MGR Online - ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้โทษจำคุกคนละ 8 เดือน ไม่รอลงอาญา 6 อดีตแกนนำพันธมิตรฯ พามวลชนชุมนุมในทำเนียบไล่รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช เมื่อปี 51
ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ห้องพิจารณาคดี 713 วันนี้ (24 ก ค.) เวลา10.00 น. ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีแกนนำพันธมิตรฯ บุกทำเนียบรัฐบาล เมื่อปี 2551 หมายเลขดำที่ อ.4925/2555 ที่ พ.ต.ต.สุรพงษ์ สายวงศ์ อัยการฝ่ายคดีอาญา 10 ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อายุ 82 ปี, นายสนธิ ลิ้มทองกุล อายุ 69 ปี, นายพิภพ ธงไชย อายุ 71 ปี, นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อายุ 67 ปี นายสมศักดิ์ โกศัยสุข อายุ 71 ปี แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และนายสุริยะใส กตะศิลา อายุ 44 ปี ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน หรือกลุ่มการเมืองสีเขียว และอดีตผู้ประสานงาน พธม. เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกโดยกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไป และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์กรณีบุกรุกเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 358, 362 และ 365
อัยการโจทก์ฟ้องระบุความผิดสรุปว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2551 ผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งมีจำเลยดังกล่าวเป็นแกนนำได้จัดปราศรัยชักชวนประชาชนเข้าร่วมชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนิน เพื่อกดดันให้นายสมัคร สุนทรเวช ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยเคลื่อนขบวนฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจไปทำเนียบรัฐบาลและกระจายกำลังปิดล้อมสถานที่ราชการ เช่น สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียง กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรฯ
ต่อมาหลังจากนายสมัครพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญแล้ว นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งแทนและมีกำหนดวันแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 7 ต.ค. 2551 ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2551 เวลากลางวันจำเลยทั้งสี่กับพวกก็ได้เคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลโดยปิดล้อมทางเข้าออกทำเนียบทุกด้าน ได้ใช้เครื่องมือทำลายกุญแจประตูทำเนียบ และทำลายแผงกั้นที่เจ้าหน้าที่ใช้ควบคุมดูแลความสงบในทำเนียบ จนถึงวันที่ 3 ธ.ค. 2551 พวกจำเลยซึ่งไม่ได้รับอนุญาตได้ร่วมกันรื้อทำลายสิ่งกีดขวางแล้วปีนรั้วเข้าไปในทำเนียบรัฐบาลรวมทั้งนำรถยนต์ 6 ล้อที่ติดเครื่องขยายเสียงขนาดใหญ่ไปจอดหน้าตึกไทยคู่ฟ้าทำเนียบรัฐบาลแล้วผลัดเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัย และช่วงวันที่ 26 ส.ค. 2551 - 3 ธ.ค. 2551 ระหว่างที่พวกจำเลยจัดเวทีปราศรัยในทำเนียบรัฐบาลซึ่งมีผู้ชุมนุมจำนวนมาก เหยียบสนามหญ้าและต้นไม้ประดับจนตาย และยังทำให้ระบบสปริงเกอร์อัตโนมัติ ระบบไฟสนาม หน้าตึกไทยคู่ฟ้าและหน้าตึกสันติไมตรี ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้รับความเสียหายรวม 5 ล้านบาท อีกทั้งเมื่อมีฝนตกทำให้น้ำฝนซึมเข้าขังในถุงดำที่ห่อหุ้มกล้องวงจรปิดทำให้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกล้องเสียหายรวม 10 ตัว ค่าเสียหายอีก 1,766,548 บาท โดยจำเลยทั้ง 6 คนให้การปฏิเสธ
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2551 จำเลยที่ 1-5 และจำเลยที่ 6 ผู้ประสานงานกลุ่มพันธมิตรฯ ได้ชักชวนให้ประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนิน ประกาศให้ประชาชนไปชุมนุมยังสถานที่ราชการ เช่น สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย หรือเอ็นบีที กระทรวงการคลัง จากนั้นวันที่ 26 ส.ค. 2551 จึงได้เคลื่อนขบวนจากทำเนียบฯ ไปชุมนุมยังบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ หน้าทำเนียบรัฐบาล จากนั้นผู้ชุมนุมได้ผลักดันแผงเหล็กกั้นอะลูมิเนียม ปีนรั้วเข้าไปภายในทำเนียบรัฐบาล บางส่วนตัดโซ่คล้องกุญแจประตู 2 และประตู 4 ของทำเนียบรัฐบาล และเคลื่อนรถปราศรัยติดเครื่องขยายเสียงเข้าไปตั้งเวทีอยู่ภายในทำเนียบรัฐบาล โดยแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ได้ชักชวนให้ประชาชนที่อยู่ภายนอกเข้ามาภายในทำเนียบรัฐบาล และแกนนำกลุ่มพันธมิตรได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นเวทีปราศรัยอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2551 ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชน ทำให้นายสมัคร สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ จึงประกาศยุติการชุมนุมในวันที่ 3 ธ.ค. 2551
จากพฤติการณ์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่าแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ได้จัดชุมนุมปราศรัยและบุกรุกเข้าไปภายในทำเนียบรัฐบาลซึ่งเป็นสถานที่ราชการ แม้ว่าบุคคลทั่วไปสามารถเข้าไปใช้สถานที่ดังกล่าว แต่ก็ต้องปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ ไม่ใช่จะเข้าออกตามอำเภอใจได้ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่าไม่มีส่วนรู้เห็นกับผู้ชุมนุมนั้นเห็นเป็นคำกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีเหตุอันรับฟังได้ แม้จำเลยจะอ้างว่าเป็นการเข้าไปในทำเนียบเพื่อห้ามปราบผู้ชุมนุมไม่ให้ทำลายทรัพย์สินเสียหาย แม้จะเป็นเจตนาที่ดี แต่ก็ไม่ได้แสดงให้เห็นว่ามีการห้ามปราบผู้ชุมนุมแต่อย่างใด ส่วนข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่าเป็นการชุมนุมด้วยความสงบตามสิทธิของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 63 เนื่องจากข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยพร้อมผู้ชุมนุมได้บุกรุกเข้าไปภายในทำเนียบรัฐบาล โดยปีนรั้ว ใช้คีมตัดโซ่คล้องประตู อันทำให้ทรัพย์สินของราชการเสียหาย และเป็นการกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ไม่ใช่ภการชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ จึงไม่อาจกล่าวอ้างบทบัญญัติดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญได้ ส่วนที่จำเลยอ้างว่ามีคนใช้อาวุธสงครามยิงใส่ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บจึงต้องเข้าไปหลบอยู่ในทำเนียบรัฐบาลนั้น แต่ในวันที่ 26 ส.ค. 2551 ก็ไม่ได้มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น จึงไม่สามารถอ้างเพื่อยกเว้นไม่ให้ต้องรับโทษได้ แม้จำเลยจะมีเจตนาปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ ก็ถือว่ามีความผิด
การกระทำของจำเลยทั้งหกจึงเป็นความผิดฐานบุกรุกสถานที่ราชการและร่วมกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป พิพากษาว่าจำเลยที่ 1-6 กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 365 อนุมาตราสอง, 362 และ 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุดในความผิดฐานบุกรุกสถานที่ราชการ จำคุกคนละ 3 ปี แต่คำให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกคนละ 2 ปี
ต่อมาจำเลยทั้งหกได้ยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดี โดยในวันนี้ศาลได้เบิกตัวนายสนธิ จำเลยที่ 2 มาจากเรือนจำกลางคลองเปรม ส่วน พล.ต.จำลอง, นายพิภพ, นายสมเกียรติ, นายสมศักดิ์ และนายสุริยะใส จำเลยเดินทางมาศาล เนื่องจากได้ประกันตัวไประหว่างอุทธรณ์คดีวงเงินคนละ 200,000 บาท
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนปรึกษาแล้วเห็นว่า โจทก์มีรองเลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ผู้อำนวยการสำนักสถานที่ดูแลรักษาความเรียบร้อย และนายตำรวจสันติบาล 4 ปาก เบิกความถึงเหตุการณ์ที่จำเลยทั้งหกเป็นแกนนำผู้ชุมนุมเข้าไปในทำเนียบรัฐบาลและตั้งเวทีปราศรัยบนสนามหน้าทำเนียบรัฐบาล มีการฝ่าแผงเหล็กของเจ้าหน้าที่ ตัดโซ่คล้องประตู และผู้ชุมนุมบางรายปีนรั้วเข้าไปภายในทำเนียบรัฐบาล ซึ่งการชุมนุมภายในทำเนียบรัฐบาลดำเนินไปนาน 90 วัน หลังผู้ชุมนุมออกจากทำเนียบรัฐบาลแล้ว เจ้าหน้าที่ทำเนียบรัฐบาลได้เข้าตรวจสอบความเสียหายพบว่าหญ้าในสนามตายทั้งหมด ระบบสปริงเกอร์รดน้ำต้นไม้ ระบบไฟในสนาม และกล้องวงจรปิดเสียหาย ซึ่งจำเลยทั้งหมดวางแผนชี้นำผู้ชุมนุมให้เข้าไปภายในทำเนียบรัฐบาล โดยสอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่ต้องการกดดันให้รัฐบาลออกจากตำแหน่ง และจำเลยที่เป็นแกนนำได้ขึ้นเวทีปราศรัยแต่ไม่มีจำเลยคนใดสั่งให้ผู้ชุมนุมออกจากทำเนียบ นอกจากนี้ยังนำการ์ดรักษาความปลอดภัยที่มีชื่อว่า “นักรบศรีวิชัย” เข้าควบคุมดูแลความปลอดภัยในทำเนียบรัฐบาล โดนกดดันให้เจ้าหน้าที่ตำรวจออกจากทำเนียบรัฐบาล ซึ่งทำเนียบรัฐบาลเป็นสถานที่บริหารราชการผู้ที่ผ่านเข้าออกจะต้องได้รับการตรวจตราจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ใช่สถานที่ให้ประชาชนเข้าใช้ประโยชน์ตามอำเภอใจ การที่จำเลยกับผู้ชุมนุมเข้าไปครอบครอง โดยอ้างว่าเป็นเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ เป็นการพิทักษ์รักษาสถาบันชาติศาสนาพระมหากษัตริย์ ก็ไม่ได้หมายความให้ไปละเมิดสิทธิผู้อื่นและทำผิดกฎหมายบ้านเมือง หากละเมิดกฎหมายแล้วจะอ้างว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบไม่ได้ นอกจากนี้ การที่ผู้ชุมนุมอยู่ในทำเนียบรัฐบาลยังทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถปฏิบัติราชการได้นานกว่า 90 วัน อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
สำหรับการทำให้เสียทรัพย์ทั้งหญ้า ระบบไฟฟ้า ระบบสปริงเกอร์ และกล้องวงจรปิดนั้น ระหว่างที่จำเลยครอบครองทำเนียบรัฐบาลนั้นจำเลยไม่ได้สั่งให้มีระบบป้องกันความเสียหายของทรัพย์สินในส่วนนี้ ซึ่งความเสียหายถือเป็นผลมาจากการบุกรุกเข้าไปในสถานที่ราชการ ส่วนการที่มีผู้ชุมนุมนำถุงดำคลุมกล้องวงจรปิดและตัดสายสัญญาณอาจเป็นการกระทำโดยพลการของผู้ชุมนุม ยังไม่อาจฟังได้ว่าเป็นการสั่งการของจำเลยทำให้กล้องเสียหาย ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้งหกเป็นความผิดสืบเนื่องจากการบุกรุกสถานที่ราชการในคราวเดียวกัน เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษฐานบุกรุกสถานที่ราชการซึ่งเป็นโทษหนักสุด
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยทั้งหกเป็นบุคคลที่มีสถานะทางสังคมเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป มีการศึกษา เคยทำประโยชน์สาธารณะ และไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน ขอให้ลงโทษสถานเบานั้น จำเลยทั้งหกซึ่งมีการศึกษาต้องรู้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการผิดกฎหมาย ทำให้เสียทรัพย์ราชการ ส่งผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินซึ่งกระทบต่อเนื่องถึงประโยชน์สาธารณะ เลยขอบข่ายการแสดงออกทางประชาธิปไตย อย่างไรก็ดี การกระทำของจำเลยทั้งหกไม่ได้มุ่งเน้นประโยชน์ส่วนตน และไม่ได้ประทุษร้ายบุคคล อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยคนละ 2 ปี โดยไม่รอลงอาญานั้นหนักเกินไป เห็นควรปรับบทลงโทษให้เหมาะสม พิพากษาแก้เป็นจำคุกจำเลยคนละ 1 ปี ไม่รอลงอาญา โดยคำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยคนละ 8 เดือน ไม่รอลงอาญา
ต่อมา นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความของแกนนำ พธม. เปิดเผยว่า ขณะนี้เตรียมยื่นหลักทรัพย์ประกันตัวจำเลย 5 ราย เป็นหลักทรัพย์คนละไม่เกิน 200,000 บาท ส่วนนายสนธิ จำเลยที่ 2 ไม่ยื่นประกันเนื่องจากถูกจำคุกในคดีอื่น พร้อมทั้งจะยื่นฎีกาต่อสู้คดีภายในวันนี้ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้จำเลยที่ 1, 3-6 อยู่ระหว่างรอฟังคำสั่งศาลว่าจะให้ประกันตัวระหว่างฎีกาคดีหรือไม่
ต่อมาเวลา 16.20 น.นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความ เปิดเผยว่า ภายหลังเราได้ยื่นฎีกาและคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวอดีตแกนนำพันธมิตรฯแล้ว เมื่อเวลา 16.00 น.ศาลได้พิจารณาคำร้องแล้วอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างฎีกาสู้คดี ตีราคาประกันคนละ 200,000 บาท ซึ่งในส่วนของพล.ต.จำลอง ศรีเมือง , นายพิภพ ธงไชย , นายสมศักดิ์ โกศัยสุข และ นายสุริยะใส กตะศิลานั้นใช้หลักทรัพย์ประกันอิสรภาพของบริษัทวิริยะประกันภัย ส่วนของนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นั้นได้ใช้หลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดินในจ.นครราชสีมา ซึ่งต้องรอลุ้นว่าศาลฎีกาจะมีพิพากษาเป็นอย่างไรต่อไป