xs
xsm
sm
md
lg

แฉแก๊งโกงรถดูดสิ่งโสโครก ฮั้วประมูลตั้งราคาสูงเกินจริง รัฐเสียหาย 70 ล้าน พบแล้ว 12 อปท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - ปปป.เผยพบ 12 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฮั้วประมูลรถดูดสิ่งโสโครก พบมี 2 บริษัทที่ผลิตรถได้ แถมอีก 5 เสนอราคาประมูลเป็นเครือญาติกัน แฉตั้งราคาสูงเกินจริงรัฐเสียหายกว่า 70 ล้านบาท เตรียมแจ้งดำเนินคดีเจ้าหน้าที่รัฐ-เอกชน

วันนี้ (3 เม.ย.) เวลา 10.00 น. ที่กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ศูนย์ราชการอาคารบี ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ พ.ต.อ.จักษ์ เพ็งสาธร รอง ผบก.ปปป. เป็นประธานการประชุมพนักงานสอบสวนคดีฮั้วประมูลรถดูดโคลนและรถขยะ โดยมี ว่าที่ ร.ต.บุรินทร์ อินทรเสนีย์ ผอ.กลุ่มงานกฎหมายฯ สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จ.ชลบุรี, นายไพศาล ขจรเวชกุล สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จ.สมุทรสาคร, นายจีรศักดิ์ ศรีสุมล สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จ.ระยอง และ นายเอกชัย สรรพอาสา สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จ.สมุทรปราการ เดินทางมาเพื่อรับทราบรายละเอียดการทุจริตกล่าว

พ.ต.อ.จักษ์เปิดเผยว่า ในวันนี้ตัวแทนจังหวัดเข้ามาขอรับทราบรายละเอียด หลังจากทำหนังสือส่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 10 จังหวัด เพื่อนำไปให้นายอำเภอแต่ละท้องถิ่นตรวจสอบและเดินทางมาร้องทุกข์ที่ ปปป. อีกครั้ง โดยหลังจากตรวจสอบพบทั้ง 12 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีพฤติการณ์กระทำผิดที่คล้ายกันทั้งหมด คือ เริ่มแรกจะมีบริษัทผู้ผลิตรถดูดสิ่งโสโครก จะนำเสนอรายละเอียดที่จะขายให้กับ อปท. จากนั้น อปท.จะตั้งงบเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อ เพื่อกำหนดระเบียบ สเปก ราคากลาง ซึ่งราคากลางที่แต่ละท้องถิ่นกำหนดนั้นไม่ได้มีการกำหนดราคากลางที่ชัดเจน เพราะรถดังกล่าวไม่มีวางขายตามท้องตลาดทั่วไป ต้องสั่งประกอบ จึงทำให้แต่ละท้องที่ต้องเสนอราคากลางเองสูงเป็นเท่าตัว จากราคาขาย ประมาณ 6-7 ล้านบาทต่อคัน เมื่อบวกราคากำไรและภาษีจะต้องซื้ออยู่ที่ 11 ล้านบาท แต่กลับมีการตั้งราคาไว้ที่ 17-18 ล้านบาทต่อคัน ทำให้รัฐเสียหายกว่า 70 ล้านบาท

“นอกจากนี้ยังตรวจพบว่า มีเพียง 2 บริษัทที่สามารถจะผลิตรถดังกล่าวได้ โดยตรวจสอบว่าเป็นเครือข่ายเดียวกัน และในการประมูลนั้นมีบริษัทคู่เทียบที่มาร่วมแข่งขันอีก 5 บริษัทนั้นก็เป็นเครือญาติเชื่อมโยงกัน ทำให้เอื้อต่อการทุจริต และพบว่าบริษัทส่วนใหญ่ร้อยละ 90 ที่มาประมูลนั้นไม่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรมเลย หลังจากนี้หากมีการร้องทุกข์แล้วจะสอบสวนลงพื้นที่และส่งสำนวนไปยังสำนักงานคณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อตรวจสอบ โดยการส่งสำนวนนั้นจะส่งทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและบริษัทเอกชน ในข่ายความผิดมาตรา 157 พ.ร.บ.ฮั้วประมูล และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ” พ.ต.อ.จักรกล่าว

ด้านนายไพศาลเผยว่า บก.ปปป.ทำหนังสือถึงนายอำเภอเมืองฯ จ.สมุทรสาคร ก่อนตนได้รับมอบหมายให้มาพบ พ.ต.อ.จักร เพื่อมาสอบถามข้อมูลการทุจริตฮั้วประมูล จากนั้นจะนำเสนอนายอำเภอ และสรุปข้อมูลส่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครตามขั้นตอน โดยกรณี อบต.ท่าทราย อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร ที่ถูกระบุว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการฮั้วประมูลรถดูดโคลนนั้น จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าก่อนหน้านี้มีการร้องเรียนมาบ้าง แต่เป็นการร้องเรียนด้วยปากเปล่า ลักษณะคือคู่แข่งการประมูลมาพูดร้องว่าบริษัทคู่แข่งมีการทุจริตแบบนั้นแบบนี้ แต่ไม่ได้มีเอกสารหรือร้องเรียนอย่างเป็นทางการ และมี 7 บริษัทเกี่ยวข้องในการประมูลงานที่ อบต.ท่าทราย

“ทั้งนี้ใน จ.สมุทรสาคร ประกอบด้วย 3 อำเภอ คือ อ.เมืองฯ อ.บ้านแพ้ว อ.กระทุ่มแบน ทั้ง 3 อำเภอคุม 38 อปท. หลังพบมีชื่อในการฮั้วประมูล ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครได้สั่งการให้ทั้ง 3 อำเภอทำการตรวจสอบภายในทั้งหมด ปกติแต่ละ อปท.เมื่อใช้งบไม่หมดจะเก็บเป็นเงินสะสม หรือกองทุนสะสม หากมีเหตุจำเป็นหรือเกิดเหตุภัยพิบัตฉุกเฉิน แต่ละ อปท.สามารถนำเงินสะสมออกมาใช้ได้เลย ไม่จำเป็นต้องทำเรื่องเบิกตามขั้นตอน ทั่วประเทศกว่า 7 พัน อปท.คาดมีเงินสะสมกว่า 10,000 ล้านบาท” นายไพศาลกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น