xs
xsm
sm
md
lg

เผยปฏิรูป ตร.มีแนวคิดยกฐานะ สตช.เป็น “กระทรวงตำรวจ” ขึ้น ยธ.แยก 11 หน่วยงานออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


 
MGR Online - คณะปฏิรูปฯ โครงสร้างตำรวจ เสนอแนวคิด ชง 3 สูตร ยกฐานะ กระทรวงตำรวจ - สังกัดยุติธรรม แยก 11 งานออกจากตำรวจ

วันนี้ (26 ก.ค.) เมื่อเวลา 14.00 น. ที่ห้องศรียานนท์ อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) เป็นประธานการประชุม ครั้งที่ 5 โดยใช้เวลาร่วม 3 ชั่วโมง

นายประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า ในฐานะรองโฆษกคณะกรรมการปฏิรูปฯ แถลงหลังประชุม ว่า คณะอนุกรรมการด้านบริหารบุคคล ซึ่ง พล.อ.บุญสร้าง เป็นประธาน ได้เสนอความคืบหน้าในการพิจารณาองค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) และ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) โดยล่าสุด คณะอนุฯมีความเห็นแม้มีเป้าหมายให้คณะกรรมการขององค์กรตำรวจปราศจากการเมือง แต่เห็นควรให้ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานของคณะกรรมการทั้ง 2 ชุด
 
โดยใน ก.ต.ช. กำหนดให้มีกรรมการ 15 คน จากเดิมในชุดปัจจุบันมี 8 คน มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธาน กรรมการประกอบด้วย ปลัดกระทรวงกลางโหม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และมีผู้ทรงคุณวุฒิ โดยให้เพิ่มปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ จเรตำรวจแห่งชาติ รอง ผบ.ตร. และตัวแทนจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยอีก 2 คนเข้ามา และกำหนด ให้ ก.ต.ช. อำนาจหน้าที่เพียงกำหนดนโยบายเท่านั้น
 
ตัดอำนาจการแต่งตั้ง ผบ.ตร. ออกไป ให้ ก.ตร. เลือกและตั้ง ผบ.ตร. แทน ขณะที่ องค์ประกอบของ ก.ตร. นั้น เดิมที่มีนายกรัฐมนตรี ผบ.ตร. จเรตำรวจแห่งชาติ รอง ผบ.ตร. และ เลขา ก.พ. เป็นกรรมการ คณะอนุฯ เสนอองค์ประกอบใหม่ ให้เพิ่ม กรรมการจากผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมาจากอดีตข้าราชการตำรวจ จากการเลือกตั้งอีก 6 คน และให้ ก.ตร. มีอำนาจในการแต่งตั้ง ผบ.ตร. ซึ่งยอมรับว่า องค์ประกอบของ ก.ต.ช. และ ก.ตร. ที่อนุฯ เสนอ คล้ายกับองค์ประกอบเดิมก่อนเปลี่ยนแปลงโดย คสช. ทั้งนี้ ข้อเสนอนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปเป็นเพียงแนวคิดล่าสุดที่เสนอให้ที่ประชุมใหญ่นำไปคิดต่อ แต่ที่ค่อนข้างชัดเจนคือเห็นควรว่า ให้ ก.ตร. แต่งตั้ง ผบ.ตร. ส่วน ก.ต.ช. ให้กำหนดนโยบายอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้คาดว่าจะได้ข้อสรุปใน 2 - 3 สัปดาห์นี้ เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วนเกี่ยวกับการวางระบบแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ

นายประดิษฐ์ กล่าวว่า อนุกรรมการด้านอำนาจหน้าที่และภารกิจตำรวจ ได้เสนอการจัดองค์กรตำรวจ ให้ที่ประชุมพิจารณาและคิดต่อ 3 แนวทาง คือ 1. ให้ยกฐานะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นกระทรวง 2. ให้คงสถานะเทียบเท่ากรม ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี เช่นเดิม และ 3. ให้เป็นกรมในสังกัดกระทรวง เช่น กระทรวงยุติธรรม โดยประเด็นนี้ที่ประชุมวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป มอบการบ้านให้อนุฯกลับไปศึกษาข้อดีข้อเสียและหาข้อมูลเพิ่มเติมโดยพิจารณารูปแบบการจัดองค์กรในต่างประเทศด้วย

นายประดิษฐ์ กล่าวด้วยว่า อนุฯด้านอำนาจหน้าที่ฯยังเสนอเรื่องการถ่ายโอนภารกิจของตำรวจ โดยกำหนดภารกิจรองของตำรวจ 11 ด้าน ที่ให้ไปพิจารณาว่าควรถ่ายโอนให้หน่วยงานอื่นหรือไม่ อย่างไร ดังนี้ 1. ภารกิจตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งหลายประเทศไม่ขึ้นกับตำรวจ ในกรณีนี้มีการเสนอว่าอาจไปอยู่ภายใต้ กระทรวงการต่างประเทศ 2. ด้านจราจร มีการเสนอให้ไปอยู่กับท้องถิ่น 3. ตำรวจท่องเที่ยว 4. ตำรวจทางหลวง เสนอไปให้ไปอยู่กับกระทรวงคมนาคม 5. ตำรวจรถไฟ 6. ตำรวจน้ำ 7. ตำรวจป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ 8. ภารกิจคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารและยา 9. ภารกิจด้านละเมิดลิขสิทธิ์ 10. ภารกิจความผิดด้านเทคโนโลยีและสารสนเทศ และ 11. ภารกิจความผิดด้านความผิดเกี่ยวกับเศรษฐกิจ

นายประดิษฐ์ กล่าวว่า แนวคิดทั้งหมดยังไม่ใช่ข้อสรุป เป็นแต่เพียงการกำหนดหัวข้อให้ อนุฯ และกรรมการไปพิจารณาข้อดีข้อเสียเพื่อหาข้อสรุปที่ดีที่สุดต่อไป โดยจะนัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 2 สิงหาคม นี้ เวลา 14.00 น.


กำลังโหลดความคิดเห็น