xs
xsm
sm
md
lg

ปปง.ยึดโมเดล “ณิชา” หารือสถาบันการเงิน ป้องกันแอบอ้างเปิดบัญชี พบเครือข่ายฟอกเงิน 4,000 บัญชี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - ปปง. ร่วมแบงก์ชาติ และสถาบันการเงินภาคธุรกิจธนาคาร จำนวน 36 แห่ง หารือป้องกันแอบอ้างเปิดบัญชี พบว่า มีบัญชีต้องสงสัยที่เข้าข่ายพฤติการณ์ขโมยข้อมูลบัตรประชาชนไปเปิดบัญชีกว่า 4,000 บัญชี และต้องดำเนินการกฎหมายฟอกเงินต่อไป

วันนี้ (15 ม.ค.) เวลา 14.00 น. สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ วีริยาสรร รักษาราชการแทนเลขาธิการ ปปง. พร้อมด้วย นายพีระพัฒน์ อิงพงษ์พันธ์ ผอ.กองคดี 1 ปปง. นายสรรเพชญ แสงเนตรสว่าง ผอ.กองกฎหมาย ปปง. ร่วมประชุมหารือเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติ กับ นายยงศักดิ์ เซี่ยงหลอ ผอ.อาวุโส ฝ่ายตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทย และ นายวิเชียร ชิดชนกนารถ ผอ.สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย รวมทั้งสถาบันการเงินภาคธุรกิจธนาคาร จำนวน 36 แห่ง โดยใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง

พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากสถาบันการเงินซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย จึงต้องปฏิบัติตามกฎหมายฟอกเงินเกี่ยวกับการเปิดบัญชีและการรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยมายัง ปปง. โดยที่ผ่านมาพบว่าได้มีการเปิดบัญชีธนาคาร ซึ่งใช้วิธีการขโมยข้อมูลบัตรประชาชนผู้อื่นไปเปิดบัญชีธนาคารและใช้รับโอนเงินจากการกระทำผิดมายังบัญชีดังกล่าว ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของบัตรประชาชนตัวจริง คือ น.ส.ณิชา เกียรติธ นะไพบูลย์ อายุ 24 ปี พนักงานบริษัทเอกชนแห่ง หนึ่ง ที่ถูกคนร้ายเป็นขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์นำบัตรประชาชนไปขอเปิดบัญชีธนาคาร 7 แห่ง รวม 9 บัญชี ดังนั้น ในวันนี้จึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมทำความเข้าใจ

“จากการตรวจสอบเบื้องต้นของสถาบันการเงิน พบว่า ขณะนี้มีบัญชีต้องสงสัยที่เข้าข่ายพฤติการณ์ขโมยข้อมูลบัตรประชาชนไปเปิดบัญชีเพื่อกระทำความผิดจำนวนกว่า 4,000 บัญชี ในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา ทาง ปปง. ได้ร่วมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำการสืบสวนขยายผลผู้เปิดบัญชีธนาคาร หากทราบว่าไม่สอดคล้องกับสถานภาพตัวเองก็อาจออกหมายเรียกให้มาชี้แจงและขยายผลต่อไป” พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ กล่าว

ด้าน นายพีระพัฒน์ เปิดเผยว่า ปปง. กำลังรวบรวมหลักฐานจากธนาคาร 7 แห่ง เปิด 9 บัญชี ของ น.ส.ณิชา ซึ่งได้รับมาเพียงบางส่วน เพราะธนาคารอยู่ระหว่างส่งมาให้ ปปง. ตรวจสอบ ทั้ง ภาพกล้องวงจรปิด เอกสารต่างๆ เพื่อส่งคณะกรรมการพิจารณาความผิดต่อไป นอกจากนี้ ยังขอให้สถาบันการเงิน ประสานกับกรมการปกครอง เพื่อติดตั้งโปรแกรมเพื่อตรวจสอบสถานะของบัตรประชาชนว่ายังสามารถใช้การอยู่ได้หรือแจ้งหายไว้แล้ว

ส่วนทาง นายวิเชียร ระบุว่า กรมการปกครอง จัดทำบัตรประชาชนซึ่งมีระบบฐานข้อมูลส่วนตัว โดยหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว หน่วยงานภาครัฐและเอกชนควรมีการตรวจสอบเข้มงวดมากขึ้น หากมีบุคคลเข้ามาติดต่อ เช่น รูปภาพและข้อมูลบัตรประชาชนว่าถูกต้องหรือไม่, IC Ship เช่น เลขบัตร 13 หลัก เลขข้อมูลคำร้องขอทำบัตร เลขประจำ IC Ship ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ทันทีว่าบัตรประชาชนนั้นมีการแจ้งหายแล้วหรือไม่ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลกับธนาคาร แต่ที่ผ่านมาธนาคารยังใช้วิธีการตรวจสอบวิธีนี้ค่อนข้างน้อย เนื่องจากไม่ได้มีข้อบังคับให้ทุกธนาคารใช้ เพียงแต่เป็นข้อควรปฏิบัติ

ขณะที่ นายยงศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากกรณีดังกล่าวกำชับให้ธนาคารทุกแห่งควบคุมตรวจสอบภายในเข้มงวดขึ้น เมื่อเปิดบัญชีลูกค้าแล้วต้องติดตามผล ว่า มีการให้บุคคลอื่นถือบัญชีแทนหรือไม่ สำหรับลูกค้าธนาคารที่มีการทำศัลยกรรมบนใบหน้าแตกต่างจากภาพในบัตรประชาชน ธนาคารจะต้องให้ลูกค้าไปทำบัตรประชาชนใหม่ หรือมีใบรับรองจากแพทย์ชัดเจนว่าไปทำศัลยกรรมมา อย่างไรก็ตาม ในอนาคตหากมีการนำบัตรประชาชนไปเปิดบัญชีและสร้างความเสียหายเกิดขึ้น ทางผู้บริหารธนาคารจะต้องมีส่วนรับผิดชอบฐานประมาทเลินเล่อ


กำลังโหลดความคิดเห็น