MGR Online - ยธ.รับดูแลและเยียวยาเหยื่อครอบครัวผู้เสียหายคดี “นางไก่ และ “กิมเอ็ง” ต้มตุ๋นพร้อมประสาน พม.เข้าช่วยเหลือเศรษฐินีหลังถูกลูกเลี้ยงหลอกโอนเงิน 20 ล้านบาท
วันนี้ (30 ก.ย.) เวลา 11.00 น. ที่ห้องรับรองกระทรวงยุติธรรม นายสงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ประธานเครือข่ายต่อต้านการบ่อนทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ พร้อมผู้เสียหายจากคดีนางไก่ หรือนางมณตา หยกรัตนกาญ ประกอบด้วย น.ส.ประภาวรรณ ใจกล้า นายชูเกียติ ใจกล้า นางประภาพร ทองเฟื้อง นางสุกัญญา ศิริม่วง และ น.ส.กาบแก้ว สัญชาติลาว เดินทางเข้าพบนายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และโฆษกกระทรวงยุติธรรม เพื่อติดตามความช่วยเหลือหลังถูกนางไก่แจ้งความดำเนินคดี รวมทั้งขอความช่วยเหลือกรณีเศรษฐินีถูกลูกเลี้ยงหลอกทำนิติกรรมอย่างไม่เป็นธรรม
นายสงกานต์เปิดเผยว่า วันนี้มาร้องเรียนต่อกระทรวงยุติธรรมเพื่อขอความช่วยเหลือ 3 เรื่อง คือ 1. คดีนางไก่ ที่ยังไม่ได้ถูกดำเนินคดีอย่างจริงจังตามที่ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์กล่าวโทษเอาไว้ไม่ครบทุกคดี 2. คดีนางกิมเอ็ง แซ่เตียว พี่สาวนางไก่ มีผู้เสียหายตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก จึงอยากมาใช้สิทธิดำเนินคดีต่อผู้ละเมิดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นอีก และ 3. กรณีเศรษฐินี อายุ 82 ปี ย่านฝั่งธนบุรี หลังได้รับการร้องเรียนว่าถูก 3 ลูกเลี้ยงสมคบกับพี่เลี้ยงอีก 2 คน บังคับให้กินยากล่อมประสาทเกินขนาดและทำนิติกรรมอย่างไม่ถูกต้อง มีการโอนเงินกว่า 20 ล้านบาท พร้อมทรัพย์สินอื่นๆ ตนเห็นว่าอาจเกิดอันตรายต่อเศรษฐินี จึงมาแจ้งเรื่องเอาไว้
ด้านนายธวัชชัยกล่าวว่า กองทุนยุติธรรมได้ให้ความช่วยเหลืออนุมัติเงินปล่อยตัวชั่วคราวและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดำเนินคดีกรณีนางไก่คนละ 1 แสนบาท จำนวน 5 คน ได้แก่ น.ส.ประภาวรรณ ใจกล้า, นายชูเกียติ ใจกล้า, นางประภาพร ทองเฟื้อง, นางสุกัญญา ศิริม่วง หลังพนักงานสอบสวนมีความเห็นไม่สั่งฟ้องและเตรียมนำเงินกลับคืนกองทุน ส่วน น.ส.กาบแก้ว สัญชาติลาว ได้ประกันตัวในชั้นสอบสวนเพื่อต่อสู้ทางคดีต่อไป ทั้งนี้ การปล่อยตัวชั่วคราวผู้เสียหายซึ่งส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด เช่น จ.ลพบุรี จ.นครพนม อาจทำให้มีภาระเดินทางไกลจึงเตรียมโอนเรื่องให้ยุติธรรมจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ อย่างไรก็ตาม หากคดียุติกรณีผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจะได้รับเงินชดเชยค่าเสียหาย ส่วนรายอื่นๆ สามารถมาร้องเรียนได้ที่กระทรวงยุติธรรมเช่นกัน
“สำหรับกรณีเศรษฐินีอายุ 82 ปี กระทรวงยุติธรรมได้ประสานงานไปยังกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งได้ส่งทีมศูนย์ช่วยเหลือสังคม ศูนย์ปฏิบัติการคุ้มครองบุคคลในครอบครัวกรุงเทพฯ และกรมกิจการผู้สูงผู้สูงอายุ เพื่อมารับเรื่องและสานต่อไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป พร้อมทั้งได้ประสานงานนักจิตวิทยา กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เข้าร่วมรับฟังด้วย ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 มาตรา 11 (8) ผู้สูงอายุมีสิทธิได้รับการคุ้มครอง การส่งเสริมและการสนับสนุนด้านต่างๆ โดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้สูงอายุซึ่งได้รับอันตรายจากการถูกทารุณกรรมหรือถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือถูกทอดทิ้ง และ (9) การให้คำแนะนำปรึกษา ดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องในทางคดี หรือในทางการแก้ไขปัญหาครอบครัว ซึ่งกระทรวงยุติธรรมรับเรื่องในฐานะหน่วยงานของรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องพร้อมตรวจสอบข้อเท็จจริงกับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลและให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย หากมีผลความคืบหน้าออกมาอย่างไรจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง” นายธวัชชัยกล่าว