ศูนย์ข่าวศรีราชา - เหยื่อเรือประมงชาวไทย วอนกระทรวงคมนาคมช่วย หลังหน่วยงานรัฐในพื้นที่ไม่กล้าแตะเรือใหญ่ หลังถูกเรือสินค้านิรนามพุ่งชนอับปางกลางทะเลจนได้รับความเสียหายอย่างหนัก จนมีผู้เสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บสาหัสอีก 4 ราย ขณะที่หน่วยงานเกี่ยวข้องยังไม่สามารถชี้ชัดเรือสินค้าที่พุ่งชนได้ และล่าสุด เรือต้องสงสัยสัญชาติปากีสถาน ยังเตรียมเดินทางออกนอกประเทศได้แบบสบายใจ ส่วนคนไทย ผู้สูญเสียกำลังทุกข์หนัก
วันนี้ (8 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวความคืบหน้าเหตุเรือประมง “โชคชูชัย” ขนาดความยาว 17.91 เมตร กว้าง 5.54 เมตร หนัก 53.91 ตันกรอส เครื่องยนต์ 268.56 กิโลวัตต์ ถูกเรือบรรทุกสินค้านิรนามขนาดใหญ่พุ่งชนจนอับปางจมทะเลบริเวณละติจูด 12 องศา 3.28 ลิปดาเหนือ ลองจิจูด 101 องศา 12.10 ลิปดาตะวันออก ห่างชายฝั่งมาบตาพุด จ.ระยอง ประมาณ 38 ไมล์ จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บสาหัส 4 ราย เหตุเกิดเมื่อเวลาประมาณ 23.17 น.วันที่ 5 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเจ้าของเรือประมงได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ที่ สภ. มาบตาพุด จ.ระยอง ไว้เป็นหลักฐาน
โดยระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีเรือสินค้าต่างต้องสงสัย ชื่อ Hyderabad สัญชาติปากีสถาน ขนาด 29,365 ตัน ยาว 189 เมตร ซึ่งเป็นเรือบรรทุกถ่านหินจากประเทศอินโดนีเซีย เดินทางมาจากจ.ระยอง เพื่อมาทิ้งสมอทำการขนถ่ายถ่านหินลงเรือบาส บริเวณหน้าเกาะสีชังนั้น
ล่าสุด นายสิทธิโชค อิ่มประไพ อายุ 30 ปี หลานชายเจ้าของเรือประมง “โชคชูชัย” ได้ออกมาเปิดใจต่อผู้สื่อข่าวว่า หลังเกิดเหตุหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้เสียหายพยายามติดตามเรือต้องสงสัยที่ก่อเหตุในครั้งนี้ โดยพบเรือเพียงลำเดียว คือ เรือชื่อ Hyderabad สัญชาติปากีสถาน ที่มีร่องรอยการเฉี่ยวชนบริเวณหัวเรือ แต่กัปตันเรือลำดังกล่าวให้การปฏิเสธว่าไม่ได้ชนเรือประมงไทยจนอับปาง พร้อมอ้างว่า ร่องรอยที่เกิดขึ้นบริเวณหัวเรือเป็นรอยเก่าที่เกิดจากประเทศสิงคโปร์
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน จ.ระยอง ที่พยายามเก็บสีจากร่องรอยการเฉี่ยวชนจากเรือสินค้าต่างประเทศลำดังกล่าวว่า เป็นไปด้วยความยากลำบาก นอกจากนั้นเรือประมงไทยที่อับปางกลางทะเลมาบตาพุดยังจะต้องกู้ซากเรือที่จมขึ้นมาเหนือน้ำ เพื่อเก็บหลักฐานต่างๆ เช่น ร่องรอยการชน สีจากเรือสินค้าที่เฉี่ยวชนเพื่อนำมาเปรียบเทียบทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง และผู้เสียหายต้องออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด ทั้งๆ ที่ไม่มีความชัดเจนว่าจะได้กลับคืนอย่างไร
ประเด็นดังกล่าว นายสิทธิโชค ให้ความเห็นว่า ขั้นตอนการตรวจสอบที่ต้องใช้ระยะเวลาหลายวัน ทำให้ตนเอง และครอบครัวต้องเสียค่าใช่จ่ายที่สูงมาก และขณะนี้ยังทราบว่า เรือต้องสงสัย กำลังเร่งโหลดสินค้าถ่านหินให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อจะเดินทางกลับประเทศ ซึ่งหลังจากนี้คงยากที่จะติดตาม และหาหลักฐานในการดำเนินคดี
“ก็หวั่นว่าความเสียหาย และการเสียชีวิตในครั้งนี้จะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นฟรี เพราะเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ก็ไม่กล้าตัดสินใจระงับ และกักเรือเพื่อรอตรวจสอบความชัดเจน เพราะหากเรือลำนี้ไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้เรือประมงไทยอับปาง และมีผู้เสียชีวิต เจ้าหน้าที่ หรือหน่วยงานรัฐที่ดำเนินคดีในเรื่องนี้จะถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากเรือต้องสงสัย จึงคิดว่าทำให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ไม่กล้าแตะต้องเรือสินค้าต่างชาติ อย่างไรก็ดี ขอวอนไปยังกระทรวงคมนาคมให้เข้ามาช่วยเหลือเป็นพิเศษ เพราะหน่วยงานรัฐในพื้นที่ไม่กล้าแตะ ที่สำคัญเกิดเหตุในน่านน้ำไทย และมีคนไทยและแรงงานต่างด้าวเสียชีวิตถึง 4 ราย โดยจะให้ผู้เสียหายต่อสู้ตามลำพังนั้นคงจะยากที่จะหาผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมายพร้อมชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นได้” นายสิทธิโชค กล่าว