ทำการสอบปากคำ นางสิทธิณี อย่างละเอียด ก่อนที่จะเรียกสองพ่อลูกที่ปรากฏในข้อมูลมาทำการสอบสวนอีกครั้ง
รายงานแจ้งว่า สำหรับเกมดังกล่าวที่ถูกนำข้อมูลในบัตรไปใช้ คือ เกม “โทเรบะ” (Toreba) หรือเกมตู้คีบตุ๊กตาออนไลน์ ซึ่งเป็นเกมของประเทศญี่ปุ่น โดยผู้เล่นจะต้องทำการเติมเงินก่อนที่จะเล่นตู้คีบตุ๊กตาตามที่ตนเองต้องการ ซึ่งจะต้องเสียเงินครั้งละตั้งแต่ 60-70 บาท โดยผู้เล่นจะซื้อเหรียญที่ใช้ในการหยอดตู้จำนวนเท่าไหร่ก็ได้ ซึ่งบางรายอาจซื้อเหรียญไว้ได้ถึงครั้งละ 9,000 บาท
ด้าน พล.ต.ต.ไมตรี ฉิมเฉิด ผบก.ป.กล่าวว่า เบื้องต้นจากการตรวจสอบ ขณะนี้ทราบแล้วว่าผู้ก่อเหตุเป็นใคร เพราะก่อนหน้านี้ มีผู้เสียหายเข้ามาแจ้งความกับกองปราบปรามหลายราย โดยพฤติการณ์การก่อเหตุคล้ายกัน อีกทั้งยังพบว่าผู้ก่อเหตุยังเป็นกลุ่มบุคคลเดียวกัน หรือเป็นครอบครัวเดียวกัน โดยจะสลับกันก่อเหตุ บางรายโดนสามีเป็นคนแฮก และนำให้ลูกไปซื้อของในเกม บางรายเป็นภรรยาแฮกและนำไปให้ลูกซื้อของในเกม อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อมูลพบอีกว่า ครอบครัวนี้ไม่ได้มีความสามารถด้านไอทีมากนัก จนถึงขนาดที่จะแฮกข้อมูลได้ จึงคาดว่าครอบครัวดังกล่าวน่าจะตกเป็นเหยื่อที่ถูกคนร้ายใช้เป็นฉากหน้าอีกทีหนึ่ง
พล.ต.ต.ไมตรี กล่าวต่อว่า สำหรับพฤติการณ์ดังกล่าวอาจเป็นการทดลองก่อเหตุในเงินจำนวนไม่มาก ก่อนที่จะเริ่มก่อเหตุนำไปซื้อสินค้าที่มีมูลค่าสูงมากกว่านี้ ซึ่งหลังการเเจ้งความ จะเรียกครอบครัวดังกล่าวมาสอบสวนอย่างละเอียด หากพบว่ามีกลุ่มบุคคลอื่นมาเกี่ยวข้องอีก ก็จะออกหมายเรียกมาให้สอบสวนเพิ่ม ทั้งนี้ จึงฝากเตือนไปถึงประชาชนให้ระมัดระวังข้อมูลเกี่ยวกับบัตรเครดิต ซึ่งจากการสอบถามธนาคารเจ้าของบัตรดังกล่าว ทราบว่า มีวิธีการที่สามารถป้องกันได้ คือ ให้ขูดเลขรหัสยืนยัน 3 ตัว ที่อยู่ด้านหลังบัตรเครดิตออก และให้ใช้วิธีการจดจำหรือถ่ายรูปไว้แทน ซึ่งการนำบัตรเครดิตไปซื้อสินค้าต่างๆ ไม่จำเป็นต้องใช้เลข 3 หลักด้านหลังบัตร แต่ตัวเจ้าของบัตรเองต้องจำเลขทั้ง 3 หลักนี้ให้ได้ เพราะเลขทั้งสามหลักจะใช้ในการซื้อของออนไลน์หรือซื้อตั๋วเครื่องบินได้
“ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในระบบการดูแลรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลและทรัพย์สินของทุกธนาคาร เนื่องจากก่อนหน้านี้ผมเองก็เคยถูกแฮกข้อมูลบัตรเครดิต แต่มีการแจ้งเตือนจากธนาคารจนสามารถป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียได้” ผบก.ป.กล่าว