MGR Online - สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ยุติธรรม เผยผลตรวจลอตเตอรี่ประจำงวด 1 พ.ย. 60 พิสูจน์รอยนิ้วมือ ได้ใช้วิธีการทางเคมีและวิธีการทางแสง พบลายนิ้วมือของ ร.ต.ท.จรูญ แต่ไม่สามารถนำไปเปรียบเทียบกับสารพันธุกรรมของบุคคลทั้ง 5 คนได้
สืบเนื่องจากกรณี นายปรีชา ใคร่ครวญ อายุ 50 ปี ครูชำนาญการพิเศษโรงเรียนเทพมงคลรังษี ต.บ้านเหนือ อ.เมืองกาญจนบุรี อ้างว่า ถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 หมายเลข 533726 งวดประจำวันที่ 1 พ.ย. 60 จำนวน 1 ชุด 5 ใบ แต่ไม่ได้ขึ้นเงินเพราะลอตเตอรี่หาย ต่อมามี ร.ต.ท.จรูญ วิมล อดีตตำรวจ เป็นผู้ไปขึ้นเงินรางวัล จากนั้นต่างอ้างสิทธิ์เป็นของตัวเอง โดยมีการแจ้งความดำเนินคดีและอายัดเงินรางวัล ซึ่งทาง บก.ป. ต้องเข้าร่วมคลี่คลายคดี เนื่องจากเป็นคดีที่สังคมให้ความสนใจ ก่อนนัดหมายให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายเดินทางมาเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอ เพื่อนำไปตรวจเปรียบเทียบกับดีเอ็นเอที่พบในลอตเตอรี่เจ้าปัญหาเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2560 ที่ผ่านมา
วันนี้ (19 ม.ค.) เวลา 14.00 น. ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม (สนว.ยธ.) ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ นายสมณ์ พรหมรส ผอ.สนว.ยธ. พร้อมด้วย นพ.วรวีร์ ไวยวุฒิ ผอ.กองสารพันธุกรรม พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ รอง ผอ.สนว.ยธ. และ พ.ต.ท.หญิง วิวรรณ สุวรรณสัมฤทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านลายพิมพ์นิ้วมือ ร่วมกันแถลงผลการตรวจ DNA และลายนิ้วมือบนลอตเตอรี่ รางวัลที่ 1 จำนวนเงินรางวัล 30 ล้านบาทดังกล่าว
นายสมณ์ เผยว่า สนว.ยธ. ได้รับหนังสือจากทางพนักงานสอบสวน สภ.เมืองกาญจนบุรี ให้ช่วยตรวจสอบหาลายนิ้วมือแฝงและสารพันธุกรรมของสลากกินแบ่งรัฐบาลรางวัลที่ 1 จำนวน 5 ชุด ประกอบด้วย ชุดที่ 4, 7, 14, 15 และ 22 โดยมีการตรวจพิสูจน์บุคคลจำนวน 5 คน คือ 1. ร.ต.ท.จรูญ วิมูล 2. นางลาวัลย์ วิมูล 3. นายปรีชา ใคร่ครวญ 4. น.ส.รัตนาพร สุภาทิพย์ และ 5. น.ส.พัชริดา พรมตา ซึ่งทางสถาบันฯได้ตั้งคณะกรรมออกเป็น 2 ชุด คือ 1. ชุดตรวจสารทางพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ และ 2. ชุดตรวจสอบลายนิ้วมือ
นายสมณ์ เผยอีกว่า ผลการตรวจพิสูจน์รอยนิ้วมือ ได้ใช้วิธีการทางเคมีและวิธีการทางแสง ระหว่างวันที่ 22 ธ.ค. 60 - 3 ม.ค. 61 ที่ผ่านมา ผลการตรวจพบลายนิ้วมือยืนยันตัวบุคคลจำนวน 2 รอย บนสลากกินแบ่งรัฐบาลชุดที่ 7 และ 22 โดยชุดที่ 7 ปรากฏพบลายนิ้วหัวแม่มือของมือข้างซ้าย บริเวณตรงกลางสลาก เป็นรอยลักษณะมีการลงน้ำหนัก ส่วนชุดที่ 22 ปรากฎนิ้วก้อยของมือข้างซ้าย ซึ่งทั้ง 2 รอยที่ตรวจพบตรงกับลายนิ้วมือของ
ร.ต.ท.จรูญ จากนั้น เจ้าหน้าที่จึงนำสลากดังกล่าวมาทำการตรวจพิสูจน์ทางพันธุกรรม และได้ดำเนินการตรวจพิสูจน์โดยใช้เทคนิค Polymmerase Chain Reaction (PCR) ระหว่างวันที่ 4 - 11 ม.ค. 61 ซึ่งผลตรวจทางพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ ผลปรากฏว่า มีสารพันธุกรรมแบบผสม หรือพันธุกรรมหลายบุคคลปะปนกันเป็นจำนวนมาก และมีสารพันธุกรรมน้อยเกินไปจนไม่สามารถแยกแยะรูปแบบของสารพันธุกรรมของบุคคลได้อย่างชัดเจน จึงสรุปได้ว่าไม่สามารถนำไปเปรียบเทียบกับสารพันธุกรรมของบุคคลทั้ง 5 คนได้
“ผลการตรวจดังกล่าวทางสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ขอยืนยันว่า เป็นการตรวจที่ได้มาตรฐานสากล หากทางสถาบันฯไม่สามารถตรวจพบหรือไม่สามารถยืนยันได้ก็จะบอกไปตามความจริง ตามหลักฐานและผลตรวจโดยจะไม่มีการตรวจซ้ำอีก เพราะผลการตรวจที่ออกมาเป็นที่แน่ชัด และมีการยืนยันจากทางผู้เชี่ยวชาญแล้ว หลังจากนี้ จะมอบผลตรวจให้กับทางพนักงานสอบสวน สภ.เมืองกาญจนบุรี และมอบสลากกินแบ่งรัฐบาลดังกล่าวคืนให้กับกองสลาก โดยหลังจากนี้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป” ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กล่าว
ด้าน นพ.วรวีร์ กล่าวว่า ผลการตรวจสารพันธุกรรมในครั้งนี้ไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้ เนื่องจากมีสารพันธุกรรมจำนวนมาก ซึ่งได้ใช้การตรวจพิสูจน์ตามหลักการเดียวกันกับเจ้าหน้าที่เอฟบีไอ (FBI) ซึ่งผลการตรวจดีเอ็นเอนั้น ถ้าเป็นวัตถุสามารถระบุได้ว่าใครเคยสัมผัสวัตถุดังกล่าวได้ แต่จะไม่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นเจ้าของวัตถุดังกล่าว