xs
xsm
sm
md
lg

คำขอก็ยื่นไป... แต่เหตุใด ! ไม่ออกโฉนดที่ดินให้เสียที ?

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

“ยื่นหนังสือไปตั้งนาน... ตามเรื่องก็หลายครั้ง... แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังไม่ออกโฉนดที่ดินให้เรา ทั้งสองคนเสียที สงสัยต้องไปฟ้องคดีต่อศาลปกครองแล้วกระมัง !” นายอาทิตย์และนางจันทร์ สองลูกพี่ลูกน้องนั่งบ่นนั่งปรับทุกข์กัน ก่อนที่จะนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองในที่สุด...

เรื่องนี้ถือได้ว่าเป็นอุทาหรณ์ที่น่าสนใจเลยทีเดียวค่ะ เพราะความไม่รู้หรือไม่เข้าใจในขั้นตอนการยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินแท้ๆ ทำให้นายอาทิตย์และนางจันทร์สองลูกพี่ลูกน้องต้องรอเก้อ... เรื่องก็ไม่คืบหน้า จนสุดท้ายถึงขั้นต้องฟ้องเป็นคดีขึ้นโรงขึ้นศาลกันเลยละค่ะ

คดีนี้ เรื่องมีอยู่ว่าผู้ฟ้องคดีคือ นายอาทิตย์ (ผู้ฟ้องคดีที่ 1) และ นางจันทร์ (ผู้ฟ้องคดีที่ 2) ในฐานะทายาทของนาย ก. และนาง ข. ที่ได้รับโอนการครอบครองที่ดินแปลงพิพาทต่อมาจากบิดาก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ โดยผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้ยื่นหนังสือลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2556 ต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) เพื่อขอให้ดำเนินการและมีคำสั่งให้ออกโฉนดที่ดินแปลงที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองมีการครอบครองอยู่ รวม 24 ไร่เศษ โดยอ้างว่าที่ดินดังกล่าวนาย ก. และนาง ข. ได้รับโอนการครอบครองมาจากบิดาซึ่งเดิมเคยมีเอกสารแสดงสิทธิครอบครองและได้มีการออกเอกสารหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แต่เอกสารต้นฉบับได้สูญหายไป

หลังจากยื่นหนังสือดังกล่าวแล้ว ผู้ฟ้องคดีทั้งสองก็ได้ติดตามสอบถามความคืบหน้าของเรื่องเรื่อยมาหลายครั้ง แต่จนขณะยื่นฟ้องคดีนี้ เจ้าพนักงานที่ดินก็ยังไม่ดำเนินการใดๆ ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ผู้ว่าราชการจังหวัด) ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่ต้องตรวจสอบเร่งรัดการทำงานและหากเห็นว่าสามารถออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้จะต้องดำเนินการโดยไม่ชักช้า ผู้ฟ้องคดีจึงเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเร่งรัดพิจารณาคำขอออกโฉนดที่ดินและออกโฉนดที่ดินตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งสองคน จึงเป็นการฟ้องว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร

ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองสูงสุด ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอถอนคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา และศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งอนุญาตให้ถอนคำร้องได้ คดีนี้จึงเหลือผู้ฟ้องคดีที่ 2 เพียงคนเดียว

คดีมีประเด็นที่ต้องพิจารณาก่อนว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีหรือไม่ เนื่องจากมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 กำหนดให้ผู้มีสิทธิฟ้องคดีต้องเป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้
อันเนื่องมาจากการกระทำหรืองดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เมื่อผู้ฟ้องคดี ที่ 2 ได้ยื่นคำฟ้องโดยขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเร่งรัดการพิจารณาคำขอออกโฉนดที่ดิน อันเป็นการฟ้องว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยหรือล่าช้าต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ปฏิบัติ ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ซึ่งการจะพิจารณาว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยหรือล่าช้าต่อหน้าที่ดังกล่าวหรือไม่ ต้องพิจารณาก่อนว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่

โดยศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยว่า กรณีที่จะถือว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย อาจพิจารณาได้เป็น 2 ประเภท คือ ประเภทแรก เป็นกรณีที่กฎหมายได้กำหนดหน้าที่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องปฏิบัติการนั้น ๆ โดยไม่จำต้องมีบุคคลยื่นคำขอ ส่วนประเภทที่สอง เจ้าหน้าที่ของรัฐจะมีหน้าที่
ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายต่อเมื่อมีผู้ยื่นคำขอก่อน

กรณีการขอออกโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่ 2 นั้น กฎหมายกำหนดให้ผู้ประสงค์จะขอออกโฉนดที่ดินจะต้อง “ยื่นคำขอ” ออกโฉนดที่ดินตามแบบที่กฎหมายกำหนด และก่อนยื่นคำขอต้องให้ผู้ขอชี้ระวางแผนที่ก่อนโดยติดต่อกับฝ่ายรังวัด เมื่อผู้ฟ้องคดีที่ 2 ไม่ได้ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินตามแบบ น.ส. 1 ข. ตามที่กฎกระทรวง ฉบับที่ 43 (พ.ศ. 2537) ออกตามความใน พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 กำหนดไว้ เพียงแต่ยื่นหนังสือที่ระบุข้อความตามแบบของตัวเอง ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินอ้างว่าเมื่อผู้ฟ้องคดีมาติดตามเรื่องก็ได้ทำการตรวจสอบบัญชีรับเรื่องการรังวัดออกโฉนดที่ดิน (บทด. 11) หลักฐาน ส.ค. 1 หลักฐาน น.ส. 3 ก. และอื่น ๆ รวมทั้งบัญชีรับทำการ (บทด. 2) ก็ไม่พบว่ามีการยื่นคำขอจากผู้ฟ้องคดี

เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการยื่นคำขอตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงยังไม่มีหน้าที่ ที่จะต้องดำเนินการออกโฉนดที่ดินตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีจึงไม่มีข้อพิพาทที่เกิดจากการที่เจ้าพนักงานที่ดินไม่ดำเนินการออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 2 ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีที่ 2 จึงไม่ใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายที่จะมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ ที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีที่ 2 ไว้พิจารณานั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 200/2560)

คดีนี้... ศาลปกครองสูงสุดได้วางหลักเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐว่ามี 2 ประเภท คือ 1. หน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายแม้ไม่มีการร้องขอจากผู้ใด และ 2. หน้าที่ที่จะปฏิบัติตามกฎหมายได้ต่อเมื่อมีผู้ยื่นคำขอ ซึ่งกรณีการออกโฉนดที่ดินนั้น เป็นประเภทที่ต้องยื่นคำขอเสียก่อน เจ้าหน้าที่ของรัฐ
ซึ่งก็คือเจ้าพนักงานที่ดินจึงจะมีหน้าที่ต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

อย่างไรก็ตาม... ในการยื่นคำขอดังกล่าว ก็ใช่ว่าจะยื่นแบบใดก็ได้นะคะ ผู้ยื่นจะต้องศึกษาหรือสอบถามเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่ว่า คำขอในเรื่องนั้น ๆ มีกฎหมายกำหนดรูปแบบของคำขอไว้โดยเฉพาะหรือไม่ เช่น การยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินที่ต้องยื่นตามรูปแบบที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ซึ่งเป็นแบบฟอร์มเฉพาะที่สามารถขอรับได้ที่สำนักงานที่ดิน การมีหนังสือยื่นคำขอโดยไม่เป็นไปตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้ จึงยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นการยื่นคำขอที่ถูกต้อง เจ้าหน้าที่จึงยังไม่มีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย และยังไม่อาจถือได้ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยหรือล่าช้าต่อหน้าที่นั่นเองค่ะ

ฉะนั้น ในการติดต่อราชการหรือจะยื่นคำขอใด ๆ ผู้ประสงค์จะยื่นต้องสอบถามเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่ให้ชัดเจนว่าต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง ต้องยื่นคำขอตามรูปแบบใด และต้องยื่นเอกสารประกอบอะไรบ้าง

ในส่วนของเจ้าหน้าที่นั้น ในการปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 27 วรรคสอง (แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557) ได้กำหนด “หน้าที่” ของเจ้าหน้าที่ผู้รับคำขอที่จะต้องดำเนินการตรวจสอบความถูกต้อง หากพบคำขอที่ไม่ถูกต้องครบถ้วน ให้แนะนำผู้ยื่นคำขอเพื่อดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมเสียให้ถูกต้อง และหากมีเอกสารใดไม่ครบถ้วนให้แจ้งให้ผู้ยื่นคำขอทราบทันทีหรือภายในไม่เกิน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำขอ ฉะนั้น การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐในปัจจุบันจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 27 วรรคสอง ดังกล่าวด้วย หากไม่ดำเนินการอาจถูกพิจารณาโทษทางวินัยได้ ประการสำคัญคือ เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องพึงระลึกอยู่เสมอว่า ประชาชนอาจไม่เข้าใจขั้นตอนของกฎหมาย หากประชาชนมาติดต่อสอบถามหรือติดตามเรื่อง จึงควรซักถามให้ได้ความและอธิบายให้ชัดเจน เพื่อที่จะได้เข้าใจถูกต้องตรงกัน ไม่ต้องเสียเวลามาขึ้นโรงขึ้นศาลเช่นในคดีนี้... นะคะ !

ป. ธรรมศลีญ์


กำลังโหลดความคิดเห็น