MGR Online - ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้จำคุก “ไฮโซตั๋ม” 4 ปี ปรับ 4 แสนบาท ฐานหมิ่น “หมอแอร์” ขี้โกหก-มักมากในกาม-ประพฤติสำส่อน โทษจำคุกให้รอลงอาญา ส่วนอีกคดีหมิ่นหมอแอร์ว่าใจง่าย อยู่กินกับสามีคนอื่น ศาลอุทธรณ์สั่งจำคุก 3 ปี ปรับ 3 แสน รอลงอาญาไว้ 2 ปี ยกฟ้องข้อหาผิด พ.ร.บ.คอมพ์
วันนี้ (9 ส.ค.) ที่ห้องพิจารณาคดี 808 ศาลอาญา นัดฟังคำพิพากษาอุทธรณ์ คดีดำที่ อ.1153/2558 ที่ พ.ต.ท.พญ.อัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล เป็นโจทก์ฟ้อง น.ส.วิชชุดา ลีนุตพงษ์ หรือไฮโซตั๋ม เป็นจำเลย ฐานหมิ่นประมาทฯ กรณีระหว่างวันที่ 3-18 มีนาคม 2558 ต่อเนื่องกัน จำเลยได้ใส่ความกล่าวหาว่าโจทก์เป็นคนไม่ดี ขี้โกหก มักมากในกาม ประพฤติสำส่อนทางเพศ และอื่นๆ ซึ่งล้วนเป็นเท็จในเฟซบุ๊กของจำเลย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 1 ปี ปรับ 1 หมื่นบาท ลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 6 เดือน ปรับ 5 พันบาท โทษจำคุกรอลงอาญาไว้ 2 ปี
ต่อมาโจทก์และจำเลยยื่นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนปรึกษากันแล้ว มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระรวม 8 กระทงหรือไม่
เห็นว่าคำฟ้องโจทก์บรรยายฟ้องแยกการกระทำของจำเลย เป็น 8 ข้อ ตามวันเวลาเกิดเหตุต่างกัน ซึ่งจำเลยหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ด้วยการพิมพ์ข้อความในเครือข่ายสังคมออนไลน์เฟซบุ๊ก แต่ละวัน เวลาไม่เหมือนกัน มีเจตนาแยกต่างหากกันในแต่ละครั้ง เป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกันจำนวน 8 กรรม จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจึงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป หาใช่เป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกัน อันเป็นกรรมเดียวที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นอุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น เมื่อคดีฟังได้ดังกล่าว ศาลอุทธรณ์จึงกำหนดโทษแต่ละกระทงเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี ที่จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาจึงไม่จำต้องวินิจฉัย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่ามีเหตุให้ลงโทษจำเลยสถานหนักและไม่รอการลงโทษจำเลยหรือไม่
เห็นว่า เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแล้วว่า จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน และต้องลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิด จำเลยจึงต้องรับโทษหนักขึ้นตามจำนวนกระทงความผิดแล้ว
อย่างไรก็ดี เมื่อพิเคราะห์ ประวัติ สภาพครอบครัว อาชีพ และพฤติกรรมอื่นประกอบกับมาตราบรรเทาความเสียหายแก่โจทก์ที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้รวมถึงกรณีจำเลยวางเงินชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ 100,000 บาท การเปิดโอกาสให้จำเลยกลับตัวเป็นคนดี น่าจะเป็นประโยชน์แก่จำเลยและสังคมโดยรวม ที่ศาลชั้นต้น รอการลงโทษจำคุกให้จำเลยนั้นเหมาะสมแล้ว
อนึ่งระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ได้มี พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2560 ใช้บังคับ โดยมาตรา 8 แห่งพ.ร.บ.ดังกล่าวยกเลิกความในมาตรา 14 แห่งพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ มาตรา 14 ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ต้องระหว่างโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ (1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่ การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อาญา.......”
ดังนั้นลักษณะการกระทำความผิดของจำเลยมีความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญาอยู่ด้วย จึงไม่เป็นความผิดตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ กรณีเป็นเรื่องกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังมิได้กำหนดให้การกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดต่อไป เมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดเช่นนี้ จึงเป็นเหตุให้ยกฟ้องในความผิดฐานดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 อีกทั้งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 332 (2) ให้อำนาจศาลสั่งให้โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ หนึ่งหรือหลายฉบับเท่านั้น ไม่รวมถึงโฆษณาคำพิพากษาในเครือข่ายสังคมออนไลน์ด้วย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โฆษณาคำพิพากษาในเครือข่ายสังคมออนไลน์เฟซบุ๊กมานั้น เป็นการไม่ชอบ แม้คู่ความไม่อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง พิพากษาแก้เป็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป จำคุกกระทงละ 1 ปี และปรับกระทงละ 100,000 บาท รวม 8 กระทง จำคุก 8 ปี และปรับ 800,000 บาท ลดโทษกึ่งหนึ่งคงจำคุกจำเลย 4 ปี ปรับ 400,000 บาท ยกฟ้องความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) และยกคำขอให้โฆษณาคำพิพากษาในเครือข่ายสังคมออนไลน์เฟซบุ๊ก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
วันเดียวกันที่ห้องพิจารณาคดี 806 ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาอุทธรณ์ คดีดำที่ อ.2922/2558 ที่พนง.อัยการคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ฟ้อง น.ส.วิชชุดา ลีนุตพงษ์ เป็นจำเลยฐานหมิ่นประมาท, ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กรณีวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558 จำเลยได้หมิ่นประมาทใส่ความ พ.ต.ท.พญ.อัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล หรือหมอแอร์ ผู้เสียหาย ลงในเฟซบุ๊ก ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี ไม่รู้จักอาย ใจง่าย แอบไปอยู่กินฉันสามีภรรยากับชายอื่นซึ่งล้วนเป็นเท็จ
โดยคดีนี้ศาลชั้นต้นจำคุกจำเลย 2 ปี จำนวน 6 กระทงรวมจำคุก 12 ปี ปรับกระทงละ 1 แสนบาท รวมปรับ 6 แสนบาท รับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งคงจำคุก 6 ปี ปรับ 3 แสนบาท โทษจำรอลงอาญา 2 ปี
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาพิพากษาการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำผิดหลายกรรม ให้ลงโทษจำคุกกรรมละ 1 ปี รวม 6 กรรม ลงโทษจำคุกจำเลย 6 ปี ปรับ 6 แสนบาท ลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 ปี ปรับ 3 เเสนบาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี ส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ให้ยกฟ้อง
ภายหลัง น.ส.วิชชุดา กล่าวว่า วันนี้ศาลยกคำร้องโจทก์ในส่วนที่ฟ้องตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แต่พิพากษาแก้ให้เพิ่มค่าปรับนิดหน่อย ก็รู้สึกแฮปปี้มาก จึงไม่ขอฎีกาอีก และถือว่าคดีความกับหมอแอร์จบหมดแล้ว เพราะทำไปด้วยอารมณ์ในขณะนั้น และหลังจากนั้นก็หายโกรธ ตอนนี้ก็ต่างคนต่างอยู่
เมื่อถามว่าไฮโซตั๋มเป็นโจทก์ยื่นฟ้องใครอีกหรือไม่
น.ส.วิชชุดา กล่าวว่า ตอนนี้เหมือนมีขบวนการตั้งใจที่จะรังแกตั๋ม จริงๆ ไม่เหมือนคนโดนรังแกแต่พอมีคนรู้ว่าคดีตั๋มแค่รอลงอาญา ก็มีคนไม่หวังดีไปแจ้งความว่าเราไปหมิ่นประมาทเขา เพราะว่าถ้าเราไปหมิ่นประมาทอีกก็อาจจะโดนโทษหนักขึ้น ก็เลยได้ไปฟ้องหมิ่นประมาทและแจ้งความเท็จที่สน.วังทองหลาง ซึ่งเป็นคดีทะเลาะกันที่เกี่ยวข้องกับน้องชายมากกว่า
ขณะที่นายประพันธ์พงศ์ ธรรมชาติ ทนายของน.ส.วิชชุดากล่าวว่า คดีนี้จะฎีกาหรือไม่ต้องไปดูข้อกฎหมายอีกครั้ง แต่ก็พร้อมจะเจรจากัน เพราะเป็นความผิดหมิ่นประมาทสามารถประนีประนอมยอมความกันได้