MGR Online - มูลนิธิกระจกเงากระตุ้นสังคมและหน่วยงานรัฐ หลังพบเด็กหนีออกจากบ้านเกิดจากการชักชวนในโลกโซเชียล เป็นเด็กผู้หญิงมากกว่าเด็กชายถึง 3 เท่า สาเหตุมาจากความรุนแรงในครอบครัว ขณะที่ตำรวจพร้อมเก็บดีเอ็นเอเด็กพลัดหลงพิสูจน์ความชัดเจน
วันนี้ (11 ม.ค.) ที่สถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจ มูลนิธิกระจกเงา ร่วมกับสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ และ กองทะเบียนประวัติอาชญากร แถลงข่าวสถานการณ์เด็กหายประจำปี 2560 และความสำคัญของการตรวจดีเอ็นเอเพื่อคัดกรองกลุ่มเด็กเร่ร่อนที่อาจหายออกจากบ้านและเปิดตัวภาพจำลองเด็กที่สูญหายออกจากบ้านไปนานเป็นรายที่ 7 พร้อมเตือนภัยก่อนช่วงเทศกาลวันเด็ก
นายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า สถิติปี 2560 มูลนิธิได้รับแจ้งเด็กหาย 402 คน พบปัญหาที่เด็กหนีออกจากบ้านเป็นความสมัครใจของเด็กเอง อายุเฉลี่ย 13 - 15 ปี เป็นเด็กผู้หญิงมากกว่าเด็กชายถึง 3 เท่า สาเหตุมาจากความรุนแรงในครอบครัว และถูกชักชวนไปอยู่กับแฟน รวมทั้งถูกโน้มน้าวจากคนรู้จักในโลกออนไลน์ ทั้งนี้ 3 ปีที่ผ่านมา แม้สถิติเด็กหายจะลดลงแต่ก็ถือว่ายังเป็นปัญหารุนแรงเนื่องจาก เป็นเด็กหนีออกจากบ้านเกินกว่า 400 คนทุกปี อย่างไรตาม ยังพบว่า ในรอบ 4 ปี มีเด็กที่แจ้งหายถูกฆาตกรรม จำนวน 12 คน โดยมี 3 รายที่ไม่สามารถจับผู้กระทำได้ เช่น ในพื้นที่ สน.บางเขน คดี ด.ญ.ชาวกัมพูชา อายุ 7 ขวบ ถูกฆาตกรรม เมื่อเดือน เม.ย. 2557 คดีเด็กอายุ 2 ขวบ ถูกพบเป็นโครงกระดูก ที่นครศรีธรรมราช และ เหตุเด็กอายุ 6 ขวบ ถูกฆาตกรรมที่ จ.ภูเก็ต ทั้งนี้ สำหรับวันเด็กที่จะถึง แนะนำให้ผู้ปกครองดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด อาทิ จดจำการแต่งกายก่อนออกจากบ้าน เขียนชื่อ - ที่อยู่ เบอร์โทร.ติดตัวเด็กไว้ป้องกันเด็กพลัดหลง
ด้าน พ.ต.อ.วาที อัศวุตมางกูร หัวหน้ากลุ่มงานตรวจเลือดชีวเคมี สถาบันนิติเวชวิทยา กล่าวว่า ขณะนี้มีเด็กที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ต่างๆทั่วประเทศจำนวน 1,292 ราย พบว่า การเข้าถึงข้อมูลเพื่อเก็บเป็นฐานข้อมูลของเด็กเหล่านี้ทำได้ยาก พบว่า มีเด็กถึง 10% หรือกว่า 100 ราย ที่ไม่ทราบประวัติพ่อแม่ ผู้ปกครอง ของเด็ก
ขณะที่ พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ บูรณะ ผกก.2 กองทะเบียนประวัติอาชญากร กล่าวว่า กระบวนการทำภาพสเกตช์เด็กหายของกองทะเบียนมีมาตรฐานตามหลักสากล คือ เด็กหายที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี จะทำการสเกตช์ภาพเพิ่มอายุทุก 2 ปี ส่วนเด็กหายที่อายุเกิน 18 ปี จะทำการสเกตภาพทุก 5 ปี ซึ่งห้วงเวลาดังกล่าวลักษณะใบหน้าจะมีการเปลี่ยนแปลง หลักการคือ ต้องหาข้อมูลลักษณะทางกายภาพ รวมทั้งข้อมูล ภาพถ่าย ครอบครัว ญาติพี่น้อง ยืนยันความใกล้เคียงของใบหน้าทำตามหลักการ โครงหน้า ทรงผม ดวงตา ประเมินว่า มีความเหมือน 70 เปอร์เซ็นต์ ในห้วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลง