xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวลึกปมลับ : จับตา...ใครจะเข้าวินเก้าอี้ประธานศาลฎีกา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


รายการ “ข่าวลึก ปมลับ” ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม ผู้จัดการ 360 วันอังคารที่ 20 มิถุนายน 2560 ตอน จับตา...ใครจะเข้าวินเก้าอี้ประธานศาลฎีกา



ประมุขอำนาจตุลาการ ประธานศาลฎีกา นายวีระพล ตั้งสุวรรณ มีอายุครบ65ปีในปีนี้ เป็นเหตุให้ต้องลงจากเก้าอี้ ไปเป็นผู้พิพากษาอาวุโส เก้าอี้ประมุขฝ่ายตุลาการจะว่างลง เลยมีข่าวออกมาในช่วงนี้ว่าคนใหม่ที่จะขึ้นแทนคือนายศิริชัย วัฒนโยธิน ประธานศาลอุทธรณ์กลาง

ถ้านายศิริชัยได้รับการแต่งตั้งจากที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการหรือ กต. ก็นับว่าเป็นไปตามลำดับอาวุโส ตามนิติประเพณีของวงการตุลาการที่จะจัดลำดับอาวุโสในศาลสูงให้ ประธานศาลอุทธรณ์กลางมีอาวุโสอันดับหนึ่ง ที่จะได้รับการเสนอชื่อขึ้นเป็นประธานศาลฎีกา ส่วนรองประธานศาลฎีกาได้ถูกจัดให้มีอาวุโสรองลงมา คือรองประธานศาลฎีกาจะครองอาวุโสเป็นอันดับสองถัดจากประธานศาลอุทธรณ์กลาง

ควรทราบว่า ตามประเพณีขององค์กรตุลาการวางระบบให้มีรองประธานศาลฎีกา6 คน รองประธานศาลฎีกาคนที่2จะมีอาวุโสอันดับ 3 และรองประธานศาลฎีกาอันดับ6 ก็จะมีอาวุโสเป็นอันดับ7

ส่วนประธานศาลอุทธรณ์ที่มีทั้งหมด9 ภาค เมื่อประธานศาลอุทธรณ์กลางมีอาวุโสอันดับหนึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าประธานศาลอุทธรณ์ตัวเลขทั้งหลายจะได้รับการจัดอาวุโสตามหลังประธานศาลอุทธรณ์กลาง จึงมีเพียงประธานศาลอุทธรณ์กลางคนเดียวที่มีอาวุโสในระบบคุณธรรมเหนือกว่ารองประธานศาลฎีกา

ดังนั้นถ้ามีการตั้งประธานศาลฎีกา บุคคลที่จะได้รับการพิจารณาอันดับแรกก็เป็นประธานศาลอุทธรณ์กลาง แต่ก็ไม่ใช่ที่จะเสนอคนอื่นไม่ได้ ในกรณีที่ยังหาผู้ที่ควรจะเป็นประมุขตุลาการไม่ได้ คนที่จะถูกนำชื่อเข้าชิงเก้าอี้ประมุขตุลาการที่จะถูกพิจารณาในลำดับถัดไปก็คือ รองประธานศาลฎีกาคนที่หนึ่ง และรองประศาลฎีกาในลำดับรองลงมาเรื่อยๆ

นี่ก็นับว่า เป็นนิติประเพณีอีกบทหนึ่งที่ยึดถือเป็นแนวการแต่งตั้งประมุขตุลาการ ถ้าหากมีเหตุการณ์แต่งตั้งผู้มีอาวุโสสูงสุดไม่ได้ คนที่มีอาวุโสลำดับถัดลงมาก็สามารถที่จะได้รับการแต่งตั้งแทน เช่นในอดีตปีที่ ศาสตราจารย์ประภาสน์ อวยชัย ขณะนั้นเป็นรองประธานศาลฎีกาคั่วตำแหน่งร่วมกับ นายสรรเสริญ ไกรจิตติ เป็นประธานศาลอุทธรณ์กลาง

แต่ทั้งสองท่านพลาดตำแหน่งประธานศาลฎีกา ไปให้กับนายภิญโญ ธีรนิติ รองประธานศาลฎีกา ที่มีอาวุโสน้อยกว่า นี่เป็นเหตุการณ์แต่งตั้งประมุขตุลาการเมื่อปีพ.ศ.2527 ซึ่งต้องบันทึกว่าเป็นรายการพลิกล็อคถล่มทลายเป็นข่าวเกรียวกราว เพราะเสียงคณะกรรมการตุลาการแตกไม่ทราบว่าเนื่องจากเหตุใด?หลังจากนั้นอีกไม่นานก็เกิดวิกฤติตุลาการ

อีกกรณีที่ได้ตัวประมุขตุลาการด้วยการเลือกคนที่มีอาวุโสน้อยกว่ามาแทน ก็เป็นปี2541 ที่นายปิ่นทิพย์ สุจิตรกุล รองประธานศาลฎีกาขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งแห่งอำนาจตุลาการแซงนายอุดม เฟื่องฟุ้ง ประธานศาลอุทธรณ์กลาง ที่เป็นตัวเต็ง

ปีนี้การชิงชัยประธานศาลฎีกา ดูเหมือนจะราบรื่นในตอนแรก แต่พอมีข่าวซุบซิบออกสื่อว่าต้องลุ้นที่ใครจะขึ้นแท่นเป็นประธานศาลฎีกาคนต่อจากนายวีระพล ตั้งสุวรรณ ที่ขณะนี้ได้มีมติจากกต. ให้ลงไปดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสแล้ว จากการประชุมคณะกรรมการตุลาการเมื่อวานนี้(19มิ. ย. 60) ดังนั้นการสรรหาตัวประธานศาลฎีกาคนใหม่ก็จะต้องมีขึ้นในการประชุมกต. นัดต่อไป

ตัวเต็งประธานศาลฎีกาตามนิติประเพณีก็คือ ประธานศาลอุทธรณ์กลาง นายศิริชัย วัฒนโยธิน ส่วนแคนดิเดตก็เป็นรองประธานศาลฎีกาอันดับหนึ่ง คือนาย ชีพ จุลมนต์ ทั้งสองท่านเป็นศิษย์เก่าลูกพ่อขุน นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ถ้าไม่มีรายการล็อคถล่มใหญ่เหมือนปีอาจารย์ประภาสน์ นิติศาสตร์รามจะขึ้นมาเป็นประมุขศาลครั้งแรก

แต่วงการตุลาการไม่ค่อยยึดถือสถาบันการศึกษาในระดับขั้นปริญญาตรีเหมือนหน่วยราชการฝ่ายอื่น จบนิติศาสตร์มาจากสถาบันไหนไม่สำคัญ แต่ตุลาการนับว่าทุกคนล้วนผ่านสถาบันเนติบัณฑิตที่เป็นเบ้าหลอมอันเดียวกัน

ในวันเดียวกัน ที่มีการประชุมกต. นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกาเบอร์หนึ่ง ได้รับเกียรติจากมหาวิทยาลัยรามฯให้ได้รับปริญญานิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ พร้อมกับพลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรีที่ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขารัฐศาสตร์

จากความเคลื่อนไหวด้านนี้ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์มาถึงเส้นทางในสถาบันตุลาการของท่านชีพ จุลมนต์ด้วย

การก้าวสู่ตำแหน่งใหญ่เป็นสิ่งที่บางครั้งระบุได้ แต่บางเวลาก็พลิกผันได้อย่างคาดไม่ถึง การแต่งตั้งประมุขตุลาการปีนี้พอมีข่าวออกสื่อ ก็ว่ากันว่า เป็นความแน่นอนในความไม่แน่นอน หากสองท่านคือท่านศิริชัยกับท่านชีพพลาดตำแหน่ง ชื่อของรองประธานศาลฎีกาลำดับรองลงไปก็จะถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณา

แต่ว่า ในปีนี้ รองประธานศาลฎีกาในอันดับสอง คือ นาย วิรัช ชินวินิจกุล ได้รับโปรดเกล้าฯเป็นองคมนตรีไปแล้ว รองอันดับสามและสี่อายุครบ65ปีในปีนี้ ก็เลยต้องเลื่อนลงมาเป็นคิวของนายธนฤกษ์ นิติเศรณี อดีตประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา ที่ตอนนี้ครองอาวุโสอันดับ4 จะได้รับการพิจารณาเสนอชื่อเป็นประธานศาลฎีกา ก็มีโอกาสเป็นไปได้

ประมุขฝ่ายตุลาการเป็นตำแหน่งสำคัญ เป็นเกียรติยศที่สูงส่ง ผู้ที่จะขึ้นมาเป็นได้นอกจากจะเพียบพร้อมด้วยอาวุโส ผลงาน และบารมี ต้องมีวาสนาช่วยหนุนส่งด้วย

ในวันที่3 กรกฎาคมนี้ มีการประชุมคณะกรรมการตุลาการ ที่มีวาระพิจารณาแต่งตั้งประธานศาลฎีกา จะได้ใครขึ้นมาเป็นประมุขตุลาการคนที่44 ต้องติดตาม ห้ามกะพริบตา
กำลังโหลดความคิดเห็น