MGR Online - ศาลฎีกาพิพากษาแก้คดี “ภูมิธรรม เวชยชัย” ฟ้อง “สนธิ” และพวกหมิ่นประมาท โดยให้จำคุกเป็นเวลา 1 ปี ปรับ 2 แสนบาท แต่ให้โอกาสกลับตัวกลับใจ โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี
ที่ห้องพิจารณาคดี 808 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (30 พ.ย.) เวลา 09.30 น. ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีที่นายภูมิธรรม เวชยชัย อดีต รมช.คมนาคม และอดีตรองเลขาธิการพรรคไทยรักไทย เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท ไทยเดย์ ด็อทคอม จำกัด ผู้ผลิตรายการเมืองไทยรายสัปดาห์, นายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล กรรมการ บจก.ไทยเดย์, นายพชร สมุทวณิช กรรมการ บจก.ไทยเดย์, นายขุนทอง ลอเสรีวานิช บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน, นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, บริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน และเว็บไซต์ผู้จัดการ, นายสุวัฒน์ ทองธนากุล กรรมการ บมจ.แมเนเจอร์, นายมรุชัช รัตนปรารมย์ กรรมการ บมจ.แมเนเจอร์, นายตุลย์ ศิริกุลพิพัฒน์ กรรมการ บมจ.แมเนเจอร์, นายวิรัตน์ แสงทองคำ ผู้ดูแลเว็บไซต์ เป็นจำเลยที่ 1-10 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา กรณีเมื่อที่ 25 พ.ย. 2548 เวลากลางคืน นายสนธิ จำเลยที่ 5 และ น.ส.สโรชา พรอุดมศักดิ์ ร่วมกันจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ครั้งที่ 10 ที่วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี ที่เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ ASTV ที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาทโจทก์ทำนองว่าเป็นอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ไม่เคารพสถาบันกษัตริย์และระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งเกี่ยวข้องกับการจัดทำเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาจาบจ้วงสถาบันเบื้องสูง และยังมีการบันทึกเป็นวีซีดีออกเผยแพร่ รวมทั้งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันฉบับเสาร์-อาทิตย์ 26-27 และ 28 พ.ย. 2548 และเว็บไซต์ผู้จัดการ
คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2550 ให้จำคุกนายสนธิ จำเลยที่ 5 เป็นเวลา 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วยการเผยแพร่วีซีดีและดีวีดีรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ พิพากษาให้ปรับเงิน 200,000 บาท และให้ทำลายวีซีดี-ดีวีดีรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ครั้งที่ 10 และหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันฉบับวันที่ 26-27 และ 28 พ.ย. 2548 รวมทั้งให้โฆษณาคำพิพากษาลงในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันเป็นเวลา 3 วัน โดยให้จำเลยที่ 1 และ 5 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด สำหรับจำเลยอื่นให้ยกฟ้อง
ต่อมานายภูมิธรรม โจทก์ยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2-4 และ 6-10 ด้วย ส่วนบริษัท ไทยเดย์ จำเลยที่ 1 และนายสนธิ จำเลยที่ 5 ยื่นอุทธรณ์ว่าการจัดรายการของจำเลยที่ 5 ไม่มีเจตนาใส่ร้ายโจทก์
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า แม้การจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรครั้งที่ 10 ที่วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี ของจำเลยที่ 5 กับ น.ส.สโรชา พรอุดมศักดิ์ ผู้ดำเนินรายการ เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2548 จะเป็นข้อความลักษณะการตั้งคำถามของจำเลยที่ 5 ว่าโจทก์ยังคงฝักใฝ่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ไม่เชื่อในระบอบประชาธิปไตยใช่หรือไม่ แต่ก็ไม่ได้ต้องการคำตอบ เพราะข้อความหลังจากนั้นจำเลยที่ 5 กล่าวลักษณะยืนยันข้อเท็จจริงในคำถามนั้นว่าหากโจทก์จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และเชื่อในระบอบประชาธิปไตย คงไม่เข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ตั้งแต่แรก และยังกล่าวว่า โจทก์เห็นช่องทางว่าพรรคไทยรักไทยมีอำนาจคุมการเมืองก็เข้ามาร่วมเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของโจทก์ตั้งแต่ในวัยหนุ่มในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยโจทก์เคยได้รับมอบหมายจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้นให้เดินทางไปประเทศจีนเพื่อศึกษาการตั้งพรรคที่มีแนวคิดแบบพรรคคอมมิวนิสต์เพื่อมาดูแลจัดการพรรคและโจทก์เป็นพวกเหมาอิสม์ หรือพวกนิยมลัทธิเหมา เจ๋อตง รวมทั้งจำเลยที่ 5 ยังกล่าวหาว่าโจทก์มีส่วนให้การสนับสนุนเว็บไซต์ manusaya.com ที่จัดตั้งขึ้นในประเทศสวีเดน ที่ลงข้อความโจมตีสถาบันเบื้องสูงเป็นเวลานานหลายเดือน
โดยประเด็นเกี่ยวกับเว็บไซต์ดังกล่าวโจทก์มี พ.ต.ท.ญาณพล ยั่งยืน รองผู้บังคับการศูนย์ข้อมูล ข้อสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เบิกความยืนยันว่าจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าเว็บไซต์ manusaya.com เริ่มจัดตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2547 โดยใช้เซิร์ฟเวอร์ผู้ให้บริการของประเทศแคนาดาซึ่งจะต้องชำระค่าบริการปีละประมาณ 200 บาท โดยมีนายอับดุลเล๊าะห์ เจ๊ะยะ ที่เดิมสัญชาติไทยก่อนเปลี่ยนไปใช้สัญชาติสวีเดนซึ่งกลุ่มบุคคลดังกล่าวเป็นเครือข่ายผู้ก่อการร้ายกลุ่มกองโจรพูโล ที่ทำเว็บไซต์พูโลดอตโออาร์จี ซึ่งกลุ่มดังกล่าวมีความประสงค์ในการแบ่งแยกดินแดน ขณะที่ในทางนำสืบของจำเลยที่ 5 ก็กล่าวถึงการกระทำของโจทก์เกี่ยวกับแนวคิดการเปลี่ยนแลงการปกครองและความจงรักภักดีต่อสถาบันเบื้องสูง ไม่ได้กล่าวถึงแนวคิดของโจทก์ต่อการแบ่งแยกดินแดนตามวัตถุประสงค์ของเครือข่ายดังกล่าว ดังนั้น ข้อความที่จำเลยกล่าวอ้างถึงโจทก์จึงเป็นการจงใจทำให้ประชาชนที่รับชมรับฟังและอ่านข้อความจากหนังสือพิมพ์เข้าใจผิด
ส่วนที่จำเลยที่ 5 อ้างว่าโจทก์เป็นบุคคลสาธารณะและเคยกล่าวหาจำเลยที่ 5 ทำลายประชาธิปไตย และดึงสถาบันเบื้องสูงมาเกลือกกลั้วกับการเมือง จำเลยที่ 5 จึงมีสิทธิตอบโต้ด้วยการตั้งคำถามถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันเบื้องสูงของโจทก์ ศาลเห็นว่าแม้โจทก์จะเป็นบุคคลสาธารณะและสามารถกล่าวถึงปูมหลังแต่การกล่าวถึงต้องเป็นการนำข้อเท็จจริงมาแสดงความคิดเห็น การกระทำของจำเลยที่ 5 เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงเรื่องในอดีต ที่โจทก์เคยเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ เมื่อก่อนวันที่ 6 ต.ค. 2519 แต่เมื่อเหตุการณ์สงบโจทก์ก็ได้กลับเข้ามาศึกษาเมื่อปี 2522 ซึ่งหากโจทก์ยังฝักใฝ่พรรคคอมมิวนิสต์ตามที่จำเลยที่ 5 กล่าวอ้าง โจทก์ก็คงดำเนินกิจกรรมการเมืองที่มีระบบเลือกตั้ง
ดังนั้นจึงฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 5 เป็นการติชมด้วยความสุจริตและเป็นธรรม หรือให้คำแนะนำต่อตัวโจทก์ตามที่อุทธรณ์ซึ่งจำเลยที่ 5 รู้อยู่แล้วว่าในฐานะสื่อมวลชน ย่อมทำให้ประชาชนเชื่อในข้อความดังกล่าว จำเลยที่ 5 จึงต้องมีความระมัดระวังตามสมควรเพื่อไม่ให้บุคคลที่ถูกกล่าวถึงได้รับความเสียหาย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 5 มีความผิดนั้นชอบแล้ว แต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 5 ตามมาตรา 326 ฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นด้วย ทั้งที่พิพากษาโทษตามมาตรา 328 ฐานหมิ่นผู้อื่นโดยการโฆษณาด้วยสิ่งบันทึกเสียง และภาพ และสื่อสิ่งพิมพ์ไปแล้วนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่ารุนแรงเกินไป ไม่เหมาะสมกับพฤติการณ์ เพราะเมื่อลงโทษจำเลยที่ 5 ตามมาตรา 328 แล้วก็ไม่จำต้องพิจารณาโทษตามมาตรา 326 อีก จึงพิพากษาแก้โทษนายสนธิ จำเลยที่ 5 เป็นจำคุก 6 เดือน
ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ที่ให้ลงโทษจำเลยอื่นนั้นฟังไม่ขึ้น จพิพากษายืนให้ปรับบริษัท ไทยเดย์ฯ จำเลยที่ 1 จำนวน 200,000 บาท และให้ยกฟ้องจำเลยอื่น ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษา
ต่อมาโจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยอื่นด้วย ขณะที่จำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้พิพากษาลดโทษปรับ และจำเลยที่ 5 ฎีกาขอให้รอการลงโทษ
ศาลฎีกาตรวจสำนวนปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกนายสนธิ จำเลยที่ 5 เป็นเวลา 6 เดือนนั้น ศาลฎีกาเห็นว่ายังไม่เหมาะสม จึงกำหนดโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมกับคดี ส่วนที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 200,000 บาทนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเหมาะสมแล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าสาเหตุที่จำเลยที่ 5 กระทำความผิดในคดีนี้เกิดจากการที่โจทก์ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์กล่าวหาว่าจำเลยที่ 5 กับพวกร่วมกันหมิ่นสถาบันเบื้องสูงและใช้เป็นเครื่องมือในการต่อต้านรัฐบาล ศาลฎีกาเห็นว่ามีเหตุอันควรรอการลงโทษแก่จำเลยที่ 5 เพื่อให้โอกาสกลับตัวต่อไป และเพื่อให้หลาบจำจึงให้ลงโทษปรับด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 5 ศาลฎีกาไม่เห็นด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น ฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 5 ฟังขึ้นบางส่วน พิพากษาแก้เป็นว่าให้ลงโทษ จำคุกจำเลยที่ 5 มีกำหนด 1 ปี และปรับ 200,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์