ศาลฎีกาสั่งจำคุก 26 ปี “ขนิษฐา รัตนพัฒนากุล” อดีตคณะกรรมการโครงการพุทธอุทยานนครสวรรค์ โกงเงินโครงการ 68 ล้าน เจ้าตัวอยู่ระหว่างหลบหนีคดี ศาลจึงออกหมายจับแล้ว
วันนี้ (6 มิ.ย.) ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครสวรรค์ พล.ต.สุวิทย์ แม้นเหมือน คณะกรรมการโครงการก่อสร้างพุทธอุทยานนครสวรรค์ พร้อมด้วย คณะกรรมการโครงการฯ ร่วมกันแถลงข่าว ว่า ตามที่ทางคณะกรรมการโครงการฯได้ดำเนินการฟ้องร้องทางอาญาต่ออดีตคณะกรรมการโครงการฯ 3 ราย คือ นางขนิษฐา รัตนพัฒนากุล นายพฤติ รัตนพัฒนากุล และ นางสาวจันทร์เพ็ญ เหลืองไทยไชยพร และฟ้องร้องทางแพ่งต่อ นางขนิษฐา รัตนพัฒนากุล และ นายพฤติ รัตนพัฒนากุล ซึ่งอดีตคณะกรรมการทั้ง 3 รายดังกล่าว มีหน้าที่ดูแลทางด้านการเงินของโครงการฯ โดยทางคณะกรรมการโครงการฯ พบว่า อดีตคณะกรรมการทั้ง 3 ราย มีการยักยอกเงินของโครงการฯออกไปตั้งแต่ปี 2548 - 2550 รวมกว่า 68 ล้านบาท โดยทางคณะกรรมการโครงการฯ ได้ฟ้องร้องต่ออดีตคณะกรรมการทั้ง 3 ราย ในปี 2552 ซึ่งขณะนี้คดีอาญาได้สิ้นสุดลงแล้ว โดยศาลฎีกาพิพากษาเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2560 มีคำสั่งพิพากษาให้ นางขนิษฐา รัตนพัฒนากุล แพ้คดี ถูกตัดสินจำคุก 26 ปี และให้คืนเงินแก่คณะสงฆ์จังหวัดนครสวรรค์ จำนวนกว่า 4 ล้านบาท ส่วนจากผลการตัดสินของศาลฎีกา ขณะนี้ทราบว่า นางขนิษฐา ได้หลบหนีโทษ และศาลได้ออกหมายจับแล้ว ส่วน นายพฤติ ศาลยกประโยชน์แห่งความสงสัย ขณะที่ นางสาวจันทร์เพ็ญ ได้เกิดเสียชีวิต ศาลจึงพิจารณาจำหน่ายคดี
พล.ต.สุวิทย์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของคดีแพ่ง ศาลจังหวัดนครสวรรค์ มีคำพิพากษาวันที่ 31 มี.ค. 2558 และศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำพิพากษาวันที่ 22 ธ.ค. 2558 โดยมีคำพิพากษาตรงกัน ให้นางขนิษฐา และ นายพฤติ ใช้เงินคืนให้แก่คณะสงฆ์จังหวัดนครสวรรค์กว่า 55 ล้านบาท พร้อมชดใช้ดอกเบี้ยร้อย 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่ปี 2555 ถึงปัจจุบันรวมเป็นเงินกว่า 70 ล้านบาท ซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้กรมบังคับคดีให้ยึดทรัพย์สินของ นายพฤติ และ นางขนิษฐา มาดำเนินการขายทอดตลาด เพื่อนำเงินมาใช้หนี้ให้แก่คณะสงฆ์นครสวรรค์ตามคำพิพากษา
พล.ต.สุวิทย์ กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีข้อกล่าวหาต่างๆ ที่มีต่อโครงการฯตลอดช่วงที่ผ่านมา เช่น กล่าวหาว่าโครงการพุทธอุทยานนครสวรรค์บุกรุกที่ดินสาธารณะ และถมดินทับคลองสาหร่ายนั้น คณะกรรมการโครงการฯ ชี้แจงว่า ไม่เป็นความจริง และไม่ได้บุกรุกและถมดินทับคลองสาหร่ายแต่อย่างใด แต่ในทางกลับกันโครงการพุทธอุทยานนครสวรรค์ มีการดำเนินการก่อสร้างอย่างเป็นระบบ แก้ปัญหาเรื่องน้ำได้เป็นอย่างดี ทั้งมีหลักฐานเอกสารสิทธิที่ดินที่ได้รับบริจาค และมีการออกเป็นโฉนดในนาม มจร. แล้ว จึงยืนยันว่า ที่ดินดังกล่าวดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนกรณีมีผู้ร้องเรียนว่า การสร้างพระพุทธศรีสัพพัญญู พระประธานประจำพุทธอุทยานนครสวรรค์ มีการหลอกลวงประชาชน ว่า จะสร้างด้วยทองเหลือง แต่กลับสร้างด้วยปูนปั้นนั้น ขอยืนยันว่า พระพุทธรูปดังกล่าวสร้างจากทองเหลืองจริง ส่วนที่มีการกล่าวอ้างว่าสร้างด้วยปูนนั้น เพราะต้องสร้างองค์ต้นแบบจากปูนก่อนจากนั้นจึงเททองเหลือง ซึ่งสามารถมาดูองค์จริงได้ที่พุทธอุทยานนครสวรรค์ ทั้งนี้ จากการเกิดเรื่องร้องเรียนต่างๆ ส่งผลให้โครงการเกิดความล่าช้า อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ คณะกรรมการโครงการฯจะดำเนินการก่อสร้างพุทธอุทยานนครสวรรค์ให้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้อย่างแน่นอน