xs
xsm
sm
md
lg

จัดประชุมส่งเสริมความร่วมมือต้านยาเสพติดไทย-เมียนมา รอบด้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - ป.ป.ส. พบผู้บริหารระดับสูงของเมียนมา จัดประชุมส่งเสริมความร่วมมือต้านยาเสพติดไทย - เมียนมา หวังผลักดันความร่วมมือในการดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติด ณ กรุงเนปิดอว์ สกัดกั้นการพัฒนาอย่างรอบด้าน

วันนี้ (25 ม.ค.) ณ กระทรวงมหาดไทย กรุงเนปิดอว์ ประเทศเมียนมา นายชลัยสิน โพธิเจริญ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. พร้อมด้วย นายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต ที่ปรึกษาสำนักงาน ป.ป.ส. ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมหารือเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านยาเสพติด ไทย - เมียนมา กับ พล.ต.อ่อง โซ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยของเมียนมา และผู้บริหารระดับสูงสังกัดกระทรวงมหาดไทยของเมียนมา อาทิ หน่วยงานกลางควบคุมยาเสพติด (CCDAC) และหน่วยงานความมั่นคงอื่นๆ

การประชุมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านยาเสพติดไทย - เมียนมา โดยทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อมูล และเห็นพ้องกันในการส่งเสริมและขยายความร่วมมือกันในทุกมาตรการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการปราบปรามยาเสพติด และสกัดกั้นเคมีภัณฑ์ การพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทย - เมียนมา อย่างรอบด้าน รวมถึงด้านการบำบัดรักษาผู้เสพ หรือผู้ติดยาเสพติด โดยสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1. ทั้งสองฝ่ายแสดงความชื่นชมในความร่วมมือด้านยาเสพติดที่ดำเนินการร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง และการสนับสนุนของสำนักงาน ป.ป.ส. ที่ให้กับเมียนมาในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการดำเนินงานโครงการพัฒนาทางเลือกในพื้นที่ชายแดนเมียนมาที่ติดกับประเทศไทย โดย สำนักงาน ป.ป.ส. และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ รวมถึงการจัดตั้งศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัย ณ จังหวัดเชียงตุง ประเทศเมียนมา

2. ไทยแจ้งให้เมียนมาทราบถึงความห่วงใย ของ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ถึงสถานการณ์ปัญหายาเสพติด และการไหลทะลักของยาเสพติดจากพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำเข้าสู่ประเทศไทยที่สูงมากในรอบปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการพัฒนาความร่วมมือกับรัฐบาลเมียนมาในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน

3. ไทยได้นำเสนอสถานการณ์การจับกุมยาเสพติดที่เพิ่มสูงขึ้น อันเกิดจากความร่วมมือที่เพิ่มมากขึ้น และการผลิตที่เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน โดยแหล่งผลิตที่มีผลกระทบต่อประเทศไทยมากที่สุด คือ พื้นที่สามเหลี่ยมทองคำที่ติดชายแดนไทย โดยเฉพาะพื้นที่ท่าขี้เหล็กและเมืองสาด ทั้งนี้ ไทยได้เสนอการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันให้เพิ่มมากขึ้นในด้านต่างๆ ดังนี้ (1) ด้านการพัฒนาในพื้นที่ดังกล่าว โดยเป็นการพัฒนาอย่างรอบด้าน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งด้าน เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สาธารณสุข รวมถึง การบำบัดรักษาผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติด ซึ่งขยายพื้นที่ความร่วมมือให้ครอบคลุมมากกว่าเดิม (2) ด้านการปราบปรามยาเสพติด เสนอให้มีกลไกตามแนวชายแดนที่บูรณาการหน่วยงานกลางยาเสพติด ร่วมกับทหารและตำรวจของทั้งไทยและเมียนมาเป็นการเร่งด่วน เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข่าวสารในระดับปฏิบัติให้เพิ่มมากขึ้นและทันท่วงที รวมถึงสนับสนุนปฏิบัติการต่อพื้นที่เป้าหมาย อาทิ ปฏิบัติการบ้านผาขาว ซึ่งได้ผลลัพธ์สูงให้มีเพิ่มมากขึ้น (3) ด้านการบำบัดรักษาผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติด โดยไทยยินดีให้การสนับสนุนการบำบัดรักษาฯ ให้กับประชาชนในพื้นที่ชายแดน รวมถึงการดำเนินงานในด้านดังกล่าวของเมียนมาให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

4. รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ของเมียนมา ให้ความเห็นว่า ปัญหายาเสพติดเปลี่ยนแปลงไปและมีความซับซ้อนมากขึ้น จากชาวบ้านที่ยากจน เป็นกลุ่มนายทุนและชนกลุ่มน้อยติดอาวุธเป็นผู้ผลิตยาเสพติด อย่างไรก็ตาม หากไม่มีสารเคมี ยาเสพติดเหล่านี้จะไม่สามารถผลิตได้ ทั้งนี้ เคมีภัณฑ์ไม่ได้มาจากเมียนมา ดังนั้น นโยบายสำคัญของเมียนมา คือ (1) การสกัดกั้นการลักลอบนำเข้าเคมีภัณฑ์และสารตั้งต้น (2) ทำลายแหล่งผลิตยาเสพติด (3) ปราบปรามการลักลอบค้ายาเสพติดทั้งในประเทศและไม่ให้ออกไปนอกประเทศ (4) ดำเนินการควบคู่ไปกับการให้การศึกษาและพัฒนากับประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนการแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคง กระบวนการสร้างสันติภาพ ซึ่งหากกระบวนการเหล่านี้ดำเนินการได้ผลสำเร็จการแก้ไขปัญหายาเสพติดก็จะได้ผลไปพร้อมกัน

5. รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ของเมียนมา ได้ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะในความร่วมมือระหว่างกัน โดยสนับสนุนแนวคิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกันนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ควรมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดในการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงสนับสนุนด้านการข่าว การตรวจพิสูจน์หลักฐาน และการสืบทราบความเชื่อมโยงของหลักฐานสู่แหล่งผลิต ควรมีการส่งเสริมการดำเนินงานด้านการพัฒนาระหว่างกัน รวมถึง การบำบัดผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติด ทั้งนี้ เสนอให้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมกัน (Action plan) ที่สามารถนำไปใช้ดำเนินการได้จริงในการปฏิบัติ และ 6. ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันที่จะให้มีการจัดตั้งกลไกและทำแผนปฏิบัติการร่วมกันระหว่างหน่วยงานกลางด้านการควบคุมยาเสพติด ที่สามารถผลักดันการดำเนินการให้เกิดผลสำเร็จอย่างจริงจังต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น