MGR Online - ศาลฎีกายืนยกฟ้องตามศาลอุทธรณ์ คดี “สนธิ ลิ้มทองกุล” และพวก 11 คน ไม่ผิดฐานหมิ่นประมาท “ทักษิณ” คดีปฏิญญาฟินแลนด์ ชี้ เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม
ที่ห้องพิจารณา 913 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (16 ธ.ค.) ศาลอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ อ.1818/2549 ที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพรรคไทยรักไทย มอบอำนาจให้ นายนพดล มีวรรณะ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.), นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีต ส.ว.กทม., นายชัยอนันต์ สมุทวณิช, นายปราโมทย์ นาครทรรพ นักวิชาการอิสระและคอลัมนิสต์, บริษัท ไทยเดย์ ด็อท คอม จำกัด ผู้ให้บริการโทรทัศน์ระบบดาวเทียม ASTV, นายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล, นายพชร สมุทวณิช, นายขุนทอง ลอเสรีวานิช กรรมการ บ.ไทยเดย์ฯ, บริษัท แมเนจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), น.ส.เสาวลักษณ์ ธีรานุจรรยงค์ อดีตผู้บริหารแผนฟื้นฟู บมจ.แมเนเจอร์ และ นายปัญจภัทร อังคสุวรรณ ผู้ดูแลเว็บไซต์แมเนเจอร์ เป็นจำเลยที่ 1 - 11 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทและดูหมิ่นผู้อื่นด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328
กรณีเมื่อระหว่างวันที่ 24 - 28 พ.ค. 2549 พวกจำเลย ร่วมกันจัดเสวนา เรื่อง “ปฏิญญาฟินแลนด์ยุทธศาสตร์ครองเมืองของไทยรักไทย” ซึ่งถ่ายทอดสดออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ ASTV และเว็บไซต์ผู้จัดการ หมิ่นประมาทโจทก์ ว่า ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไปสู่การปกครองในระบอบทักษิณ โดยมุ่งหมายเข้าบริหารประเทศตามปฏิญญาฟินแลนด์ จำเลยปฏิเสธ
คดีนี้ศาลชั้นต้น และ ศาลอุทธรณ์ พิพากษายกฟ้องจำเลย เพราะเห็นว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ พ.ต.ท.ทักษิณ โจทก์ (ขณะนั้น) ในฐานะผู้นำรัฐบาล ที่ประชาชนทั่วไปสามารถพึงกระทำได้ ต่อมาโจทก์ได้ยื่นฎีกา ขอให้ลงโทษพวกจำเลยด้วย
ในวันนี้ ศาลเบิกตัว นายสนธิ จำเลยที่ 1 มาจากเรือนจำคลองเปรม เพื่อฟังคำพิพากษา ขณะที่จำเลยอื่นมาศาล ขาดเพียง นายชัยอนันต์ สมุทวณิช นักวิชาการอิสระ และคอลัมนิสต์ จำเลยที่ 3 ที่มีอาการป่วยหนักไม่ได้เดินทางมาศาล
โดยศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า โจทก์ที่หนึ่งเป็นพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมาก ได้จัดตั้งรัฐบาล มีโจทก์ทั้งสอง เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งโจทก์ทั้งสอง บริหารราชการแผ่นดิน ตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา การบริหารราชการแผ่นดินของโจทก์ทั้ง 2 ย่อมมีผลกระทบต่อประชาชนและผลประโยชน์สาธารณะ รวมทั้งสถาบันสำคัญของชาติ จึงถือได้ว่า โจทก์ทั้งสอง เป็นบุคคลสาธารณะด้วย การที่จำเลยที่ 1 - 4 ร่วมกันเสวนาในหัวข้อเรื่องปฏิญญาฟินแลนด์ ยุทธศาสตร์ครองเมืองของไทยรักไทย เป็นการนำเรื่องราว หรือหัวข้อที่กำลังเป็นที่สนใจในขณะนั้นมาพูดคุยถกเถียงกัน ซึ่งเนื้อหาสาระประกอบด้วย หัวข้อเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินของโจทก์ทั้งสอง คือเรื่องการทำให้พรรคการเมืองหลักพรรคเดียว การปฏิรูประบบราชการ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การแปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุน แม้จะไม่ปรากฏว่าหัวข้อดังกล่าว เป็นนโยบายที่โจทก์ที่ 2 แถลงต่อรัฐสภาหรือไม่ แต่ก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลของโจทก์ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการบริหารราชการแผ่นดินอยู่
ทั้งนี้ จำเลยที่ 1 - 4 มีการหยิบยกเอาการกระทำที่ผ่านมาของโจทก์ที่ 2 มายืนยันว่า มีการกระทำหลายประการที่ไม่เหมาะสม เช่น ประเด็นหัวข้อที่อาจจะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ลดบทบาทลงเป็นเพียงสัญลักษณ์ได้ในอนาคต ซึ่งเป็นหัวข้อเสวนาเกี่ยวกับมีการพยายามทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเพียงสัญลักษณ์ ทั้งนี้ แม้พยานโจทก์ที่เป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย จะได้เบิกความว่า โจทก์ทั้งสองไม่เคยมีแนวคิด หรือการกระทำดังกล่าว แต่โจทก์ทั้งสองก็มิได้นำสืบว่าโจทก์ไม่ได้มีการกระทำดังที่จำเลยที่ 1 - 4 ได้กล่าวยกตัวอย่างไว้ในการเสวนา จึงฟังได้ว่าโจทก์ที่ 2 มีการกระทำดังที่กล่าวไว้จริง
การเสวนาดังกล่าวจึงเป็นการแสดงความเห็นอยู่บนมูลฐานของข้อเท็จจริง ที่จำเลยที่ 1 - 4 ไม่เห็นด้วยกับการบริหารราชการแผ่นดินของโจทก์ทั้งสอง ขณะเดียวกัน ก็ยังมีบุคคลที่มีบทบาทหน้าที่ในบ้านเมือง เช่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พล.อ.สายหยุด เกิดผล เป็นต้น ที่ไม่เห็นด้วยกับการบริหารราชการบ้านเมืองของโจทก์ทั้งสองในบางประการเช่นกัน ดังนั้น หัวข้อที่เสวนาจึงเป็นประเด็นที่สังคมยังมีการโต้แย้งถกเถียงกันอยู่
ส่วนประเด็นที่การเสวนามีการใช้ถ้อยคำเรียกโจทก์ที่ 1 ว่า แก๊งเลือกตั้ง หรือ อั้งยี่เลือกตั้ง นั้น ได้ความว่า จำเลยที่ 4 เป็นผู้กล่าวในการเสวนา เห็นว่า แม้จำเลยที่ 4 จะใช้ถ้อยคำรุนแรงไปบ้าง แต่ก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำที่ทำให้โจทก์ทั้งสองเกิดความเสียหาย ดังนั้น การเสวนาของจำเลยที่ 1 - 4 จึงเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือประชาชนย่อมกระทำได้ ตามประมวลกฎมายอาญา มาตรา 329 (3) จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
ส่วนประเด็นที่โจทก์ทั้งสองฎีกา ว่า ไม่เคยบริหารโดยใช้ปฏิญญาฟินแลนด์ หรือยุทธศาสตร์ฟินแลนด์ตามที่ได้ถูกกล่าวหา เห็นว่า จำเลยที่ 4 เป็นผู้เขียนบทความเรื่องยุทธศาสตร์ฟินแลนด์ แผนการเปลี่ยนแปลงการปกครองไทย เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ก่อนที่จะจัดการเสวนาดังกล่าวขึ้น
ขณะที่ในการเสวนานั้น จำเลยที่ 1 - 4 ก็ไม่มีผู้ใดยืนยันว่า โจทก์ที่ 2 ได้ไปร่วมตกลงกับผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ที่ประเทศฟินแลนด์ แต่อย่างใด ดังนั้น จำเลยที่ 1 - 4 จึงไม่ได้ใส่ความโจทก์ทั้งสองในเรื่องนี้ และการเขียนบทความเรื่องยุทธศาสตร์ฟินแลนด์ เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์นั้น ก็เป็นคนละส่วนกับการเสวนา ซึ่งโจทก์ที่ 2 ได้แยกฟ้องจำเลยที่ 4 เป็นอีกคดีหนึ่งแล้ว ไม่สามารถนำมาเป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ 1 - 4 ในคดีนี้ได้
ดังนั้น เมื่อการเสวนาของจำเลยที่ 1 - 4 ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท จำเลยที่ 5 - 9 และ 11 ที่โจทก์ระบุว่าเป็นผู้ร่วมจัดเสวนาและนำเอาถ้อยคำไปเผยแพร่ จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทเช่นกัน ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น ที่ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นฟ้องด้วย พิพากษายืนให้ยกฟ้อง
ด้าน นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความของจำเลย กล่าวภายหลังว่า คำพิพากษาของศาลฎีกาในวันนี้มีรายละเอียดครบถ้วน ชัดเจน บรรยายถึงพฤติการณ์ของระบอบทักษิณได้อย่างเด่นชัด
รายละเอียดคำพิพากษาคดี"ปฏิญญาฟินแลนด์"