xs
xsm
sm
md
lg

ติดป้ายว่าเป็นถนนส่วนบุคคลแต่ให้ประชาชนใช้สัญจรมานาน : ถือเป็นทางสาธารณะหรือไม่ ?

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

เรื่องทำนองนี้...เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นและเป็นคำถามหรือข้อสงสัยสำหรับเจ้าของที่ดินที่ได้เปิดให้ชาวบ้านหรือผู้อยู่อาศัยในละแวกเดียวกันใช้เป็นทางผ่านหรือเป็นทางสัญจรได้เป็นเวลานานนับสิบปี
โดยติดป้ายว่าเป็นถนนส่วนบุคคลไว้ เช่นนี้แล้ว...ถนนดังกล่าวจะถือเป็นทางสาธารณะหรือไม่ ?
เป็นประเด็นที่น่าสนใจ ใช่ไหมคะ !

วันนี้ ป.ธรรมศลีญ์ ได้นำคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดในเรื่องดังกล่าวมาบอกเล่าเพื่อ
คลายข้อสงสัยและเพิ่มเติมความรู้เกี่ยวกับทางสาธารณะกันค่ะ

คดีนี้เหตุเกิดจากผู้ฟ้องคดีสองรายคือคุณลุงละม่อมกับคุณป้าละเมียด สองสามีภรรยาซึ่งเป็นเจ้าของอาคารร้านค้า ซึ่งตั้งอยู่หัวมุมสามแยกบนถนนที่เชื่อมต่อกับทางในซอยละมุน โดยลุงละม่อมและภรรยาได้ซื้ออาคารดังกล่าวต่อมาจากนายกิมหงวนซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินซอยละมุนด้วย

ต่อมาลุงละม่อมต้องการปรับปรุงอาคารร้านค้าของตนเองให้สวยงามและใหญ่โตขึ้น จึงปรับปรุงอาคารและวางกองวัสดุก่อสร้างต่างๆ ไว้บริเวณหน้าอาคารของตนเอง และได้ขออนุญาตเจ้าของซอยคือนายกิมหงวนในการขอวางกองวัสดุดังกล่าวแล้ว โดยลุงละม่อมได้สร้างรั้วสังกะสีล้อมกั้นเป็นแนวเขตพื้นที่การก่อสร้างไว้เพื่อความปลอดภัยของผู้สัญจรในระหว่างการก่อสร้างดังกล่าว ซึ่งรั้วที่กั้นได้ล้ำเข้ามาในเขตถนนซอยละมุนมีความกว้าง 2 เมตร ยาว 20 เมตร

เวลาผ่านมาหลายเดือนที่ลุงละม่อมได้ใช้พื้นที่ของถนนซอยละมุนวางวัสดุก่อสร้างและล้อมรั้วกั้นทำแนวเขตก่อสร้างไว้ เป็นเหตุให้ชาวบ้านที่ใช้ซอยดังกล่าวในการสัญจรไปมาได้รับความเดือดร้อนเพราะถนนแคบลง การจราจรติดขัดและลำบากในการขับขี่ยานพาหนะ จึงร้องเรียนไปยังนายกเทศมนตรีเพื่อขอให้แก้ไขเหตุเดือดร้อนในพื้นที่ นายกเทศมนตรีจึงแจ้งให้ลุงละม่อมรื้อถอนรั้วออกจากถนนซอยละมุน แต่ลุงละม่อมไม่ได้รื้อถอน เพราะเห็นว่าที่ดินซอยละมุนเป็นของนายกิมหงวนและนายกิมหงวนได้อนุญาตให้ตนใช้วางกองวัสดุได้

นายกเทศมนตรีจึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้ารื้อถอนรั้วสังกะสีและเรียกเก็บค่ารื้อถอนจากลุงละม่อม (มาตรา 39 ประกอบ มาตรา 46 แห่ง พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535) ลุงละม่อมและป้าละเมียดเห็นว่านายกเทศมนตรีไม่มีอำนาจทำได้เพราะเป็นทางส่วนบุคคลของนายกิมหงวน จึงยื่นฟ้องเทศบาลนครเพื่อขอให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการรื้อถอนรั้วดังกล่าวแก่ตน

ประเด็นพิจารณาคือ ที่ดินบนถนนซอยละมุนถือเป็นถนนและที่สาธารณะ ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 หรือไม่ ? เพราะหากเป็นถนนหรือที่สาธารณะตามกฎหมายดังกล่าว นายกเทศมนตรีย่อมมีอำนาจตามกฎหมายในการสั่งให้รื้อถอนได้

ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาคือ มาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 ที่ได้นิยามคำว่า “ที่สาธารณะ” ว่าหมายรวมถึงถนน และให้ความหมายของคำว่า “ถนน” ว่าหมายรวมถึง ถนนส่วนบุคคลซึ่งเจ้าของยินยอมให้ประชาชนใช้เป็นทางสัญจรได้ และกฎหมายดังกล่าวได้ห้ามมิให้ผู้ใดตั้ง วาง หรือกองวัสดุใดๆ บนถนน เว้นแต่กระทำในบริเวณที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ประกาศกำหนดด้วยความเห็นชอบของเจ้าพนักงานจราจรหรือได้รับอนุญาตเป็นหนังสือ (มาตรา 19 และมาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน)

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏต่อศาลว่าประชาชนที่อยู่อาศัยในบริเวณซอยละมุนและประชาชนทั่วไปต่างก็ได้ใช้ประโยชน์ถนนซอยละมุนในการสัญจรไปมาไม่น้อยกว่า 20 ปี จึงเป็นที่ประจักษ์ว่าประชาชนทั่วไปใช้ถนนซอยดังกล่าวเป็นทางสัญจรไปมาเหมือนถนนสาธารณะสายอื่นๆ และมีการใช้ประโยชน์ติดต่อกันเป็นเวลานานเกินกว่า 10 ปี ในลักษณะที่เจ้าของที่ดินมิได้ขัดขวางหรือห้ามปราม อันแสดงให้เห็นว่าเจ้าของที่ดิน “ได้ยินยอมให้ประชาชนใช้เป็นทางสัญจรได้โดยปริยาย”

แม้เจ้าของที่ดินจะมีการแสดงเจตนาโดยติดป้ายสงวนสิทธิ์ว่าเป็นถนนส่วนบุคคลไว้ ก็ถือเป็นแต่เพียงเพื่อแสดงว่าตนมิได้ทอดทิ้งที่ดินอันจะยังผลเป็นการป้องกันมิให้ถนนดังกล่าวตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามมาตรา 1304 (2) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เท่านั้น แต่ไม่ถือเป็นการขัดขวางหรือห้ามปรามมิให้ประชาชนทั่วไปใช้ถนนดังกล่าวเป็นทางสัญจร ดังนั้นถนนซอยละมุนจึงเป็นถนนส่วนบุคคลซึ่งเจ้าของยินยอมให้ประชาชนใช้เป็นทางสัญจรได้ อันถือเป็น “ถนน” และเป็น “ที่สาธารณะ” ตามนิยามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535

เมื่อลุงละม่อมนำวัสดุก่อสร้างมากองไว้บนถนนซึ่งเป็นผิวจราจรโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ประกอบกับมีการกองวัสดุและทำรั้วกั้นมาเป็นเวลานานกว่า 7 เดือน จนส่งผลกระทบให้เสื่อมความสะดวกในการสัญจร นายกเทศมนตรีจึงมีอำนาจสั่งการให้ลุงละม่อมและป้าละเมียดรื้อถอนรั้วและกองวัสดุที่รุกล้ำถนนซอยละมุนได้

เมื่อลุงละม่อมมิได้ทำการรื้อถอนตามคำสั่ง นายกเทศมนตรีในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงได้แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการรื้อถอนรั้วสังกะสีและขนย้ายกองวัสดุออกไปจากถนน และให้ลุงละม่อมชดใช้ค่าใช้จ่ายในการเข้าดำเนินการตามจริงจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่ถือเป็นการกระทำละเมิดต่อลุงละม่อมและป้าละเมียดแต่อย่างใด ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกฟ้อง (เทียบเคียงจากคดีหมายเลขแดงที่ อ.65/2559)

สรุปได้ว่า... แม้จะเป็นที่ดินส่วนบุคคลแต่หากเจ้าของเปิดให้ประชาชนทั่วไปใช้ประโยชน์ในการสัญจรไปมาได้ตลอดเวลามาเป็นเวลายาวนาน โดยมิได้มีลักษณะของการขัดขวาง ห้ามปราม เช่น การทำที่กั้น
ย่อมถือเป็น “ถนนและที่สาธารณะ” ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 ที่พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดูแลมิให้เกิดการกระทำที่เป็นการทำให้เสื่อมการจราจรและเกิดความเดือดร้อนแก่ผู้ใช้ทางในการสัญจรตามปกติ นอกจากนี้การที่ลุงละม่อมและป้าละเมียดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ยังอาจต้องถูกดำเนินคดีฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และต้องถูกดำเนินคดีตามมาตรา 39 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 อีกด้วย จึงขอฝากเรื่องนี้ไว้เป็นอุทาหรณ์ค่ะ



ป.ธรรมศลีญ์
กำลังโหลดความคิดเห็น