xs
xsm
sm
md
lg

ปิดสวิตช์แล้ว แต่เครื่องยังไม่ปิด : ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย !

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

วันนี้มีคดีปกครองที่น่าสนใจ... กรณีศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยพฤติการณ์การกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งเป็นผลให้เกิดความเสียหายขึ้นแก่ประชาชน โดยศาลวินิจฉัยว่าพฤติการณ์ดังกล่าว “ไม่ถือเป็นเหตุสุดวิสัย” ตามมาตรา 8 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อันจะทำให้พ้นจากความรับผิดเพราะเป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้ หากแต่เห็นว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเกิดจากความประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งหน่วยงานต้นสังกัดจะต้องรับผิดชอบในความเสียหายดังกล่าว

โดย มาตรา 8 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้บัญญัติความหมาย “เหตุสุดวิสัย” หมายความว่า “เหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้น จะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น”

สำหรับข้อเท็จจริงของคดีมีอยู่ว่า เกิดเหตุขัดข้องในการทำงานของเครื่องกว้านระบายของเขื่อน ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ปิดเครื่องแล้วเครื่องไม่หยุดการทำงาน โดยบานระบายน้ำบานหนึ่งได้ชำรุดหลุดออก ทำให้ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำได้และน้ำได้ไหลไปทางเหนือเขื่อนสูงมาก

เมื่อเจ้าหน้าที่ทราบเรื่องก็ได้รีบดำเนินการซ่อมแซมบานระบายน้ำที่ชำรุด แต่ก็ทำได้ยากลำบากเนื่องจากกระแสน้ำไหลแรงเพราะระดับน้ำต่างกันมาก เจ้าหน้าที่จึงตัดสินใจเปิดประตูบานระบายน้ำทั้งหมดที่มี 5 ช่อง เพื่อให้น้ำไหลกลับมาทางใต้เขื่อนอย่างรวดเร็ว เมื่อระดับน้ำสมดุลทั้งสองฝั่ง เจ้าหน้าที่จึงดำเนินการซ่อมแซมเครื่องกว้านระบายน้ำได้สำเร็จและควบคุมการระบายน้ำได้ตามปกติ ซึ่งรวมระยะเวลาซ่อมแซมประมาณ 10 ชั่วโมง

แต่เรื่องยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะชาวบ้านที่เลี้ยงปลาในกระชังเหนือเขื่อนได้มาร้องทุกข์ต่อหน่วยงานและนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองว่า การขัดข้องของเครื่องกว้านระบายน้ำและในการซ่อมแซมได้มีการเปิดประตูบานระบายน้ำทั้งหมด ซึ่งทำให้น้ำไหลอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ดินข้างกระชังถล่มใส่กระชังปลาที่เลี้ยงไว้เสียหาย

ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลการระบายน้ำของเขื่อนมีหน้าที่ตรวจสอบดูแลมอเตอร์และลวดสลิงของบานระบายน้ำให้ใช้การได้ตามปกติอยู่เสมอ การที่ปิดเครื่องแล้วเครื่องไม่หยุดทำงานและบานระบายน้ำชำรุดจึงไม่ใช่เหตุสุดวิสัย แต่เกิดจากเจ้าหน้าที่มิได้ใช้ความระมัดระวังในการดูแลตรวจสอบการทำงานของเครื่อง อีกทั้งในการซ่อมแซมเครื่อง เจ้าหน้าที่ย่อมเล็งเห็นได้ว่าจะส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงปลาในกระชังของผู้ฟ้องคดีและเกษตรกรอื่นที่เลี้ยงไว้บริเวณเหนือเขื่อน แต่ก็มิได้แจ้งประสานให้เจ้าหน้าที่

กรมประมง ผู้นำท้องถิ่นหรือผู้นำชุมชนช่วยกระจายข่าวให้แก่ผู้เลี้ยงปลาในกระชังเหนือเขื่อนที่ได้รับอนุญาตโดยชอบ ได้ทราบถึงเหตุขัดข้องที่เกิดขึ้น เพื่อที่จะได้หาทางป้องกันความเสียหาย ทั้งที่อยู่ในวิสัยที่สามารถทำได้ ความเสียหายจึงเป็นผลโดยตรงจากความประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่ของกรมชลประทาน จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีและต้องรับผิดชอบในความเสียหาย ตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกอบมาตรา 8 และมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
(คำพิพากษาที่ อ. 911/2558)

คดีนี้เป็นอุทาหรณ์ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีความละเอียดรอบคอบในการทำงาน โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องยนต์ เครื่องจักร รวมทั้งต้องมองถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ของตน เพื่อหาวิธีป้องกันความเสียหายตามสมควรด้วย ซึ่งในกรณีนี้ คือการแจ้งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องช่วยกระจายข่าวให้
ผู้เลี้ยงปลาที่อาจได้รับผลกระทบทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อหาวิธีการป้องกันความเสียหายนั่นเอง



ป.ธรรมศลีญ์
กำลังโหลดความคิดเห็น