MGR Online - ปลัด กทม. พร้อมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ เดินทางตรวจสอบอาคารไทยยานยนตร์ มิตซู ถล่มลงมา ในซอยสุขุมวิท 87 เร่งตรวจสอบตำแหน่งผู้สูญหาย 2 ราย เป็นการด่วน ส่วนขั้นตอนการรื้อถอนต้องใช้ความระมัดระวัง ล่าสุดเรดาร์ตรวตพบสัญญาณชีพของสิ่งมีชีวิตที่ความลึก 8 เมตร
วันนี้ (17 ธ.ค.) เวลา 10.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศอาคารไทยยานยนตร์ มิตซู จำกัด ภายในซอยสุขุมวิท 87 ถนนสุขุมวิท แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพฯ ถล่มลงมา ว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการประชุมวางแผนเจาะพื้นอาคารดังกล่าวเพื่อหาผู้สูญหายอีก 2 ราย ที่ยังติดอยู่ภายใน โดยมี นายภัทรวุฒิ ทรรทรานนท์ ปลัดกรุงเทพมหานคร พ.ต.ท.บัณฑิต ประดับสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยภายในตัวอาคาร จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ศจ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) และ ศจ.ดร.อมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร เข้าร่วมตรวจสอบในครั้งนี้
นายภัทรวุฒิ กล่าวว่า ภารกิจเร่งด่วนในขณะนี้ ต้องค้นหาผู้สูญหายอีก 2 ราย ที่ยังไม่พบ แต่ก็ต้องใช้ความระมัดระวังต่อผู้ปฏิบัติงาน เพราะยังมีอาคารด้านข้างที่อาจจะได้รับผลกระทบ และพังลงมาได้อีก จึงได้ใช้ลวดสลิงในการขึง เพื่อยึดอาคารให้เกิดความปลอดภัยในขณะปฏิบัติงาน โดยอุปสรรคของการค้นหา ก็คือ ซากวัสดุอาคารที่กองทับถมกันอยู่หลายชั้น รวมถึงเศษวัสดุแผ่นพื้นที่ห้อยค้างอยู่บนตัวอาคาร อาจจะหลุดร่วงลงมาให้เกิดอันตรายระหว่างปฏิบัติงานได้
“เบื้องต้นได้เปลี่ยนจากการใช้รถเครนยกแผ่นปูนออก มาเป็นการเจาะแผ่นปูนทีละแผ่นไปถึงพื้นด้านล่าง เพื่อที่จะสอดกล้องเพื่อดูว่าจุดดังกล่าวมีผู้สูญหายตรงกับตำแหน่งที่สุนัขตำรวจได้ทำสัญญาณไว้หรือไม่ ก่อนจะมีการรื้อแผ่นปูนขึ้นอีกครั้ง จากนี้ทางกรุงเทพมหานคร ก็จะเข้าไปดูแลในสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับบริษัทรื้อถอนอาคารมากขึ้น เพราะพบว่าปัญหาที่ผ่านมา มักจะเกิดเหตุการณ์อันน่าสลดที่อาจจะเกิดจากความไม่ชำนาญ หรือความไม่เข้าใจของผู้ประกอบวิชาชีพ” นายภัทรวุฒิ กล่าว
ด้าน ศจ.ดร.อมร เผยว่า อาคารดังกล่าวมีความสูงกว่า 3 ชั้น เรียกว่า วิศวกรรมควบคุม กล่าวคือ ต้องมีวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญควบคุมการรื้อถอน ซึ่งอาคารดังกล่าวเป็นโครงสร้างแบบพื้นไร้คาน โดยใช้หลักการคานมากกว่าเสา ในการก่อสร้างต้องใช้สลิงเป็นตัวยึดและรับน้ำหนักของตัวอาคาร หากไม่มีการศึกษาระบบโครงสร้างให้ถี่ถ้วน จะส่งผลเสียต่อการรื้อถอนได้ โดยขั้นตอนการรื้อถอน ต้องมีการค้ำยันพื้นดินเพื่อป้องกันการถล่ม แต่จากการตรวจสอบพบว่า มีการค้ำยันไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ดังกล่าว ต้องตรวจสอบในเรื่องของขั้นตอนการรื้อถอน อุปกรณ์เครื่องมือในการรื้อถอน ว่ามีความพร้อมมากน้อยเพียงใด และบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ในครั้งนี้จะมีการสอบสวนในเรื่องจรรยาบรรณ ก่อนดำเนินการตามกระบวนการต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ทางเจ้าหน้าที่จะใช้กล้องในการตรวจสอบผู้ที่สูญหาย 2 ราย คือ นายบุญแจ้ง เลิศละออง และ นายไพร คะนุนรัมย์ ว่าอยู่ตำแหน่งใด พร้อมประสานกล้องโซน่าจากทางเจ้าหน้าที่ทหาร เพื่อตรวจสอบอีกทางหนึ่งด้วย ท่ามกลางการเฝ้ารอของญาติทั้งสองราย
ด้าน พ.อ.เมธี ไตลังคะ ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกบรรเทาสาธารณภัย หน่วยบัญชาการทหารพัฒนากองบัญชาการกองทัพไทย เปิดเผยว่า จุดที่เจ้าหน้าที่นำเครื่องค้นหาด้วยเรดาร์เข้าไปตรวจสอบ 2 จุดคือ จุดที่สุนัขดมกลิ่นสามารถจับความเคลื่อนไหวได้ว่า น่าจะมีสิ่งมีชีวิตติดอยู่ใต้ซากอาคาร จุดใช้เครื่องค้นหา 3 ครั้ง ครั้งแรกตรวจที่ความลึก 7.5 เมตร ไม่พบสัญญาณชีพ ครั้งที่ 2 ที่ความลึก 7.5-8 เมตร ตรวจพบสัญญาณชีพของสิ่งมีชีวิตช่วงสั้นๆ 22 ครั้งต่อนาที และครั้งที่ 3 ความลึกที่ 7.9 เมตร พบสัญญาณชีพ 31 ครั้งต่อนาที ทำให้มั่นใจได้ว่ามีสิ่งมีชีวิตอยู่ใต้ซากอาคาร แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดใด จุดที่ 2 ซึ่งเป็นจุดล่อแหลม พื้นที่ลาดเอียง ไม่พบสัญญาณชีพใดๆ อย่างไรก็ตาม เครื่องมืออาจจะมีความคลาดเคลื่อนได้บ้าง หากมีสัญญาณอื่นรบกวน