MGR Online - รมว.ยธ. เปิดการประชุม หลักนิติธรรมกับการพัฒนาโดยศึกษาแนวพระราชดำริ ร.๙ โดยทีไอเจ สานต่อหลักนิติธรรมจะทำให้ประเทศชาติมั่นคงขณะที่ ป.ป.ส. ร่วมประชุม หน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง แก้ไขปัญหายาเสพติด
วันนี้ (17 ก.ค.) เวลา 10.10 น. ณ ห้องนภาลัยบอลรูม โรงแรมดุสิตธานี นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดการประชุมเวทีสาธารณะว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน “หลักนิติธรรมกับการพัฒนาโดยศึกษาแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙” โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผอ.สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (ทีไอเจ) นายมาร์ติน ฮันเซ่น รองผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา ดร.ซานโดร คาลวานี ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการวางแผนเชิงกลยุทธ์ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระอุปถัมภ์ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม กว่า 100 ราย
นายสุวพันธุ์ เปิดเผยว่า ทีไอเจ ได้จัดการประชุมเวทีสาธารณะว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นครั้งที่ 3 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม ผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้และมุมมองระหว่างผู้มีบทบาทในหลากหลายภาคส่วน ทั้งในภาครัฐ เอกชน และ ประชาชน เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างหลักนิติธรรมกับการพัฒนา
นายสุวพันธุ์ เผยอีกว่า รัฐบาลปัจจุบัน เชื่อว่า หลักนิติธรรมจะทำให้ประเทศชาติมั่นคง เพราะการบังคับใช้กฎหมายที่เที่ยงตรง มีความเป็นธรรมจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ และนับเป็นเรื่องโชคดีของคนไทยและสังคมทั่วโลกที่ได้รับพระราชทานศาสตร์แห่งการพัฒนาอย่างยั่นยืนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ หากน้อมนำแนวพระราชดำริเหล่านี้มาศึกษาอย่างเป็นระบบ เรียนรู้สิ่งที่พระองค์ท่านได้พระราชทานและนำไปใช้ จะก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติต่อไป
ด้าน ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ เปิดเผยว่า ทีไอเจ ให้ความสำคัญในการส่งเสริมหลักนิติธรรมและการเข้าถึงความยุติธรรมโดยเท่าเทียมเพื่อความสงบสุขของสังคม ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนเห็นว่าหลักนิติธรรมเป็นเรื่องใกล้ตัวและเป็นพื้นฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกสาขา อีกทั้งมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ ได้นำเสนอความรู้และแนวคิดที่ได้ร่วมกันศึกษาและประยุกต์ใช้หลักนิติธรรมเป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญต่างๆ ในสังคมอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ เรื่องคนอยู่กับป่า เรื่องการพัฒนาระบบหนี้ที่เป็นธรรม และ เรื่องทางเลือกสำหรับเทคโนโลยีก้าวกระโดดด้วยหลักนิติธรรม
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กล่าวอีกว่า โดยการประชุมเวทีสาธารณะในครั้งนี้มุ่งสะท้อนความสำคัญในการใช้กฎหมายเพื่อเอื้ออำนวยความยุติธรรม สร้างความเสมอภาคในสังคม และให้เกิดความตระหนักว่ากฎหมายไม่ใช่เรื่องของนักกฎหมายแต่ฝ่ายเดียว แต่เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนของสังคมต้องให้ความสนใจและมีส่วนร่วมให้เสียงสะท้อน เพื่อให้สังคมไทยพัฒนาอย่างมั่นคงและยั่งยืนตามแนวพระราชดำริ
เวลา 13.30 น. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) นายวิทยา สุริยะวงค์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามสถานการณ์และให้ข้อมูลข่าวสาร ครั้งที่ 1/2560 เพื่อกำหนดแนวทางความร่วมมือและสนับสนุนการสร้างการรับรู้ความเข้าใจกับประชาชน รวมถึงส่งเสริมและสนับสนุนกลไกการสร้างการรับรู้ด้านการป้องกันยาเสพติดในประเด็นความรู้ ยาเสพติด โดยมีคณะอนุกรรมการ ประกอบด้วย นายนิยม เติมศรีสุข รองเลขาธิการ ป.ป.ส. และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมการปกครอง กรมประชาสัมพันธ์ กรมคุมประพฤติ กรมราชทัณฑ์ สำนักงานตํารวจแห่งชาติ กองบัญชาการกองทัพไทย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกว่า 35 คน
สถานการณ์ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดในปัจจุบัน กลุ่มนักค้ายาเสพติดมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้า การจำหน่าย และการติดต่อสื่อสาร ตลอดจนพบการแลกเปลี่ยนและเสนอแนะความคิดเห็นในเรื่องของยาเสพติด รวมทั้งการการเผยแพร่ข่าวสารผ่านทางสื่อสารธารณะมากขึ้น ซึ่งมีผลกระทบต่อการดำเนินงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ (ผอ.ศอ.ปส.) ได้มีคำสั่งศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ ที่ 10/2559 ลงวันที่ 7 ก.ค. 2559 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการติดตามสถานการณ์และให้ข้อมูลข่าวสาร เพื่อติดตามสถานการณ์และให้ข้อมูลข่าวสารด้านป้องกันยาเสพติดเป็นไปอย่างถูกต้องตรงตามข้อเท็จจริง มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด
โดย ป.ป.ส. ได้จัดการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามสถานการณ์และให้ข้อมูลข่าวสาร ครั้งที่ 1/2560 กำหนดแนวทางความร่วมมือและสนับสนุนการสร้างการรับรู้ความเข้าใจกับประชาชน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อการลดปัญหายาเสพติด และ สร้างการรับรู้ในประเด็นต่างๆ
1. “ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย” ต้องเข้ารับการบำบัดรักษา โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและไม่มีความผิดทางอาญา 2. รัฐบาลให้การส่งเสริมอาชีพและให้โอกาสผู้ผ่านการบำบัด ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุขในสังคม 3. สร้างความตระหนักในโทษพิษภัยและผลกระทบของยาเสพติด 4. เฝ้าระวังการซื้อขายยาเสพติดทางโซเชียลมีเดีย บทลงโทษของผู้กระทำผิด และช่องทางการแจ้งเบาะแสการกระทำผิด 5. การปรับแก้กฎหมายยาเสพติด และนโยบายใหม่ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาล และ 6. การดำเนินการและการให้บริการต่างๆ ของรัฐบาล เพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด
นายวิทยา กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ ร่วมกันกำหนดแนวทางความร่วมมือและสนับสนุนการสร้างการรับรู้ความเข้าใจกับประชาชนในประเด็นต่างๆ และได้พิจารณาแนวทาง การดำเนินการที่ยังต้องเร่งดำเนินงานต่อไป คือ การสร้างการรับรู้เรื่อง “ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย” โดยผู้เสพ/ผู้ติดสามารถเข้ารับการบำบัดรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่เสียประวัติ พร้อมทั้งรัฐบาลให้การสนับสนุนส่งเสริมให้มีอาชีพ และสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข การสร้างการรับรู้ความคืบหน้าในการปรับแก้กฎหมายยาเสพติด เรื่อง “กัญชาและกระท่อม” รวมถึงการส่งเสริมสนับสนุนกลไกการสร้างการรับรู้ด้านการป้องกันยาเสพติด ในประเด็นความรู้ยาเสพติดในภาพกว้าง ให้เป็นไปอย่างถูกต้องตรงตามข้อเท็จจริง มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด