MGR Online - ตร.แถลงผลการปราบปรามประมง-ค้ามนุษย์ประมงผิดกฎหมาย จับกุมได้ 4,243 คดี ยึดเรือผิดกฎหมายกว่า 9,000 ลำ ช่วยเหยื่อต่างด้าวที่ถูกหลอกทำงานในเรือกลางทะเลได้กว่า 160 คน พร้อมทำสรุปผลการดำเนินงานส่งให้รัฐบาลเตรียมนำเข้าที่ประชุมอียู เม.ย.นี้
วันนี้ (24 ม.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี (ผบช.กมค.) ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานปราบปรามประมงและการค้ามนุษย์ประมงผิดกฎหมาย แถลงผลการจับกุมประมงผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์ประมง ช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม 2558 ถึง 18 มกราคมที่ผ่านมา โดยสามารถจับกุมได้ทั้งสิ้นกว่า 4,243 คดี ยึดเรือผิดกฎหมายแล้วกว่า 9,000 ลำ จากเรือประมงทั้งหมดกว่า 40,000 ลำ เป็นเรือประมงนอกน่านน้ำ 79 คดี เรือประมงไทยในน่านน้ำและเรือต่างชาติที่ทำผิดกฎหมาย 1,052 คดี เรือไม่ติดตั้งระบบติดตามเรือ หรือ VMS 2,020 คดี สามารถจับกุมสถานแปรรูปสัตว์น้ำผิดกฎหมายอีก 68 คดี และสามารถปราบปรามการค้ามนุษย์ในภาคประมงทั้งบนบก และบนเรือได้อีก 85 คดี จับผู้ต้องหาได้กว่า 100 คน และสามารถช่วยเหลือเหยื่อได้กว่า 160 คน จากการที่ถูกทำงานในเรือกลางทะเล ส่วนใหญ่เป็นสัญชาติกัมพูชา พม่า และอินโดนีเซีย โดยเหยื่อถูกหลอกชักชวนให้มาทำงานที่โรงงานแปรรูปอาหารสัตว์บนฝั่ง โดยผู้ชักชวนให้เหยื่อพักอาศัยค้างคืนบนเรือ แล้วนำเรือออกขณะที่เหยื่อพักผ่อนช่วงเวลากลางคืน ทำให้ต้องจำยอมถูกใช้แรงงาน หรือทำงานเกินกว่าเวลา วันละไม่ต่ำกว่า 20 ชั่วโมง
พล.ต.ท.จารุวัฒน์กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมายมาโดยตลอด และมีผลการจับกุมมากที่สุดในเอเชีย ขณะนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รวบรวมผลการดำเนินการทั้งหมดรายงานต่อรัฐบาล เพื่อเตรียมนำเข้าที่ประชุมสหภาพยุโรป หรือ EU อีกครั้งในเดือนเมษายน เพื่อพิจารณาจัดอันดับ IUU Fishing หรือมาตรการในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมายแล้ว
ด้าน พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ฝากถึงผู้ประกอบการที่จ้างแรงงานลงเรือประมง ให้ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานอย่างเคร่งครัด ชี้แจงลักษณะงานให้แรงงานทราบอย่างชัดเจน รวมทั้งตกลงเงื่อนไงการจ้างงานที่ถูกต้องกับแรงงาน มิเช่นนั้นจะเข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ค้ามนุษย์