xs
xsm
sm
md
lg

125 ปี อัยการ “เข็มชัย ชุติวงศ์” อสส.ชี้สั่งฟ้องคดี ต้องมีมาตรฐาน-สังคมยอมรับ!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

 นายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด
“เข็มชัย ชุติวงศ์” อัยการสูงสุด ยืนยันปฏิรูปองค์กรอัยการตามรัฐธรรมนูญ 2560 สนองนโยบายไทยแลนด์ 4.0 สั่งฟ้องคดีต้องให้ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับของสังคม พร้อมร่วมมือหน่วยงานกระบวนการยุติธรรม ทั้ง “ป.ป.ส.-ปปง.-ดีเอสไอ” ปราบปรามคดีค้ามนุษย์ และคดีทุจริต ส่วนประเด็นปฏิรูปตำรวจยอมรับอาจไม่ดีที่สุด แต่ต้องดีขึ้น

วันนี้ (2 เม.ย.) ที่ห้องประชุม 120 ปี สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.แจ้งวัฒนะ นายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ทิศทางองค์กรอัยการ” เนื่องในโอกาสสถาปนาองค์กรอัยการ 125 ปี โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า ในอดีตที่ผ่านมาพนักงานอัยการมีบทบาทหน้าที่สำคัญในการอำนวยความยุติธรรมในทางอาญา ปัจจุบันทิศทางขององค์กรอัยการมีการขับเคลื่อนในทางปฏิบัติหน้าที่ในการอำนวยความยุติธรรม มีความเที่ยงธรรมมากขึ้น สมัยเมื่อตนเป็นอัยการผู้ช่วย การสั่งฟ้องคดีสามารถทำได้ง่าย ซึ่งอัยการส่วนใหญ่ในสมัยนั้นมักมีคำสั่งที่จะฟ้องคดี แต่เมื่อเวลาผ่านไป ทางอัยการมีความพิถีพิถันที่จะพิจารณาพยานหลักฐานในคดีมากขึ้น การสั่งฟ้องในสมัยนี้จะต้องประสบความสำเร็จคือศาลสั่งลงโทษได้ สิ่งสำคัญของอัยการ คือ การสั่งคดีจะต้องให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสังคม

นายเข็มชัยกล่าวต่อว่า อัยการมีหน้าที่สำคัญคือการเป็นทนายแผ่นดิน ต้องรักษาผลประโยชน์ของรัฐ พยายามแสวงหาความเป็นมืออาชีพ ฝึกฝนให้เป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สามารถสนองตอบงานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่ง คดีปกครอง หรือว่าความแก้ต่างให้ดีที่สุด เมื่อก่อนนี้อัยการจะเหมือนกับข้าราชการอื่นๆ ที่มีความคิดที่ไม่ค่อยถูก ที่คิดว่าอัยการทำได้ทุกอย่าง แต่สมัยนี้เราจะคิดอย่างนั้นไม่ได้ ไม่มีอัยการคนไหนที่ทำได้ทุกอย่างแล้วมีประสิทธิภาพอย่างที่หน่วยงานของรัฐต้องการ ตรงนี้เรามีความจำเป็นที่จะต้องสร้างผู้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ที่มีความสามารถในด้านนั้นๆ

นอกจากนี้แล้ว ยังมีบทบาทคืองานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือกฎหมายแก่ประชาชนซึ่งเรื่องนี้เราต้องยอมรับว่าคนไทยในชนบทที่ห่างไกลยังขาดความรู้ในทางกฎหมาย ถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำสัญญา นิติกรรม หรือการเข้าร่วมธุรกิจต่างๆ ซึ่งบางครั้งคนเหล่านี้ไม่รู้ว่าจะหันหน้าไปพึ่งใคร กว่าที่จะถึงขั้นตอนฟ้องร้องในศาลก็เสียเปรียบไปแล้ว การที่จะแก้ปัญหาเช่นนี้จะต้องนำความรู้ทางกฎหมายเบื้องต้นไปเผยแพร่ให้กับประชาชนในชนบทห่างไกล

นายเข็มชัยกล่าวอีกว่า นโยบายปฏิรูปล่าสุดที่กระทรวงยุติธรรมเป็นเจ้าภาพ คือการลดความเหลื่อมล้ำทางกฎหมายระหว่างคนในสังคมที่มุ่งเน้นการทำให้คนรวย คนจนมีโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่ากรณีจะตกเป็นผู้ต้องหาหรือเกี่ยวข้องในคดีอาญา เรื่องนี้สำนักงานอัยการสูงสุดก็เป็นแนวร่วมกับกระทรวงยุติธรรม เพื่อช่วยเหลือกันในเรื่องนี้ โดยยึดเอารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เป็นหลัก

นายเข็มชัยยังกล่าวถึงแผนการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมซึ่งบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 258 ว่า รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ที่ได้ร่างแผนปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเป็นระยะเวลา 20 ปี สำนักงานอัยการสูงสุดก็จะต้องพัฒนาไปตามแผนปฏิรูปดังกล่าว ดังนี้ ประการแรก การพัฒนาบทบาทในกระบวนการยุติธรรมที่จะต้องยึดถือประชาชนเป็นศูนย์กลาง เราจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่า ในแต่ละกระบวนการที่เราดำเนินการได้ตอบสนองความต้องการ ก่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อประชาชนอย่างไร ประการที่สอง ที่อาจเป็นแนวคิดส่วนตัวของตนที่จะพยายามผลักดัน คือการประสานงานร่วมมือกับหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ที่ผ่านมามีการครหาว่าหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมมักจะมีปัญหา ตนคิดว่าไม่ใช่เรื่องง่ายในความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม เพราะเป็นสิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เคยปฏิบัติ ต้องมีความเสียสละ ซึ่งองค์กรอัยการควรจะต้องมีบทบาทนำในเรื่องนี้ เราจะต้องยอมละอัตตาส่วนตัว ความยึดมั่นถือมั่น และไปร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาเราได้ทำสำเร็จในหลายเรื่อง เราร่วมมือกับตำรวจปราบปรามยาเสพติด ทั้งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) โดยที่ไม่ต้องมีกฎหมายมาบังคับให้เราร่วมกันสอบสวน แต่เรามองเห็นเป้าหมายและความสำเร็จของงานเป็นหลัก

“ในวันนี้เราได้เห็นความร่วมมือระหว่างอัยการ, ป.ป.ส. และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งทำงานร่วมกันมาหลายปีแล้ว มีความสำเร็จหลายคดี แต่ละคดีก็เป็นนโยบายของรัฐบาล มีความร้ายแรงในระดับสากล คือคดีปราบปรามการทุจริตและการค้ามนุษย์ อย่างคดีค้ามนุษย์ที่เป็นการกระทำต่อมนุษย์ด้วยกัน เป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ ไม่ว่าจะเป็นประเทศใด ทางสำนักงานอัยการสูงสุดเราให้ความร่วมมือเต็มที่ และจะบูรณาการข้อมูลร่วมกัน ทำให้การปราบปรามมีประสิทธิภาพ แม้ว่าคดีค้ามนุษย์จะเป็นคดีที่มีความยุ่งยากซับซ้อน มีผู้กระทำความผิดเข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมาก ส่วนคดีปราบปรามการทุจริตนั้น เราต้องมีความร่วมมือกับ ป.ป.ช. ในอดีตที่ผ่านมาแม้บางครั้งเราจะมีความเห็นแตกต่างกัน และสังคมก็จะรู้สึกว่ามีความขัดแย้งไม่ลงรอยกัน ซึ่งต่อไปทางอัยการจะพยายามอย่างยิ่งในการทำความเข้าใจ ร่วมมือร่วมใจทำงาน” อัยการสูงสุดกล่าว

นายเข็มชัยกล่าวถึงเรื่องการประสานงานระหว่างประเทศว่า อัยการยึดถือคติที่ว่าเราจะไม่ยอมให้อาชญากรมีที่อยู่ที่ใดในโลกนี้ นั่นแปลว่าทุกประเทศต้องให้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน อำนวยความยุติธรรมในการปราบปรามอาชญากรรม เรื่องนี้มีประเด็นสำคัญ 2 เรื่อง คือ 1. การส่งผู้ร้ายข้ามแดน 2. การให้ความร่วมมือระหว่างกันในทางอาญา ซึ่งตนได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากตัวแทนสถานทูตประเทศต่างๆ ทั้งในกรณีที่ประเทศไทยขอความร่วมมือ และในทำนองเดียวกันเมื่อทางต่างประเทศขอความร่วมมือ เราก็จะพยายามให้ความร่วมมือ ซึ่งการประสานงานเรามีทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ และพบว่าการประสานงานอย่างไม่เป็นทางการ ได้ผลเกินกว่าที่เราคาดหมาย การที่พนักงานอัยการของไทยกับต่างประเทศรู้จักกัน เป็นเพื่อนกัน อบรมด้วยกัน ทำให้สามารถที่จะติดต่อประสานงานกันได้อย่างดี แทนที่จะต้องรอเอกสารส่งกันไปมา ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลานานที่เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการร่วมมือระหว่างประเทศอย่างยิ่ง ตรงนี้เราก็จะสามารถยกหูโทรศัพท์พูดคุยทำความเข้าใจกันได้ ทำให้การปฏิบัติหน้าที่ตรงนี้ลุล่วงไปได้อย่างดี สุดท้ายนี้องค์กรอัยการจะต้องพัฒนาไปพร้อมกับหน่วยงานอื่นๆ พร้อมกับรัฐบาล เราต้องพัฒนาให้เป็นแบบไทยแลนด์ 4.0 มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริหารจัดการทุกขั้นตอน การติดต่อสื่อสารระหว่างประชาชนในอนาคตจะถูกทำให้เป็นระบบดิจิตอล เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน เราใช้แต่กระดาษต่อไปคงจะไม่ไหว จะต้องพัฒนาตนเอง ทิศทางขององค์กรอัยการจะต้องปฏิรูปเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับหน่วยงานอื่นในกระบวนการยุติธรรมตามแนวคิดการปฏิรูปประเทศของรัฐบาลและรัฐธรรมนูญ ตนเชื่อในหลักทางสายกลาง เราไม่สามารถที่จะเน้นไปในแนวคิดสุดโต่งได้

นายเข็มชัยกล่าวว่า ตนได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้โอกาสพูดในที่ประชุมถึงเรื่องการปฏิรูปองค์กรที่ขณะนี้มีแนวความคิดหลายด้าน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการทะเลาะกันแทบจะไม่มองหน้ากันในบางองค์กรเกี่ยวกับเรื่องการปฏิรูปตำรวจ ตนได้เสนอแนะว่าสิ่งที่จะเป็นไปได้ต้องยึดถือทางสายกลาง ที่สามารถรับกันได้ทุกฝ่าย ซึ่งอาจจะไม่ใช่แนวทางที่ดีที่สุด แต่ว่าจะต้องดีขึ้น และแนวทางที่ทางคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจได้เสนอไปอาจจะไม่เป็นที่พอใจของคนในสังคม มีคนพยายามเสนอทางที่จะแก้ไขแบบเปลี่ยนแปลงฉับพลันทันทีจากหน้ามือเป็นหลังมือ ซึ่งความจริงมันคงเกิดขึ้นไม่ได้ อย่างองค์กรอัยการก็เช่นกัน แม้ตนอาจจะมีแนวความคิดหลายอย่างที่จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด แต่ทุกคนในองค์กรอัยการก็จะต้องมีฉันทามติร่วมกันเพื่อเปลี่ยนแปลงองค์กรของเราในอนาคต ตนเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะพยายามนำแนวความคิดที่ตกผลึกร่วมกัน มาขับเคลื่อนให้เป็นจริง


กำลังโหลดความคิดเห็น