xs
xsm
sm
md
lg

โฆษณาสรรพคุณยาเกินจริง : ขัดต่อจรรยาบรรณวิชาชีพเภสัชกรรม

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ยุคนี้...สมัยนี้... การสื่อสารส่งต่อข้อมูลกันกลายเป็นเรื่องที่ง่ายดายแค่ปลายนิ้ว และต้องยอมรับว่าตลาดการซื้อขายสินค้าประเภทเครื่องสำอาง ยา หรืออาหารเสริม เป็นตลาดที่คึกคักและได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะไม่ว่าใคร ๆ ก็อยากที่สวยและสุขภาพดี ทำให้การโฆษณาสินค้าดังกล่าวมีการอวดอ้างผลลัพธ์หรือสรรพคุณกันชนิดที่เรียกว่า... ไม่มีใครยอมใคร ! และอาจมีลักษณะเกินจริง ซึ่งไม่เพียงแต่ในโลกออนไลน์ที่ค่อนข้างควบคุมได้ยากเท่านั้น ในสื่อวิทยุโทรทัศน์รวมไปถึงการจัดสัมมนาแบบขายตรงก็มีเช่นกัน

ผู้บริโภคเองจึงต้องตั้งสติและเสพสื่ออย่างรู้เท่าทัน ช่วยกันตรวจสอบข้อมูลและต้องใช้วิจารณญาณในการบริโภคสินค้าให้มากยิ่งขึ้น ในขณะที่รัฐก็จะต้องเข้มงวดกวดขันในเรื่องดังกล่าว เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคมิให้หลงเชื่อซื้อสินค้าที่มีการโฆษณาถึงสรรพคุณที่เกินความเป็นจริงหรือสินค้าที่มีการจำหน่ายโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

และเมื่อพูดถึงอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการผลิต/จำหน่ายยา หรืออาหารเสริมแล้ว อาชีพเภสัชกรนับว่าเป็นอาชีพหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญและเป็นที่น่าเชื่อถือของผู้บริโภค ซึ่งจะมีสภาเภสัชกรรมเป็นหน่วยงานควบคุมดูแลบทบาทของวิชาชีพดังกล่าวโดยตรง อุทาหรณ์คดีปกครองที่จะพูดคุยกันต่อไปถือเป็นเพียงกรณีหนึ่งพิพาทในหลาย ๆ กรณีที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการโฆษณาสรรพคุณของสินค้าหรือบริการเกินจริง โดยเป็นตัวอย่างของการโฆษณาสรรพคุณยาและอาหารเสริมของเภสัชกรที่น่าจะช่วยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งเจ้าของสินค้าและผู้บริโภคเข้าใจลักษณะของการโฆษณาที่เกินความเป็นจริง ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งตระหนักถึงผลกระทบหรือผลเสียที่จะเกิดขึ้นด้วย

คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีเป็นเภสัชกรประจำร้านขายยาแห่งหนึ่ง ได้นำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตของสภาเภสัชกรรม อันเนื่องมาจากผู้ฟ้องคดีได้เป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพด้วยวิถีธรรมชาติ โดยมีการนำเสนอและโฆษณาแนะนำผลิตภัณฑ์ของบริษัทกอไก่ซึ่งเป็นยาน้ำสมุนไพรและอาหารเสริม ผ่านเครื่องขยายเสียงและมีแผ่นใสประกอบการบรรยายในงานสัมมนาลูกค้าของบริษัทกอไก่ซึ่งเป็นธุรกิจขายตรง

โดยเนื้อหาที่เป็นสาระของการบรรยายสรรพคุณของสินค้าทั้งสองชนิดดังกล่าวคือ กินแล้วจะทำให้อายุยืนยาวเป็นยาอายุวัฒนะ ชะลอความแก่ได้ รักษาได้ทุกโรคและมีสูตรเดียวในโลก นอกจากนี้ยังสามารถรักษาโรคได้มากมาย เช่น เบาหวาน มะเร็ง อัมพาต วัณโรค สมอง หัวใจ ปอด ตับ ไต ฯลฯ รวมทั้งยังได้เชิญชวนให้ผู้ป่วยกินยาสมุนไพรดังกล่าวทดแทนยาแผนปัจจุบัน โดยยกตัวอย่างผู้ป่วยโรคต่าง ๆ ที่กินยาดังกล่าวแล้วหายจากอาการเจ็บป่วย โดยไม่มีข้อมูลทางวิชาการมาสนับสนุนสรรพคุณที่กล่าวอ้างอย่างชัดเจน

ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้กล่าวโทษผู้ฟ้องคดีต่อสภาเภสัชกรรมว่า ผู้ฟ้องคดีได้ประพฤติผิดจรรยาบรรณ สภาเภสัชกรรมจึงได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าว

ซึ่งต่อมาคณะอนุกรรมการสอบสวนได้เชิญผู้ฟ้องคดีมาให้การและบันทึกคำให้การตลอดจนรวบรวมพยานหลักฐานแล้วมีความเห็นว่า การกระทำของผู้ฟ้องคดีเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 88 แห่งพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ที่กำหนดห้ามมิให้โฆษณาโอ้อวดสรรพคุณยาหรือส่วนประกอบของยาเกินจริงหรือเป็นเท็จ หรือโฆษณาว่าสามารถบำบัด บรรเทา รักษาหรือป้องกันโรคหรือความเจ็บป่วยได้อย่างศักดิ์สิทธิ์หรือหายขาด และฝ่าฝืนมาตรา 40 มาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ซึ่งห้ามมิให้โฆษณาสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้หลงเชื่อโดยไม่สมควร และการโฆษณาด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ทางการค้าจะต้องนำข้อความที่จะโฆษณาให้ผู้อนุญาตตรวจพิจารณาก่อน

อีกทั้งมาตรา 77 แห่งพระราชบัญญัติยาฯ ยังห้ามมิให้โฆษณาสรรพคุณยาแก่บุคคลทั่วไปว่าสามารถป้องกัน บำบัด บรรเทา รักษาโรคตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด เช่น มะเร็ง เบาหวาน วัณโรค สมอง หัวใจ ปอด ฯลฯ การโฆษณาของผู้ฟ้องคดีจึงทำให้ผู้ฟังหลงเชื่อในสรรพคุณของสินค้าโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมิได้นำข้อความที่โฆษณาให้ผู้มีอำนาจคือเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายพิจารณาตรวจสอบก่อน

กรณีจึงถือว่าผู้ฟ้องคดีได้อาศัยความเป็นเภสัชกรและฐานะนักวิชาการชักจูงผู้ฟ้งโดยไม่มีหลักฐานทางวิชาการมาสนับสนุนที่ชัดเจน อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนข้อบังคับสภาเภสัชกรรม ว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2538 กล่าวคือเภสัชกรจะต้องไม่หลอกลวงหรือให้คำรับรองอันเป็นเท็จ หรือให้ความเห็นโดยไม่สุจริตให้เกิดความหลงเข้าใจผิดเพื่อประโยชน์ของตน หรือสนับสนุนให้มีการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมหรือประกอบโรคศิลปะโดยผิดกฎหมาย คณะกรรมการสภาเภสัชกรรมได้มีมติลงโทษพักใช้ใบอนุญาตและสภาเภสัชกรรมได้มีคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตของผู้ฟ้องคดีเป็นเวลา 1 ปี

ประเด็นที่ศาลพิจารณาคือคำสั่งลงโทษพักใช้ใบอนุญาตเป็นเวลา 1 ปี ดังกล่าวเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ?

ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาจากพฤติการณ์และข้อเท็จจริงที่ได้จากการสอบสวนแล้วมีความเห็นว่า คณะอนุกรรมการสอบสวนได้ให้โอกาสผู้ฟ้องคดีทำคำชี้แจงว่ามีการตัดต่อเสียงอย่างไรตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่ามีการตัดต่อเสียงของตน แต่ก็ไม่ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีได้ทำคำชี้แจง จึงรับฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีได้บรรยายตามข้อความดังกล่าวจริง และมิได้เป็นการให้ความรู้หรือให้ข้อเท็จจริงทางวิชาการเกี่ยวกับเรื่องการรักษาดูแลสุขภาพตามแนวทางแพทย์ทางเลือกด้วยสมุนไพรดังที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้าง แต่มีลักษณะโอ้อวดสรรพคุณยาว่าสามารถบำบัด บรรเทา รักษาหรือป้องกันโรคหรือความเจ็บป่วยได้อย่างศักดิ์สิทธิ์หรือหายขาด และมีลักษณะอันเป็นเท็จหรือเกินความจริง นอกจากนี้ยังกล่าวอ้างว่ายาดังกล่าวมีสรรพคุณบำบัด บรรเทา รักษาหรือป้องกันโรคหรืออาการของโรคที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศห้ามมิให้โฆษณาด้วย

การที่ผู้ฟ้องคดีแจ้งให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาทราบว่าผู้ฟ้องคดีเป็นเภสัชกร เป็นนักวิชาการที่จบการศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกในด้านชีวเคมี และกล่าวแนะนำสรรพคุณยาน้ำสมุนไพรในลักษณะโอ้อวดสรรพคุณยาเกินจริง จึงมีลักษณะเป็นการรับรองหรือประกันคุณภาพของยาอันเป็นเท็จแก่สาธารณชนให้หลงเข้าใจผิดเพื่อประโยชน์ของตน ผู้ฟ้องคดีจึงกระทำผิดตามข้อกล่าวโทษ โดยได้กระทำมาหลายครั้งต่อเนื่องอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่สาธารณชน การพักใช้ใบอนุญาตผู้ฟ้องคดี เป็นเวลา 1 ปี จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ถูกต้องเหมาะสมตามข้อเท็จจริงและพฤติการณ์แล้ว (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 689/2555)

คดีนี้... จึงนับว่าเป็นอุทาหรณ์แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณายาหรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ปฏิบัติงานด้านวิชาชีพเภสัชกรรมซึ่งย่อมเป็นที่น่าเชื่อถือแก่บุคคลทั่วไป การให้คำรับรองหรือประกันคุณภาพยาหรือพูดชักจูงเกี่ยวกับสรรพคุณของสินค้าที่เกินจริงซึ่งจะก่อให้เกิดโทษในวงกว้าง ย่อมต้องถูกตรวจสอบและพิจารณาโทษจากสภาเภสัชกรรมซึ่งเป็นหน่วยงานที่ควบคุมดูแลจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพดังกล่าวโดยตรง (ปรึกษาคดีปกครอง ได้ที่สายด่วนศาลปกครอง 1355)

ท้ายนี้... อยากชักชวนทุกท่านมาออกกำลังกายกันเป็นนิจ ทำจิตให้ผ่องใสด้วยการสวดมนต์หรือทำสมาธิ ก็จะเป็นส่วนที่ช่วยป้องกันโรคภัยและยังช่วยสร้างพลังบวกในการดำเนินชีวิต ดังเนื้อเพลงท่อนหนึ่งของเจ้าพระธรรมศักดิ์มนตรีในเพลง “กราวกีฬา” ที่ว่า “...กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ ฮา-ไฮ ฮา-ไฮ กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ แก้กองกิเลสทำตนให้เป็นคน ผลของการฝึกตน เล่นกีฬาสากล ตะละล้า...”


ป. ธรรมศลีญ์


กำลังโหลดความคิดเห็น