ป.ป.ส.ชงแก้กฎหมายยาเสพติด ผ่อนปรนให้ใช้ใบกระท่อมแบบวิถีชาวบ้าน และวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้เช่นเดียวกับกัญชา ส่วนกัญชงให้ปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจภายใต้การควบคุมได้ แต่พืชทั้ง 3 ชนิดยังเป็นยาเสพติดประเภท 5 เผยกฤษฎีกากำลังพิจารณา
วันนี้ (17 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 16 ส.ค. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการศึกษาวิเคราะห์มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมเมทแอมเฟตามีน ครั้งที่ 2/2560 โดยมีนายมานะ ศิริพิทยาวัฒน์ ผู้อำนวยการกองกฎหมาย สำนักงาน ป.ป.ส.ทำหน้าที่อนุกรรมการและเลขานุการ พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานคดียาเสพติด สำนักงานอัยการสูงสุด กรมการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมคุมประพฤติ กรมราชทัณฑ์ กรมการปกครอง สำนักงานตํารวจแห่งชาติ ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย องค์การเภสัชกรรม และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เข้าร่วมประชุมเพื่อร่วมกันพิจารณามาตรการทางกฎหมายในการควบคุมเมทแอมเฟตามีนและอนุพันธ์
ตามคำสั่งศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ ที่ 9/2559 ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาวิเคราะห์มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมเมทแอมเฟตามีนขึ้น เพื่อปรับปรุงนโยบายและกฎหมายให้สอดคล้องกับทิศทางการดำเนินการด้านยาเสพติดโลก โดยมุ่งหมายกำหนดให้ยาเสพติดแต่ละประเภทที่ใช้ประโยชน์ต้องได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสม ไม่เหมารวม อีกทั้งกฎหมายบางบทบัญญัติขัดกับวิถีชีวิต จำเป็นต้องปรับปรุงให้ผ่อนคลาย ความเข้มงวดและสะท้อนความเป็นจริงได้ หรือเปิดช่องให้มีการศึกษาวิจัยง่ายขึ้น
คณะอนุกรรมการฯ ได้ดำเนินการศึกษาและมีข้อเสนอเกี่ยวกับมาตรการในการควบคุมที่เหมาะสมเกี่ยวกับพืชเสพติดก่อน ได้แก่ กัญชง (เฮมพ์) พืชกระท่อม กัญชา ตามลำดับ และดำเนินการเกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีนเป็นลำดับสุดท้าย ซึ่งผลการศึกษาเกี่ยวกับมาตรการในการควบคุมพืชเสพติดได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว โดยมีผลการศึกษา ดังนี้
1. กัญชง (เฮมพ์) ยังคงกำหนดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 โดยคณะกรรมการ ป.ป.ส. ได้เห็นชอบในมาตรการควบคุมและกำกับดูแลการปลูกกัญชง หรือเฮมพ์ เพื่อส่งเสริมให้เป็นพืชเศรษฐกิจ ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดตั้งกลไกการควบคุมโดย ศอ.ปส.จ.ในพื้นที่ 9 จังหวัด 23 อำเภอ ที่ได้มีการอนุญาตให้ปลูกกัญชง (เฮมพ์) ภายใต้การกำกับดูแลและกลไกการควบคุมของ ศอ.ปส.จ.
2. พืชกระท่อม กำหนดให้เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 แต่ผ่อนปรนให้สามารถใช้แบบวิถีชาวบ้าน และเปิดช่องให้สามารถขออนุญาตศึกษาวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น
3. กัญชา กำหนดให้เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 โดยจะเปิดช่องให้สามารถขออนุญาตศึกษาวิจัยกัญชา ได้สะดวกมากขึ้นเช่นเดียวกับพืชกระท่อม ซึ่งหลักการนี้ได้นำไปกำหนดไว้ในร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว
การประชุมครั้งนี้ เป็นการร่วมกันพิจารณาและแสดงความเห็นเกี่ยวกับมาตรการในการควบคุม “เมทแอมเฟตามีน” ซึ่งเป็นตัวยาเสพติดตัวสุดท้าย ที่ประชุมได้มีการอภิปรายเพื่อหามาตรการที่เหมาะสมในการควบคุมเมทแอมเฟตามีนและอนุพันธ์ โดยในเบื้องต้นที่ประชุมได้มีข้อเสนอที่จะควบคุมเมทแอมเฟตามีน (ยาบ้าและไอซ์) เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ต่อไป ส่วนอนุพันธ์ของเมทแอมเฟตามีนตัวอื่นๆ เช่น แอมเฟตามีน ที่ปัจจุบันมีการใช้ในทางการแพทย์อยู่บ้างในต่างประเทศเพื่อรักษาโรคสมาธิสั้น จะพิจารณาความเหมาะสมอีกครั้งหนึ่งว่าสมควรจะควบคุมเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 หรือควบคุมเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 เพื่อให้สามารถนำมาใช้ในทางการแพทย์ได้ โดยมีมาตรการในการควบคุมอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันการนำไปใช้ในทางที่ผิดด้วย
ท้ายที่สุดที่ประชุมได้มีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาวิเคราะห์ข้อดี ข้อเสีย และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น หากมีการกำหนดมาตรการในการควบคุมอนุพันธ์ของเมทแอมเฟตามีนบางชนิด เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 หรือเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 เพื่อให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้ ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ส.จะนำเสนอความคืบหน้าผลการดำเนินการในเรื่องนี้ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเพื่อพิจารณาต่อไป