MGR Online - ดีเอสไอชี้แจงการดำเนินคดีกับขบวนการหนี้นอกระบบ “กลุ่ม วี 8” ของ นายวิชัย ปั้นงาม คืบหน้าร้อยละ 70 มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ หมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 200 ปี จ.ปทุมธานี และมีสาขาทั่วประเทศมากกว่า 86 สาขา ซึ่งศาลอาญาได้ออกหมายจับบุคคลที่มีชื่อในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ในตำแหน่งบัญชีคุมงาน 48 ราย
สืบเนื่องจากตามที่ปรากฏข่าวในสื่อหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 22 ม.ค.2561 คอลัมน์ “คมคิด คนเขียน” โดยนามปากกา “เขื่อนขันธ์” ได้กล่าวถึงการดำเนินคดีของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในเรื่องการปล่อยเงินกู้นอกระบบ กลุ่ม “กลุ่ม วี 8” ของ นายวิชัย ปั้นงาม มีวงเงินมูลค่ากระทำความผิดหลายพันล้านบาท ซึ่ง นายวิชัย ได้หลบหนีหมายจับของศาลอาญาไปต่างประเทศ และเพิ่งเข้ามอบตัวต่อ ดีเอสไอ เมื่อวันที่ 17 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยระบุในข่าวว่า คดีดังกล่าวไม่มีความคืบหน้า ไม่ปรากฏเป็นข่าวให้สาธารณชนได้ติดตาม นั้น
ล่าสุด วันนี้ (22 ม.ค.) คณะโฆษกดีเอสไอ ขอชี้แจงว่า คดีดังกล่าวมีการสืบสวนสอบสวนอย่างต่อเนื่อง และพบว่าเครือข่ายเงินกู้นอกระบบรายนี้ ได้จัดตั้งเป็นองค์กรรวมกันเป็นคณะบุคคล ชื่อวีแปด (V8) มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ หมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 200 ปี จ.ปทุมธานี และมีสาขาทั่วประเทศมากกว่า 86 สาขา ประกอบด้วย พนักงานเป็นสมาชิกของคณะบุคคลมากกว่า 2,000 คน มียานพาหนะเป็น รถ จยย. ที่ใช้ในการดำเนินการกว่า 1,500 คัน โดยการปล่อยเงินกู้จะคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 20 บาท ต่อ 24 วัน หรือคิดเป็นร้อยละประมาณ 300 บาทต่อปี ซึ่งเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ร้อยละ 15 บาทต่อปี มีผู้กู้ทั่วประเทศกว่า 100,000 ราย มูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท โดยใช้สำนักงานใหญ่ที่ จ.ปทุมธานี เป็นสถานที่ควบคุมและสั่งการกลุ่มเครือข่ายสาขาทั่วประเทศในการปล่อยเงินกู้ผิดกฎหมายให้แก่ประชาชนทั่วไป
ทั้งนี้ ในการดำเนินการจะใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์มาใช้ในการเก็บข้อมูลทางบัญชี สามารถออนไลน์เชื่อมโยงส่งต่อหรือรายงานไปยังบุคคลภายในองค์กรได้ มีการเก็บข้อมูล รายชื่อบุคคลที่เป็นเครือข่ายรับผิดชอบในแต่ละพื้นที่ รายชื่อลูกหนี้ทั้งหมดที่กู้เงินจากเครือข่ายและรายละเอียดการผ่อนชำระรายวัน รวมถึงข้อมูลการติดต่อสื่อสาร หรือสั่งการกันทางออนไลน์ ซึ่ง ดีเอสไอ ได้นำเสนอข่าวการดำเนินคดีต่อสาธารณชนมาเป็นระยะ ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2561 ที่ผ่านมา
ปัจจุบันคดีมีความคืบหน้าไปกว่าร้อยละ 70 โดยศาลอาญาออกหมายจับ นายวิชัย ปั้นงาม และ นายไชยวุฒิ วิวัฒนะอารีกุล หัวหน้ากลุ่มและหัวหน้าฝ่ายไอทีตามลำดับ ในความผิดฐาน “ร่วมกันเป็นอั้งยี่ โดยเป็นหัวหน้า ผู้จัดการ หรือผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในคณะบุคคลนั้น, ประกอบธุรกิจให้สินเชื่อโดยไม่ได้รับอนุญาต และเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา” และมีการจับกุมบุคคลทั้ง 2 รายได้แล้ว นอกจากนั้น ศาลอาญายังออกหมายจับบุคคลที่มีชื่อในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ดังกล่าว ในตำแหน่งบัญชีคุมงาน 48 ราย ได้จับกุมตัวตามหมายจับแล้วและปล่อยตัวชั่วคราวโดยมีหลักประกันจำนวน 46 ราย อยู่ระหว่างการติดตามตัว 2 ราย มีการสนธิกำลังกับสำนักงาน ปปง. เข้าตรวจค้นและยึดทรัพย์ผู้เกี่ยวข้องกว่า 48 เป้าหมาย มีทรัพย์สินที่ถูกยึดและอายัดเป็นจำนวนมาก มูลค่าประมาณ 800 ล้านบาท คาดว่า จะสอบสวนเสร็จสิ้นประมาณ มี.ค. 2561