xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้น “ยิ่งลักษณ์-บุญทรง” ศาลฎีกาฯ นัดฟังคำพิพากษา ทุจริตจำนำข้าว 25 ส.ค.นี้ (มีคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - ลุ้นระทึก! 'ยิ่งลักษณ์-บุญทรง' ศาลฎีกาฯ นักการเมือง นัดตรงกัน 25 ส.ค.2560 ฟังคำพิพากษา คดีมหากาพย์ทุจริตจำนำข้าว ขณะให้อดีตนายกฯ หญิง แถลงปิดคดี 1 ส.ค.และอนุญาตให้คู่ความทั้งสองฝ่ายยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดี เป็นลายลักษณ์อักษร ภายใน 15 ส.ค.นี้



เมื่อเวลา 08.25 น. วันนี้ (21 ก.ค.) ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางมาฟังการนัดไต่สวนพยานจำเลยนัดสุดท้ายคดีโครงการรับจำนำข้าว ในข้อหาปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริต และปล่อยปละละเลยให้เกิดความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวกว่า 4 แสนล้านบาท และยื่นขอแถลงปิดคดีด้วยวาจาหลังการไต่สวนพยานเสร็จสิ้น

โดยการเดินทางมารับฟังการไต่สวนพยานจำเลยในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 16เป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งมีประชาชนเดินทางมารอให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ประมาณ 400-500 คน และมีสื่อมวลชนทั้งไทยเดินทางมาทำข่าวหลากหลายสำนัก

ส่วนบรรยากาศการรักษาความปลอดภัยในบริเวณด้านหน้าศาล มีเจ้าหน้าที่จากกองอารักขาและควบคุมฝูงชนหรือกองร้อยน้ำหวานจำนวน 20 นาย และกองบังคับการตำรวจนครบาล 2 ซึ่งได้เตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ไว้ประมาณมากกว่า 100 นาย เพื่อดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย พร้อมทั้งขอความร่วมมือกับประชาชนว่าไม่ให้ส่งเสียงดัง เนื่องจากพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นที่ทำการของศาล

พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ที่เดินทางมาตรวจดูความเรียบร้อย กล่าวว่า วันนี้ (21 ก.ค.) ได้จัดกำลังตำรวจกองบังคับการตำรวจนครบาล 2 ตำรวจควบคุมฝูงชน, กองร้อยน้ำหวาน และตำรวจท้องที่ มาคอยดูแลความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยจำนวน 280 นาย โดยพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ของศาล การทำกิจกรรมอะไรถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จึงฝากเตือนให้ระมัดระวังเรื่องการแสดงออก และเบื้องต้นได้พูดคุยกับแกนนำพรรคเพื่อไทยเพื่อขอความร่วมมือให้ช่วยดูแลความสงบเรียบร้อยของมวลชนแล้ว ตำรวจยืนยันว่าจะอำนวยความสะดวกให้แก่มวลชน และจะคอยดูแลความเรียบร้อยป้องกันมือที่ 3 เข้ามาสร้างสถานการณ์ เชื่อว่ามวลชนที่เดินทางมาวันนี้จะไม่ได้สร้างปัญหา ภาพรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี โดย พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจะเดินทางมาตรวจดูความเรียบร้อยด้วย

นอกจากนี้ยังมีแกนนำพรรคเพื่อไทย และอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยจำนวนหลายสิบคนเดินทางมาให้กำลังใจด้วย เช่น นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการ, นายชูศักดิ์ ศิรินิล ฝ่ายกฎหมาย, นายชัยเกษม นิติสิริ อดีต รมว.ยุติธรรม และนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช อดีต รมว.ศึกษาธิการ เป็นต้น

โดยในขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางมาถึงได้ทักทายประชาชนที่มารอให้กำลังใจ พร้อมรับดอกไม้ที่มวลชนเตรียมมาให้ โดยมวลชนได้ตะโกนว่ายิ่งลักษณ์สู้ๆ และเข้าไปรุมล้อมให้กำลังใจตลอดเวลา น.ส.ยิ่งลักษณ์ใช้เวลาในการทักทายกับประชาชนประมาณ 30 นาที พร้อมมีน้ำตาคลอ จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ทักทายสื่อมวลชน และปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์โดยระบุว่าเวลาไม่พอ และขอให้รอฟังการแถลงปิดคดีด้วย พร้อมยกมือไหว้ขอบคุณสื่อมวลชน แกนนำพรรคเพื่อไทยและอดีต ส.ส.และประชาชนที่มาติดตามทำข่าวและมาให้กำลังใจ พร้อมถ่ายรูปร่วมกับแกนนำพรรคเพื่อไทยและอดีต ส.ส. ก่อนเดินเข้าไปภายในอาคารศาลฎีกาฯ

ทั้งนี้ทีมทนายความจำเลยได้ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2560 ต่อศาลฎีกาฯ นั้น เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามาตรา 5 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 ขัดหรือแย้งกับมาตรา 235 วรรค 6 ของรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่ หลังโจทก์อาศัยช่องทางตามกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาฯ เพิ่มเติมพยานหลักฐานใหม่โดยเฉพาะพยานเอกสารเกือบ 7 หมื่นแผ่นเข้ามาในคดี ทั้งที่ไม่อยู่ในสำนวนของ ป.ป.ช. ขณะที่รัฐธรรมนูญที่เพิ่งประกาศใช้บัญญัติว่า การพิจารณาของศาลฎีกาฯ ให้นำสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช.เป็นหลักในการพิจารณา และกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ให้ศาลมีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้

โดยวันนี้ทีมทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นำพยานเข้าไต่สวนทั้งสิ้น 3 ปากประกอบด้วย นายพศดิษฐ์ ดีเย็น อดีตหัวหน้าคลังสินค้าจังหวัดนครราชสีมา, นายชนุตร์ปกรณ์ วงศ์สีนิล อดีตผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า, นายกิตติ ลิ่มสกุล อาจารย์มหาวิทยาลัยไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น

ซึ่งนายพศดิษฐ์  ขึ้นเบิกความยืนยันถึงขั้นตอนการจ่ายข้าวออกจากคลังสินค้าว่า มีการตรวจสอบตามขั้นตอนและคู่มือที่กรมการค้าภายในกำหนด และทุกครั้งที่มีการมารับข้าวจะต้องมีเอกสารหรือตั๋วมายืนยันโดยลงชื่อและเลขรหัสไว้ด้วย ส่วนการตรวจสอบของคณะกรรมการ 100 ชุดของหม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นั้นทำขั้นตอนการแทงข้าวไม่ถูกวิธีจึงกลายเป็นว่ามีข้าวหักและเสียมาก และกรณีที่มีการตั้งข้อสงสัยว่ามีข้าวของกัมพูชาปลอมปนนั้น พยานระบุว่า ลักษณะข้าวของกัมพูชากับไทยแตกต่างกันชัดเจน ซึ่งข้าวของกัมพูชามีลักษณะเม็ดตรงป้อม แต่ข้าวไทยเม็ดมีลักษณะงอนหัวและท้าย ยืนยันไม่มีการนำข้าวกัมพูชามาปะปนในโครงการ และระหว่างการดำเนินโครงการจำนำข้าวก็มีการสั่งตรวจเข้มตามแนวชายแดนเพื่อเฝ้าระวังด้วย

ขณะที่นายพศดิษฐ์ ตอบคำถามค้านของอัยการโจทก์ ยอมรับว่า พยานเคยถูกลงโทษทางวินัยเมื่อปี 2548 โดยถูกตัดเงินเดือนร้อยละ 10 เป็นเวลา 1 เดือน เนื่องจากส่งเอกสารใบประทวนล่าช้า แต่การลงโทษนั้นไม่ใช่การกระทำระหว่างโครงการจำนำข้าวนี้

ต่อมา นายชนุตร์ปกรณ์  ขึ้นเบิกความปากที่ 2 ใช้เวลาเบิกความ 1 ชั่วโมง โดยสรุปขั้นตอนการบันทึกข้อมูลการรับเข้า-ออกข้าวจากคลังสินค้า ซึ่งระบบสารสนเทศสามารถประมวลผลได้วันต่อวัน  

นายชนุตร์ปกรณ์ ได้ตอบซักค้านอัยการโจทก์ถึงกรณีที่ตัวเองถูก ป.ป.ช.ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงนั้นก็เป็นเรื่องที่บริษัทเอกชนกล่าวหาว่ารับเงิน 30 ล้านบาทช่วยเหลือการคืนข้าวที่ล่าช้า ซึ่งสาเหตุที่ถูกร้องเรียน นั้นเพราะว่าถูกกลั่นแกล้งเนื่องจากเอกชนจะให้การช่วยเหลือเรื่องเงินค่าปรับแต่ตัวเองไม่รับซึ่งเคยให้การกับ ป.ป.ช.ไปแล้ว  ส่วนที่มีทนายคนนอกที่ไม่ใช่ลูกจ้างขององค์การคลังสินค้ามาตรวจสอบเอกสารก่อนส่ง ป.ป.ช.เรื่องการตรวจสอบจำนำข้าวนั้น ก็เป็นคำสั่งของผู้ใหญ่ในกระทรวง

จากนั้น นายกิตติ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการคลังได้เบิกความตอบการซักค้านของอัยการโจทก์เกี่ยวกับผลวิจัยของทีดีอาร์ไอ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ว่า พยานเคยเห็นหรือไม่ โดยนายกิตติ เบิกความว่า ตนได้ศึกษาผลงานวิจัยของทั้งสองแห่ง และผลงานอื่นๆ อีกทั้งยังเป็นผู้ร่วมแถลงในรัฐสภาเกี่ยวกับนโยบายโครงการจำนำข้าวว่ามีการควบคุมทางวินัยการเงินการคลัง ซึ่งได้กำหนดกรอบวงเงินที่ใช้ในโครงการจำนำข้าวไม่เกิน 5 แสนล้านบาท หรือ 60 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ จีดีพี และไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณ โดยผลการศึกษาก็ยืนยันได้ว่าโครงการจำนำข้าวใช้เงินไม่เกินกรอบวงเงินดังกล่าว ส่วนที่มีผลวิจัยระบุถึงวงเงินสำรองของธกส. 9 หมื่นล้านบาทนั้น มียอดเงิน 1.7 แสนล้านบาทในปี 2556 นั้น ตนยืนยันว่าการตรวจดูต้องเป็นไปตามรอบบัญชีว่ามีการปิดบัญชีแล้วหรือไม่ เพราะเท่าที่ทราบวงเงินหมุนเวียนไม่ได้ใช้เงิน

แต่เมื่ออัยการโจทก์ถามถึงเม็ดพันธ์ข้าวในโครงการและหลักของการจำนำข้าว นายกิตติ เบิกความยอมรับว่า ในการรับจำนำข้าวจะรับจำนำข้าว 18 สายพันธ์ ส่วนข้าวพันธ์อีโต้ไม่เคยรับเข้ามาในโครงการจำนำข้าว  ทั้งนี้ หลักการรับจำนำข้าวทราบว่ามีการตั้งราคาที่สูงกว่าตลาด เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ซึ่งก่อนดำเนินโครงการรับจำนำข้าว ราคาข้าวในท้องตลาดมีราคาต่ำอยู่ แต่การดำเนินโครงการดังกล่าวยืนยันว่าไม่ได้เป็นการดึงข้าวทั้งหมดเข้ามาอยู่ในโครงการ โดยมีข้าวที่เข้าโครงการเพียงแค่ 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่ผู้ส่งออกอ้างว่าไม่สามารถหาข้าวได้นั้น เข้าใจว่าผู้ส่งออกทำการตลาดไม่มากพอ

                ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พยานปากนี้ใช้เวลาเบิกความประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง เนื่องจากอัยการพยายามซักถามถึงผลงานวิจัยจากหลายที่เกี่ยวกับโครงการจำนำข้าวมาเปรียบเทียบกับของจำเลย ซึ่งมีความเห็นไม่ตรงกัน กระทั่งศาลระบุบางเรื่องพยานได้ตอบไปแล้ว และบางเรื่องโจทก์ไม่ฟ้องเกี่ยวกับการใช้เงินผิดประเภท แต่ฟ้องเฉพาะการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 157 และพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ

กระทั่งเวลา 14.40 น. ไต่สวนจำเลยปากสุดท้ายเสร็จ ศาลได้อ่านกระบวนพิจารณาว่า คดีนี้ศาลไต่สวนพยานโจทก์และพยานจำเลย รวม 45 ปาก ใช้เวลาไต่สวน 26 นัด เริ่มไต่สวนเมื่อวันที่ 15 ม.ค.2559  โดยเมื่อวันที่ 20 ก.ค.60 นายอำพล กิตติอำพน อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรีสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์  มีหนังสือแจ้งเหตุขัดข้องไม่สามารถมาเบิกความเห็นพยานจำเลยได้ เนื่องจากมีอาการป่วยเป็นโรคหัวใจเฉียบพลัน แพทย์ระบุต้องเข้ารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลทันที โดยมีสำเนาใบรับรองแพทย์แจ้งมา แต่ทนายจำเลยยังติดใจไต่สวนพยานปากนี้ ซึ่งศาลเห็นว่าทนายจำเลยเคยยื่นไต่สวนบัญชีพยานนายอำพลมาแล้วเมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2559 แต่ไม่สามารถนำพยานเข้าไต่สวนได้ อีกทั้งประเด็นที่ไต่สวนยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับคำสั่งและมติ ครม. ซึ่งศาลเห็นว่ามีการไต่สวนมาเพียงพอแล้ว จึงไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีเพื่อไต่สวนพยานปากนี้อีก

ส่วนพยานจำเลยที่ทนายขอไต่สวนเพิ่ม คือ นายประสิทธิ์ ดำรงชัย อดีตกรรมการ ป.ป.ช. และ นายภูริศ ศรสรุทร์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ศาลอนุญาตให้ส่งคำเบิกความเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 7 วัน

สำหรับที่ทนายจำเลยยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 7 ก.ค.2560 และคำร้องเพิ่มเติมฉบับลงวันที่ 11 และ17 ก.ค.2560 ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามมาตรา 212 โดยโต้แย้งว่าบทบัญญัติในมาตรา 5 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ.ศ.2542 ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา3,25,29,235 วรรคหกโจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านฉบับลงวันที่ 7ก.ค.2560 และคำร้องโต้แย้งคัดค้านเพิ่มเติมฉบับลงวันที่ 20 ก.ค.2560 ว่าตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 5 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 277 บัญญัติให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ.2560 มาตรา 235 วรรคหก จะใช้ถ้อยคำว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมให้ศาลมีอำนาจไต่สวนพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ แต่ก็มีความหมายเดียวกัน ดังนั้นบทบัญญัติในมาตรา 5 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 จึงไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การพิจารณาคดีนี้ ศาลให้โอกาสคู่ความทั้งสองฝ่ายนำพยานหลักฐานเข้าไต่สวนเพิ่ม โดยโจทก์ยื่นบัญชีเพิ่มเติม 21 ครั้ง ไต่สวนพยาน 15 ปากใช้เวลาไต่สวน 10 นัด จำเลยยื่นบัญชีพยานเพิ่มเติม 51 ครั้ง ไต่สวนพยาน 30 ปากใช้เวลาไต่สวน 16นัด ซึ่งให้โอกาสคู่ความทั้งสองฝ่ายนำพยานมาไต่สวนอย่างเต็มที่แล้ว ตามคำร้องของจำเลยที่อ้างนั้นยังไม่เช้าหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 212ที่ศาลจะต้องส่งความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย จึงให้ยกคำร้องของจำเลย

ศาลอนุญาตให้จำเลยแถลงปิดคดีด้วยวาจาวันที่ 1 ส.ค.2560 เวลา 09.30 น.และอนุญาตให้คู่ความทั้งสองฝ่ายยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดี เป็นลายลักษณ์อักษรภายในวันที่ 15 ส.ค.2560 หากไม่ยื่นภายในกำหนดถือว่าไม่ติดใจยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดี คดีเสร็จการไต่สวน ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้ 25 ส.ค.2560 เวลา 09.00 น.

ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวภายหลังไต่สวนพยานปากสุดท้ายเสร็จแล้วว่า ขอบคุณสื่อมวลชนพี่น้องประชาชนที่มาให้กำลังใจตนที่ศาลฎีกาด้วยตนเอง หรือที่ให้กำลังใจในที่ต่างๆรวมทั้งทางบ้าน เนื่องจากวันนี้เป็นการพิจารณาคดีวันสุดท้ายจ้องขออนุญาตไม่ขอให้สัมภาษณ์ใดๆเนื่องจากคงมีข้อสรุปกันแล้ว ส่วนเนื้อหาใดๆ จากนี้รบกวนสื่อมวลชนติดตามวันที่ 1 ส.ค.นี้ ที่เป็นวันแถลงปิดคดีด้วยวาจา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลฎีกาฯ นัดพิพากษาคดีโครงจำนำข้าว ตรงกับสำนวนคดีฟ้องนายบุญทรง อดีต รมว.พาณิชย์ กับพวกรวม 28 รายคดีทุจริตระบายข้าว เนื่องจากข้อเท็จจริงหลักฐานเสนอในคดีเชื่อมโยงกัน อีกทั้งองค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 2 สำนวนมีจำนวน 5 คนที่ร่วมพิจารณาทั้งสองสำนวน



































กำลังโหลดความคิดเห็น