xs
xsm
sm
md
lg

สมาคมเคเบิลทีวีฯ จี้สอบ ซีทีเอช อำพรางหุ้นอาจเข้าข่ายฟอกเงินและฉ้อโกง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - สมาคมเคเบิลทีวีฯ 30 ราย รวมตัวร้อง ดีเอสไอ สอบบริษัท ซีทีเอช ตั้งบริษัทลูกโยกเงินส่งผลให้สมาชิกผู้ถือหุ้นสูญเงินเกือบ 2 พันล้าน อาจเข้าข่ายฟอกเงินและฉ้อโกง

วันนี้ (25 ก.ย.) เวลา 13.00 น. กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายวิริยา ธรรมเรืองทอง นายกสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย นายสุเมธ สอนสุทธิ์ ที่ปรึกษากฎหมายสมาคมเคเบิลทีวีฯ และ สมาชิกสมาคมเคเบิลทีวีฯ ประมาณ 30 ราย เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ เพื่อให้ตรวจสอบการสร้างราคาหุ้นและการตั้งบริษัทลูกเพื่อโยกเงินของ บริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) มูลค่าความเสียหายกว่า 1,900 ล้านบาท โดยมี พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองบริหารคดีพิเศษ ดีเอสไอ เป็นผู้รับเรื่อง

นายสุเมธ กล่าวว่า วันนี้นำเอกสารเพื่อให้ตรวจสอบอดีตผู้บริหาร บริษัท ซีทีเอช หลายกรณี อาทิ การเพิ่มทุนจดทะเบียนโดยใช้บัญชีซื้อขายหุ้นของบุคคลอื่นสร้างราคาหุ้นให้เพิ่มขึ้นในลักษณะอำพรางเพื่อให้บุคคลทั่วไป รวมถึง สมาชิกสมาคมเคเบิลทีวีฯ คิดว่า หุ้นมีการซื้อขายมาก โดยมีการอ้างอิงกลุ่มทุนธุรกิจสำคัญรายใหญ่เป็นผู้เสนอซื้อหุ้น อันเป็นผลทำให้การซื้อหุ้นนั้นผิดไปจากสภาพปกติเพื่อชักชวนบุคคลทั่วไปและกลุ่มสมาชิก จนสร้างความเสียหายจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังสร้างกระแสเงินโดยนำเงินเข้าบัญชีของบริษัท ซีทีเอช ในระยะสั้นๆ และนำเงินไปแจ้งต่อนายทะเบียนบริษัทมหาชนว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินชำระหุ้นที่มีการซื้อ หรือเพิ่มทุน ก่อนโยกเงินจากบริษัท ซีทีเอช ออกไป

นายสุเมธ กล่าวอีกว่า สำหรับการโยกเงินออกของบริษัท ซีทีเอช ใช้วิธีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทลูก จำนวน 7 แห่ง ที่ไม่ได้ประกอบธุรกิจจริง และอ้างว่า นำเงินไปลงทุน ซึ่งทุกบริษัทมีสำนักงานตั้งอยู่ที่เดียวกับ บริษัท ซีทีเอช รวมวงเงินไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาท ก่อนมีการยื่นเรื่องขอฟื้นฟูกิจการและอ้างว่า บริษัท ซีทีเอช เป็นลูกหนี้ของบริษัทดังกล่าวทั้งหมด จึงเชื่อว่า เป็นการเบียดบังเอาทรัพย์สินของ บริษัท ซีทีเอช อีกทั้งเข้าข่ายฉ้อโกงและฟอกเงิน ทำให้ทางสมาคมเคเบิลทีวีฯ และสมาชิกผู้ถือหุ้นในบริษัท ซีทีเอช ได้รับความเสียหาย จึงมีความประสงค์ให้ ดีเอสไอ ตรวจสอบการกระทำดังกล่าวและขอให้รับคดีไว้ตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

“ก่อนหน้านี้ เดือน ต.ค. 59 บริษัท ซีทีเอช ยื่นเรื่องต่อศาลล้มละลายกลางขอฟื้นฟูกิจการ เนื่องจากเป็นหนี้สินกว่า 2 หมื่นล้านบาท โดยศาลมีคำสั่งรับฟ้อง และนัดไต่สวนคำร้องวันที่ 20 ธ.ค. 59 แจ้งให้เจ้าหนี้ หรือผู้มีส่วนได้เสียรับทราบเพื่อคัดค้านคำร้อง โดยให้ยื่นคำคัดค้านต่อศาลก่อนวันนัดไต่สวนไม่น้อยกว่า 3 วัน กระทั่งวันที่ 22 มิ.ย. 60 ศาลล้มละลายลาง อ่านคำพิพากษา ไม่รับแผนฟื้นฟูกิจการของ บริษัท ซีทีเอช ตามที่ยื่นเสนอมา ส่งผลทำให้บริษัทจะเข้าสู่กระบวนการล้มละลายต่อไป ซึ่งคำพิพากษาดังกล่าวเป็นผลมาจากกลุ่มเจ้าหนี้รายย่อยได้ยื่นคัดค้านเนื่องจากไม่เห็นด้วยกับ บริษัท ซีทีเอช จะเปลี่ยนไปทำธุรกิจไฟฟ้าชีวมวล อ้างว่า จะมีการนำเทคโนโลยีจากจีนเข้ามาใช้ โดยศาลพิจารณาแล้วว่าธุรกิจโรงงานไฟฟ้าชีวมวลในประเทศไทย ยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ขณะที่ บริษัท ซีทีเอช เคยทำธุรกิจเคเบิ้ลทีวี มาก่อนแต่จะเปลี่ยนไปทำธุรกิจอื่น ไม่น่าจะทำได้ เพราะไม่มีความชำนาญ จึงไม่รับแผนฟื้นฟู” นายสุเมธ กล่าว

ด้าน พ.ต.ต.วรนันท์ เปิดเผยว่า วันนี้ได้รับเอกสารไว้แต่ให้ทนายความไปรวบรวมเอกสารและหลักฐานทั้งหมดจากผู้เสียหายเพิ่มเติมอีกครั้ง เพราะตัวเอกสารที่ยื่นในวันนี้ยังไม่สมบูรณ์ โดยหลังจากนี้จะนำไปพิจาณาว่าเข้าข่ายคดีที่ ดีเอสไอ รับผิดชอบหรือไม่

กำลังโหลดความคิดเห็น